posttoday

หน้าเก่านั่งกรรมการปฏิรูป พายเรือวนในอ่าง

17 สิงหาคม 2560

เสียงตอบรับหลังเปิดรายชื่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศแต่ละด้าน ดูยากจะฝากความหวังกับภารกิจสุดหิน

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เริ่มต้นการปฏิรูปเฟส 3 อย่างเป็นทางการกับการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 คณะ ล็อตใหญ่ 120 คน จากทั้งหมด 165 คน เหลือค้างรอการแต่งตั้ง 45 คน ที่จะมารับไม้ต่อเข็นภารกิจการปฏิรูปประเทศให้เดินหน้าต่อไปจนถึงจุดหมายปลายทาง

ทว่าเสียงตอบรับหลังเปิดรายชื่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศแต่ละด้าน ดูยากจะฝากความหวังกับภารกิจสุดหินที่จะต้องขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมในช่วงเวลานับจากนี้ต่อไป

เนื่องจากรายชื่อคณะกรรมการส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นบุคคลที่เคยรับหน้าที่ปฏิรูปหรือเกี่ยวข้องกับการปฏิรูป มีตำแหน่งหน้าที่อยู่ในแม่น้ำสายต่างๆ ภายใต้การบริหารงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ช่วงเวลาที่ผ่านมา

ไม่ต่างจาก “เหล้าเก่าในขวดใหม่” แค่สลับสับเปลี่ยนหน้าที่ไปจากเดิม ไปสู่ตำแหน่งใหม่ พร้อมเสริมทีมดึงหน้าใหม่บางคนเข้ามาร่วมเป็นคณะทำงาน

อาทิ ด้านการเมืองที่มี เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นประธาน ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ อดีตประธานสภาพัฒนาการเมือง รวี ประจวบเหมาะ อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ เป็นเลขานุการ วันชัย สอนศิริ อดีตสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)

ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน  มี กฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย บัณฑูร ล่ำซำ กรรมการในคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ พล.อ.อภิชาต เพ็ญกิตติ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)

ด้านกฎหมาย บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นประธาน คำนูณ สิทธิสมาน อดีต สปท. สุขุมพงศ์ โง่นคำ อดีต รมต.ประจำสำนักนายกฯ พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ

ด้านกระบวนการยุติธรรม อัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นประธาน คุณหญิง พญ.พรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน อดีต สปท. ตระกูล วินิจนัยภาค อดีตอัยการสูงสุด สงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ เป็นกรรมการ

ด้านเศรษฐกิจ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นประธาน ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีต รมช.คลัง​ อิสระ ว่องกุศลกิจ อดีตประธานกรรมการหอการค้าไทย กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ เป็นกรรมการ

ด้านพลังงาน พรชัย รุจิประภา อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เสมอใจ ศุขสุเมฆ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ​มนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการด้านพลังงาน ดุสิต เครืองาม อดีต สปท. ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีต รมว.พลังงาน พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช อดีต สปท.

ด้านหนึ่ง ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในแต่ละด้าน เพื่อเข้ามารับหน้าที่จัดวางแผนการปฏิรูปประเทศ และขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติได้จริง

การดึงคนที่เคยทำงานด้านนี้มาตั้งแต่ต้นไม่ว่าจะเป็นใน สปท. หรือสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มารับตำแหน่งย่อมอาจช่วยให้งานเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร้รอยต่อ

แต่ทว่า ผลงานการปฏิรูปของรัฐบาล คสช.ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ดูจะยังเดินหน้าไปสู่รูปธรรมได้น้อยจนแทบไม่เห็นผลงานกลายเป็นจุดอ่อนให้ถูกโจมตี

​โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเหตุผลของการเข้ามารัฐประหารของ คสช. ที่ระบุว่าต้องการมาเดินหน้าปฏิรูปประเทศให้ก้าวพ้นจากวังวนปัญหา แต่เวลาผ่านไปหลายอย่างที่สังคมคาดหวังกลับไม่มีผลงานให้เห็น

กลไกการทำงานตั้งแต่ยุค สปช. ที่เคยหมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นบันไดขั้นแรกไปสู่การปฏิรูป กลับกลายเป็นเพียงแค่คณะทำงานที่ศึกษาและผลิตข้อเสนอแนวทางปฏิบัติ

กลายเป็น ยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศ 37 ประเด็น และ 6 วาระพัฒนา ที่ เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ส่งให้ถึงมือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ แต่กลับไม่เห็นการขยับหรือนำแนวทางดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ

เรื่อยมาจนถึง สปท.ซึ่งถูกวางตัวมารับไม้ต่อนำข้อเสนอของ สปช.ไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ แต่สุดท้ายก็พ้นตำแหน่งไป​ด้วยการส่งรายงานให้รัฐบาล จำนวน 188 เรื่อง ส่วนที่รัฐบาลเร่งผลักดันกฎหมายเพื่อกลไกปฏิรูปประเทศ นับถึงเดือน ต.ค. 2559 จำนวน 183 ฉบับ และกำลังเร่งผลักดันอีก 104 ฉบับ

ด้วยเหตุผลคำอธิบายว่าทั้ง สปช. และ สปท. ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่เข้าไปขับเคลื่อนหรือลงมือปฏิบัติผลักดันการปฏิรูปด้วยตัวเอง จำต้องอาศัยกลไกทั้งฝ่ายบริหาร อย่างรัฐบาล และฝ่ายนิติบัญญัติอย่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติช่วยดำเนินการ

เมื่ออำนาจในการขับเคลื่อนปฏิรูปที่แท้จริงอยู่ที่รัฐบาล คสช. กลไกอื่นๆ จึงเป็นเพียงแค่ตัวประกอบที่ไม่อาจทำอะไรได้มากมาย หากรัฐบาลไม่ขยับ

สอดรับกับคำพูดของ นิกร จำนง อดีต สปท. ที่ระบุว่า การตั้ง สปท.ขึ้นมาเป็นหมากทางการเมืองของรัฐบาล เป็นหนังหน้าไฟ เป็นกันชน และโยนหินถามทาง

ไม่แปลกที่เส้นทางการปฏิรูปจนถึงวันนี้ยังดูเหมือนจะยังพายเรืออยู่ในอ่างไม่อาจไปสู่เป้าหมายได้สักที ​