posttoday

เมินปลดล็อกพรรค คุมเข้มยาวถึงเลือกตั้ง

16 สิงหาคม 2560

ถ้าปล่อยให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ คสช.ย่อมต้องเสียแต้มไปให้กับพรรคการเมือง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ยิ่งใกล้วันที่ 25 ส.ค.อันเป็นวันตัดสินอนาคต “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีจำนำข้าวมากเท่าไร การเมืองยิ่งดูจะทวีความเข้มข้นมากขึ้นเท่านั้น

สถานการณ์ใกล้วันพิพากษาของยิ่งลักษณ์เมื่อเทียบกับ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ผู้พี่ที่เป็นจำเลยในคดีที่ดินรัชดาเมื่อหลายปีก่อน ต้องยอมรับว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งชี้ชะตาทักษิณเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว ไม่ได้มีบรรยากาศที่ระอุมากนัก เนื่องจากครั้งนั้นทักษิณไม่ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยตัวเอง หรือเรียกง่ายๆ ว่า “หนี” ทำให้ศาลฎีกาฯ ต้องอ่านคำพิพากษาลับหลัง ซึ่งผลออกมา คือ อดีตนายกฯ ทักษิณต้องติดคุก จากวันนั้นจนถึงวันนี้ทักษิณก็ยังไม่ได้กลับเมืองไทยอีกเลย

ต่างกับ ณ วันนี้ของ “ยิ่งลักษณ์” ซึ่งตัดสินใจแล้วว่าจะไม่หนีหน้าหายไปไหน จะเดินทางมาฟังคำพิพากษาด้วยตัวเอง สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ยิ่งลักษณ์ต้องเผชิญหน้าในวันที่ 25 ส.ค. เพราะถูกขึ้นบัญชีของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ห้ามไม่ให้เดินทางไปต่างประเทศ

อย่าลืมว่าเดิมพันของยิ่งลักษณ์ คือ เสรีภาพ เพราะหากศาลฎีกาฯ พิพากษาให้จำคุกไม่ว่าจะกี่วันกี่เดือนหรือกี่ปี จะมีผลให้ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่าเป็นอดีตนายกฯ ที่ต้องสวมเครื่องแบบนักโทษและใช้ชีวิตในเรือนจำ

ด้วยเหตุที่มีเดิมพันสูงขนาดนี้เอง กลุ่มมวลชนของพรรคเพื่อไทยและยิ่งลักษณ์จึงต่างออกแรงแข็งขันเพื่อมาให้กำลังใจเจ้านายอันเป็นที่รัก

คสช.เองก็รู้ทันเกมนี้ดี จึงได้ออกมาสกัดดาวรุ่งเพื่อไม่ให้ฝ่ายการเมืองสามารถเคลื่อนไหวได้ในเวลานี้

ความวิตกของ คสช.ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมวลชนของยิ่งลักษณ์ ส่งผลลามมาถึงพรรคการเมืองทั้งหมดด้วยที่ คสช.ยังไม่ยอมให้มีการทำกิจกรรมทางการเมือง แม้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และพรรคการเมือง ซึ่งเป็นร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งจะผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้วก็ตาม

“ยังจะฟังข้อเสนอจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ในฐานะดูแลงานด้านความมั่นคง ที่มีการสรุปสถานการณ์ด้านการข่าวทุกสัปดาห์ และได้มีการประเมินสถานการณ์ไปแล้ว วันนี้ได้บอกแล้วว่าอะไรก็ตามผมขอ งานพระราชพิธีเสร็จหรือยัง อย่าให้มันวุ่นวายนักเลย” ท่าทีล่าสุดของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.

เป็นการย้ำอีกครั้งว่าหัวเด็ดตีนขาดอย่างไรก็ยังไม่ยอมให้ฝ่ายการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองได้

หากมองท่าทีของ คสช.โดยรวมต่อเรื่องนี้แล้ว ปฏิเสธไม่ได้แฝงมีการนัยอยู่บางประการ

กล่าวคือ ไม่มีเหตุผลเลยที่ คสช.จะต้องออกมาเล่นบทดุและเข้มเข้าใส่กลุ่มมวลชนของพรรคเพื่อไทยในเวลานี้ เนื่องจากพลังของกลุ่มมวลชนเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะต่อกรกับ คสช.ในฐานะผู้กุมอำนาจทั้งหมดในเวลานี้

หากจะมีเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ คสช.ต้องถือไม้มาไล่หวด คงหนีไม่พ้นการพยายามเขียนภาพให้สังคมเห็นว่ากลุ่มมวลชนเสื้อแดงกำลังสร้างเงื่อนไขแห่งความขัดแย้งอีกครั้ง เพื่อนำไปสู่การทำลายความน่าเชื่อถือของพรรคเพื่อไทย

เช่นเดียวกับ การไม่ยอมไขกุญแจปลดล็อกให้กับพรรคการเมืองเพื่อทำกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ คสช.ยังไม่ยอม แม้จะมีเสียงเรียกร้องกดดันแค่ไหนก็ตาม

เมื่อมองไปยังสถานะของพรรคการเมือง ณ ตอนนี้ ก็เป็นอีกกลุ่มการเมืองหนึ่งที่อยู่ในช่วงไร้เรี่ยวแรงอย่างชัดเจน ขาดเวทีการแสดงความคิดเห็นหรือขับเคลื่อนนโยบายของพรรคการเมือง จะมีเพียงแต่การให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในประเด็นสาธารณะเท่านั้น ซึ่งไม่ได้มีผลต่อการเมืองเท่าไรนัก

ด้วยสภาพของพรรคการเมืองที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ย่อมไม่มีพลังที่จะไปงัดข้อกับ คสช.

แต่การที่ คสช.สั่งห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมนั้นเป็นเพราะไม่ต้องการให้พรรคการเมืองออกมามีบทบาทในช่วงที่ คสช.พยายามแสวงหาและเพิ่มความชอบธรรมให้กับตัวเอง

การทำงานของ คสช.และคณะรัฐมนตรีในด้านการบริหารราชการแผ่นดินกำลังถูกตั้งคำถามอย่างหนักในเรื่องความมีประสิทธิภาพ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งสภาพที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบันคงเป็นคำตอบได้อย่างดีว่าผลงานของรัฐบาลเป็นอย่างไร

ความผิดพลาดและความล้มเหลวที่เกิดขึ้นจากการทำงานของ คสช. ยิ่งเป็นหัวเชื้อให้ประชาชนเพรียกหานักการเมืองมากขึ้น เพราะอย่างน้อยคนส่วนใหญ่ก็ยังมองว่านักการเมืองฟังเสียงประชาชนมากกว่าทหาร

สภาพแบบนี้ คสช.เองก็รู้ดี ถ้าปล่อยให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ คสช.ย่อมต้องเสียแต้มไปให้กับพรรคการเมือง เนื่องจากเมื่อพรรคการเมืองสามารถประชุมได้ หมายความว่า พรรคการเมืองจะทยอยประกาศนโยบายทางการเมือง อันเป็นการหาเสียงก่อนการประกาศเลือกตั้ง

นโยบายของพรรคการเมืองที่ออกมาย่อมก่อให้เกิดการเปรียบเทียบกับนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

ด้วยเหตุผลของเรื่องทั้งหมดนี้เองที่ทำให้ คสช.จึงต้องไม่ยอมให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมการเมือง เพราะหากปล่อยเสือเข้าป่าแล้ว เสือตัวที่ปล่อยอาจย้อนมากัดตัวเองได้