posttoday

ยื่นศาลรธน.อุ้มผู้ตรวจฯ สนช.สร้างเกราะกำบัง

14 สิงหาคม 2560

การยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญของ สนช.ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสร้างความชอบธรรมให้กับ สนช.ในระยะยาว

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เวลานี้มีความเคลื่อนไหวแปลกๆ ที่น่าสนใจเกิดขึ้นมา ภายหลังสมาชิก สนช.จำนวน 34 คน นำโดย “นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์” ยื่นคำร้องต่อ “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธาน สนช. เพื่อส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน มีบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

ประเด็นที่มีการยื่นมายังประธาน สนช. คือ การกำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินชุดปัจจุบันที่ดำรงตำแหน่งมาก่อนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินฉบับใหม่ประกาศใช้ สามารถอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้จนกว่าจะครบวาระ

บทบัญญัติของร่างกฎหมายผู้ตรวจการแผ่นดินดังกล่าว หมายความว่า ไม่มีการเซตซีโร่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งไม่เหมือนกับกรณีของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ สนช.ได้ลงมติให้ กกต.ชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่งทันทีที่ร่างกฎหมาย กกต.ประกาศใช้

ต้องยอมรับความเคลื่อนไหวของสมาชิก สนช.ทั้ง 34 คนมีความน่าสงสัยอยู่บางประการ

กล่าวคือ ในประเด็นเกี่ยวกับสถานะของผู้ตรวจการแผ่นดินชุดปัจจุบันนั้น เป็นประเด็นที่ที่ประชุมสนช.ได้อภิปรายถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ถึงขั้นมีการสั่งพักประชุมเพื่อปรับปรุงเนื้อหาดังกล่าวกลางที่ประชุม ภายหลังสมาชิก สนช.ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาที่คณะกรรมาธิการวิสามัญของ สนช.ได้ทำการแก้ไขให้ผู้ตรวจการแผ่นดินชุดปัจจุบันที่มีคุณสมบัติไม่ถึงขั้นที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำหนดต้องพ้นจากตำแหน่ง

แรงกดดันของสมาชิก สนช. ส่งผลให้คณะกรรมาธิการวิสามัญยอมถอยและแก้ไขเนื้อหาในรอบสุดท้ายเพื่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดินชุดปัจจุบันทำหน้าที่ต่อไปได้จนครบวาระ และที่ประชุม สนช.ก็โหวตให้ความเห็นชอบกับเนื้อหาที่มีการแก้ไขในขั้นตอนสุดท้าย

ในเมื่อมีการแก้ไขเนื้อหาจนเป็นที่น่าพอใจแล้ว แต่ทำไมถึงปรากฏความเคลื่อนไหวของสมาชิก สนช.ดังกล่าวในการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความการไม่เซตซีโร่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ สนช.ถูกกดดันให้ยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตีความว่าร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.ที่มีการเซตซีโร่ กกต.นั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ สนช.ก็เพิกเฉยต่อกรณีของ กกต.

ในกรณีของ กกต.ปฏิเสธไม่ได้ว่า กกต.ชุดปัจจุบันเป็นหนึ่งในองค์กรที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ค่อยปลาบปลื้มมากนัก

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ กกต.ชุดนี้ไม่ได้มาในยุคของ คสช.ต่างจากองค์กรอิสระอื่นๆ ที่เข้าสู่ตำแหน่งในยุคของ คสช. ประกอบกับในอนาคตจะต้องจัดการเลือกตั้ง ดังนั้น คสช.ต้องการได้คนที่ไว้ใจได้มาทำหน้าที่ควบคุมการเลือกตั้ง เพื่อสู้กับพวกเสือ สิงห์ กระทิง แรด อย่างพรรคการเมือง จึงไม่แปลกเมื่อมีช่องพอที่จะให้เก้าอี้ว่างลงได้ก็ต้องลงมือทันที แม้จะต้องแลกกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเลือกปฏิบัติของ สนช.

อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์ถึงความเคลื่อนไหวของ สนช. 34 คนนี้ ต้องยอมรับว่ามีชั้นเชิงและเบื้องหลังพอสมควร

นับตั้งแต่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของ สนช.ตามมาด้วยการเซตซีโร่ กกต.ส่งผลให้ สนช.ต้องเผชิญกับแรงเสียดทานพอสมควร จนทำให้ สนช.กลายเป็นหมู่บ้านกระสุนตกอยู่พักใหญ่

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงอาจมองได้ด้านหนึ่งว่าการยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญของ สนช.ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสร้างความชอบธรรมให้กับ สนช.ในระยะยาว

เป้าหมายของ สนช.ในการเข้าชื่อยื่นคำร้อง คือ ต้องการอาศัยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นกลีบกุหลาบสำหรับโรยเส้นทางในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับองค์กรอิสระที่เหลือและศาลรัฐธรรมนูญในอนาคต

โดยหากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การกระทำดังกล่าวไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ย่อมจะนำมาซึ่งเสียงเฮลั่นสภา อันหมายความว่าการ ที่สนช.เซตซีโร่ กกต. แต่ไม่เซตซีโร่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่ได้เป็นการกระทำที่เลือกปฏิบัติตามที่ กกต.กล่าวหา เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาไม่ต่างอะไรกับรองรับการกระทำของ สนช.ที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

แนวทางนี้จะนำมาซึ่งประโยชน์ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือแม้แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก่อนหน้านี้ล้วนอยู่ในข่ายถูกเซตซีโร่ทั้งสิ้น

สนช.ย่อมสามารถใช้บรรทัดฐานของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเพื่อแก้เนื้อหาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญให้กรรมการองค์กรอิสระที่เหลือและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางที่มีคุณสมบัติไม่ตรงกับกฎหมายฉบับใหม่สามารถทำงานต่อไปได้ ไม่ถูกเซตซีโร่เหมือนกับ กกต.

ขณะที่การทำเช่นนั้น สนช.เองก็ต้องไม่เป็นหมู่บ้านกระสุนตกอีกต่อไป เพราะสามารถใช้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมาหักล้างกับฝ่ายที่กล่าวหา สนช.ได้ เรียกได้ว่าวิน-วินกันทุกฝ่าย เพียงแต่ต้องอดใจรอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาเท่านั้น

แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น สนช.ก็ต้องตกอยู่ในสถานการณ์หมู่บ้านกระสุนตกอีกรอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต้องตกเป็นผู้ต้องหาว่าเลือกปฏิบัติและสองมาตรฐานอีกครั้ง ซึ่งอาจส่งผลไปถึงสถานะและความชอบธรรมทางการเมืองของ สนช.ด้วย

ด้วยเหตุนี้เองจึงอย่าได้แปลกใจว่า ทำไมบรรดาบิ๊กๆ ใน สนช.ทั้งหลาย ถึงได้ต่างออกมาสนับสนุนการดำเนินการของสมาชิก สนช.ทั้ง 34 คน แม้ว่าการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญจะดูเหมือนเป็นการขัดขาและสร้างความปวดหัวให้แก่กันก็ตาม