posttoday

ม.44 ไม่ช่วยปฏิรูป รัฐบาลต้องกล้าทุบโต๊ะ

14 สิงหาคม 2560

เวลานี้ รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พยายามยกเครื่องกฎหมายกันขนานใหญ่ เพราะเป็นเครื่องมือทางอำนาจ

โดย...ปริญญา ชูเลขา

เวลานี้ รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พยายามยกเครื่องกฎหมายกันขนานใหญ่ เพราะเป็นเครื่องมือทางอำนาจอันสำคัญของภาครัฐในการปฏิรูปประเทศ ดังนั้นประชาชนจึงคาดหวังและเชื่อว่าการทำงานของ คณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อกำกับการปฏิรูปกฎหมาย (ทปก.) ที่มี “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” เป็นประธาน จะตอบโจทย์ของประเทศได้

หนึ่งในทีมงานที่ขับเคลื่อน คือ บรรเจิด สิงคะเนติ กรรมการ ทปก. เล่าถึงภารกิจครั้งสำคัญว่า ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจถึงอำนาจหน้าที่ของ ทปก. คือ เราเข้ามาเพื่อกำกับและติดตามกระบวนการปฏิรูปกฎหมายของรัฐบาลทั้งหมด โดยแบ่งการทำงานเป็นในรูปแบบของคณะอนุกรรมการจำนวน 4 ชุด ดังนี้ 1.คณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและดำเนินธุรกิจของประชาชน อาทิ การขออนุญาต อนุมัติต่างๆ สิ่งสำคัญเพื่อนำไปสู่การปฏิรูประบบราชการในการให้บริการแก่ภาคธุรกิจ

2.คณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมาย ที่สร้างภาระแก่ประชาชนเกินความจำเป็น จะเน้นเชื่อมโยงการทำงานกับศูนย์ดำรงธรรมที่รับเรื่องราวร้องเรียนอยู่ทั่วประเทศ เพื่อวิเคราะห์ว่ามีกฎหมายอะไรบ้างที่สร้างภาระแก่ประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อย อาทิ วินมอเตอร์ไซค์

3.คณะอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามกฎหมายให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ โดยจะนำข้อเสนอของทั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มาพิจารณา เช่น กฎหมาย 7 ชั่วโคตร หรือร่างกฎหมายต่อต้านการทุจริตที่ล่าสุดได้เร่งจัดทำข้อเสนอด้านกฎหมายให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เสนอกฎหมายให้มีกองทุนสนับสนุนการทำงานภาคประชาชน ที่เข้ามามีส่วนร่วมแจ้งเบาะแสและปราบปรามการทุจริต และคุ้มครองพยาน

4.คณะอนุกรรมการพิจารณาเสนอกฎหมายที่ต้องจัดทำใหม่ อาทิ ร่าง พ.ร.บ.เกษตรยั่งยืน หรือร่าง พ.ร.บ.การจำกัดการใช้สารเคมีภาคเกษตร หรือกฎหมายป่าไม้และที่ดิน เป็นต้น

บรรเจิด กล่าวว่า ประเด็นที่จะทำให้การปฏิรูปกฎหมายสำเร็จ คือ ฝ่ายการเมืองต้องกล้าทุบโต๊ะ หมายความว่า นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องวางเป้าหมายในการทำงาน เช่น ลดกฎหมายเก่าที่ล้าสมัย และสร้างกฎหมายใหม่ที่ดีมีคุณภาพ เพราะหากไปใช้รูปแบบเดิม อย่างการไปให้รัฐบาลแล้วไปหารือกับภาคราชการ โอกาสจะประสบความสำเร็จเป็นไปได้ยาก โดยจะเจอปัญหาแบบเดิมๆ เพราะภาครัฐห่วงอำนาจตัวเอง

กรรมการ ทปก. ระบุว่า การแก้ปัญหาการเมืองเกือบทุกเรื่องที่ผ่านมาอย่างการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น จะใช้วิธีการตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมา อาทิ ป.ป.ช. ป.ป.ท. ดีเอสไอ แต่ไม่เคยแก้ปัญหาที่รากเหง้าของระบบ หรือโครงสร้างของกระทรวง ทบวง กรม ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐมีเอี่ยวการทุจริต

“กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงภายในกลับไม่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพในการลงโทษวินัยร้ายแรง แต่กลับไปพึ่งพากระบวนการจากภายนอกซึ่งใช้เวลายาวนานนั้นเพราะภาครัฐไม่อาจจัดการกับระบบหลักของตัวเองได้เลย” บรรเจิด บอกเล่าถึงสภาพปัญหา

บรรเจิด กล่าวว่า สำหรับการใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 44 เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือเฉพาะเรื่อง ไม่ได้เห็นความเป็นรูปธรรมในการปฏิรูปเชิงโครงสร้างมากนัก แต่ก็มีกฎหมายฉบับหนึ่งที่น่าจะทำได้ หากรัฐบาลตั้งใจจริง คือ การปฏิรูปตำรวจ

“หัวใจการปฏิรูปตำรวจ คือ การแยกอำนาจการสั่งฟ้องคดีอาญา หรือระบบงานสอบสวนออกจากตำรวจ เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นต้นทางกระบวนการยุติธรรม อำนาจในการแจ้งความว่า ผู้ใดกระทำผิดคดีอาญา ย่อมต้องถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ และถือเป็นอำนาจที่ล่อแหลมสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์หรือโทษได้” บรรเจิด ระบุ

บรรเจิด ขยายความอีกว่า อย่างคดีขับรถหรูพุ่งชนตำรวจตายคาเครื่องแบบ แต่ตำรวจไม่สั่งฟ้อง อยากถามว่าเป็นเพราะอะไร ดังนั้นการสั่งฟ้องหรือไม่สั่งฟ้อง ควรมีระบบถ่วงดุลอำนาจและตรวจสอบ คือ ให้อัยการเข้ามาร่วมในกระบวนการสืบพยานหลักฐาน เรื่องนี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยตรง ยิ่งถ้าตำรวจอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของฝ่ายการเมือง ย่อมอาจต้องเป็นเครื่องมือในการทำลายคู่แข่งทางการเมืองได้

“วันนี้เราต้องยอมรับว่ารัฐบาลปฏิวัติมีข้อจำกัดน้อยกว่ารัฐบาลเลือกตั้ง เพราะรัฐบาลทหารลากรถถังออกมายึดอำนาจ ไม่ใช่รัฐบาลเลือกตั้งได้รับเงินสนับสนุนจากนายทุน จึงอยากเห็นการดำเนินการ” บรรเจิด ย้ำทิ้งท้าย