posttoday

ชำแหละร่างกม.เลือกตั้ง ปฏิรูปการหาเสียง

10 สิงหาคม 2560

ถนนการเมืองเวลานี้มุ่งหน้ามาที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ภายหลัง กรธ.ได้กำหนดหลักการในการจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. โดยมีถึง 39 ประเด็น

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ถนนการเมืองเวลานี้มุ่งหน้ามาที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ภายหลัง กรธ.ได้กำหนดหลักการในการจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. โดยมีถึง 39 ประเด็น อันเป็นที่มาของฝ่ายการเมืองที่ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าร่างกฎหมายดังกล่าวกำลังจะเป็นต้นเหตุของการทำลายพรรคการเมืองครั้งใหญ่

สำหรับ 39 ประเด็นที่ กรธ.กำหนดไว้เป็นหลักการเพื่อเป็นโครงสร้างของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.นั้นมีถึง 10 ประเด็น ที่ กรธ.ได้วางเอาไว้ที่อาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงขององคาพยพเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งใหญ่

1.การกำหนดหมายเลขผู้สมัคร สส. กรธ.เห็นควรให้แต่ละเขตกำหนดเลขผู้สมัครเอง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต โดยเดิมทีถ้าพรรคการเมืองจับสลากได้หมายเลขใดก็จะใช้หมายเลขนั้นหาเสียงทั่วประเทศ แต่เนื่องจากระบบการเลือกตั้งที่ กรธ.นั้นมีเพียงการเลือกตั้ง สส.ระบบแบ่งเขต ทำให้กรธ.เห็นว่าไม่จำเป็นต้องใช้ระบบเบอร์เดียวทั่วประเทศแต่อย่างใด จึงควรให้ผู้สมัคร สส.แต่ละเขตเลือกตั้งจับสลากหมายเลขผู้สมัครเป็นรายเขตแทน

2.การนับคะแนนเลือกตั้ง กรธ.สรุปว่าให้นับคะแนน ณ หน่วยเลือกตั้ง และให้ส่งคะแนนไปรวมกับที่ส่วนกลาง เพราะจะทำให้มีการตรวจสอบได้ง่าย อีกทั้งจะสอดคล้องกับหลักการในร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน

3.การเสียสิทธิของผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง กรธ.ยังคงไว้ตามหลักการเดิม เช่น การเสียสิทธิทางการเมือง ทั้งการไม่มีสิทธิสมัครตำแหน่งทางการเมือง หรือการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย แต่ กรธ.ได้เพิ่มเงื่อนไขเข้าไปอีก คือผู้ที่นอนหลับทับสิทธิ์จะเสียสิทธิดังกล่าวเป็นเวลา 2 ปี และถ้าเป็นกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคนใดไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนน จะมีผลให้ต้องพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองด้วย

4.การเปิดเผยหมายเลขบัตรประชาชนของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เดิมทีเวลาที่มีการประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะมีการเปิดเผยเลขบัตรประจำตัวประชาชนจำนวน 13 หลักด้วย ทำให้เป็นที่มาของการก่ออาชญากรรมต่างๆ กรธ.จึงเห็นว่าไม่ควรเปิดเผยหมายเลขดังกล่าว เพียงแต่เปิดเผยเฉพาะชื่อและนามสกุลของผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็เพียงพอต่อการยืนยันการเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งของประชาชน

5.การแสดงหลักฐานการสมัคร สส. กรธ.เห็นว่านอกจากหลักฐานที่เป็นการยืนยันตัวตนและการศึกษาแล้วควรมีหลักฐานที่สำคัญเพิ่มเติมด้วย คือหลักฐานการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาย้อนหลังเป็นเวลา 3 ปี

6.การกำหนดค่าสมัครเลือกตั้ง สส. เสียค่าธรรมเนียมคนละ 1 หมื่นบาท แต่จะได้คืนครึ่งหนึ่งหากได้รับคะแนนเสียงเกิน 5% ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ทั้งนี้ การยื่นสมัครต้องยื่นผ่านผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขต แต่หากมีเหตุจำเป็นให้ยื่นสมัครผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้

7.การหาเสียงผ่านทางสื่อออนไลน์กรธ.เห็นด้วยกับการให้ผู้สมัครสามารถหาเสียงผ่านช่องทางดังกล่าวได้ แต่มีเงื่อนไขสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ 1.จะนับรวมเป็นค่าใช้จ่ายของผู้สมัคร สส.ในการหาเสียงด้วย 2.ต้องแจ้งมายัง กกต.ก่อน และ 3.ในช่วง 3 วันสุดท้ายก่อนการลงคะแนนเลือกตั้ง ผู้สมัคร สส.ห้ามมีการนำเสนอเนื้อหาใหม่

ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการที่ว่า นโยบายการหาเสียงของพรรคการเมืองจะต้องผ่านการตรวจสอบความเป็นไปได้ในการดำเนินนโยบาย แต่ถึงกระนั้น กรธ.ไม่ได้ห้ามผู้สมัคร สส.ในกรณีที่จะมีการโพสต์เนื้อหาเดิมที่เคยนำเสนอไปแล้ว

8.ค่าใช้จ่ายสำหรับหาเสียงเลือกตั้ง กรธ.วางหลักการให้ค่าใช้จ่ายต้องครอบคลุมไปถึงการหาเสียงล่วงหน้าด้วย อันเป็นช่วงเวลาก่อนที่จะมีการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง จากเดิมที่การนับค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะเริ่มเมื่อมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเป็นต้นไป

9.การเลือกตั้งล่วงหน้าและการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร กรธ.เห็นควรให้ยังคงกระบวนการเลือกตั้งที่ว่านั้นไว้ตามเดิม เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชนคนไทยที่อยู่ในและนอกราชอาณาจักร

10.การอภิปรายของพรรคการเมือง หรือการดีเบต กรธ.ยังคงเห็นถึงความจำเป็นที่ควรให้มีการเปิดเวทีดีเบตเอาไว้ เพื่อเป็นพื้นที่เผยแพร่และวิพากษ์นโยบายพรรคการเมือง และให้ประชาชนมีโอกาสได้เข้าถึงข้อมูลของพรรคการเมือง แต่ กรธ.คิดว่าไม่ควรให้ กกต.เข้ามาเป็นเจ้าภาพในการจัดเวทีเหมือนในอดีต จึงเห็นควรให้เอกชนทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพแทน เพื่อให้ กกต.ทำหน้าที่เฉพาะการควบคุมการเลือกตั้งให้สุจริตและโปร่งใสเท่านั้น