posttoday

โยกย้ายข้าราชการ สะท้อน ‘ปฏิรูป’ เหลว

03 สิงหาคม 2560

ปัญหาในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการนับเป็นอีกงานเร่งด่วนที่รัฐบาลคสช. หมายมั่นปั้นมือจะเข้ามา “ปฏิรูป”

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ปัญหาในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการนับเป็นอีกงานเร่งด่วนที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หมายมั่นปั้นมือจะเข้ามา “ปฏิรูป” วางกลไกในการแต่งตั้งโยกย้าย โดยคำนึงถึงระบบคุณธรรมขจัดการเล่นพรรคเล่นพวก รวมถึงการซื้อขายตำแหน่ง

แม้เบื้องต้นจะเห็นความความตั้งใจของรัฐบาล คสช. ตลอดจนแม่น้ำสายต่างๆ ช่วยกันวางกฎกติกาเพื่อตีกรอบการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการให้เป็นไปในทิศทางที่ควรจะเป็น ​แต่ในทางปฏิบัติ การแต่งตั้งโยกย้ายในยุครัฐบาล คสช.กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยไปกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ไล่มาตั้งแต่การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจซึ่งมีกระแสข่าวการวิ่งเต้น ซื้อขายตำแหน่ง อยู่หลายรอบ

แทนที่จะมีการขยายผลติดตามไต่สวนหาข้อเท็จจริง หรือนำคนผิดมาลงโทษ อย่างที่ควรจะเป็น เพื่อทำตัวอย่างที่ถูกต้องให้เป็นบรรทัดฐานป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำอีกในอนาคต

ตรงกันข้ามทางเจ้าหน้าที่กลับใช้ช่องทางการฟ้องร้องกรณีสร้างความเสียหายเสื่อมเสียชื่อเสียงกับบุคคลที่ออกมาเปิดเผยข้อมูล ทั้งที่บุคคลเหล่านั้นก็ไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เป็นคนในแม่น้ำ 5 สาย ของ คสช.ที่แต่งตั้งขึ้นมาจัดการแก้ไขปัญหาในแวดวงตำรวจ

ไม่ว่าจะเป็น พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป อดีต​สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งเคยเป็นประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กับกรณีเผยแพร่ข้อความทางแชตไลน์เรื่องการซื้อขายตำแหน่งเพื่อให้ช่วยตรวจสอบ  

มาจนถึง วิทยา แก้วภราดัย อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่ออกมาเปิดเผยเรื่องการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่งตำรวจ ระดับผู้กำกับการมีการวิ่งเต้นเงินสูงตั้งแต่ 5 ล้าน ถึง 7 ล้านไปแล้ว ส่วนระดับสารวัตรราคาอยู่ที่ 1.5-2 ล้านบาท

มาจนถึงการแต่งตั้งโยกย้ายล่าสุด​ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก จากเดิมที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาส่งสัญญาณสกัดการแต่งตั้งโยกย้ายแบบข้ามห้วยเพื่อให้เป็นแนวปฏิบัติ

​ทว่า เมื่อวันอังคารที่ 1 ส.ค. ครม.มีมติแต่งตั้ง จรินทร์ จักกะพาก อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ข้ามห้วยไปดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงแรงงาน ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ที่จะเกษียณอายุราชการ

อีกด้านหนึ่งก่อนหน้านี้ ในส่วนของ ธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ​เคยถูกโยกให้ไปเป็นผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางคำถามถึงความถูกต้องเหมาะสมและเหตุผลในการตัดสินใจ

ทำให้ วัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาระบุว่า เป็นการใช้อำนาจอย่างมีธรรมาภิบาลตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 หรือไม่ แม้รัฐธรรมนูญเขียนไว้สวยหรูว่า ให้ใช้ระบบคุณธรรมในการแต่งตั้ง โยกย้ายข้าราชการ แต่เวลาปฏิบัติใครไม่ตอบสนองผู้มีอำนาจ ก็ต้องกระเด็นออกจากตำแหน่ง

แต่ในส่วนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นพิเศษคือตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดย ครม.ได้อนุมัติแต่งตั้ง พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนและแผนกลาโหม ข้ามห้วยมาเป็นเลขาธิการ สมช. คนใหม่ แทน พล.อ.ทวีป เนตรนิยม ที่จะเกษียณอายุในเดือน ก.ย.นี้

ก่อนหน้านี้มีความพยายามผลักดันลูกหม้อใน สมช.เข้ามารับหน้าที่กุมบังเหียนดูแลหน่วยงานสำคัญควบคุมดูแลทิศทางด้านความมั่นคงของประเทศ 

ไม่ต่างจากรอบที่แล้วเมื่อครั้ง อนุสิษฐ คุณากร เลขาฯ สมช. คนก่อนที่เกษียณอายุ ซึ่งเคยมีความคิดจะผลักดันคนในมารับไม้ต่อแต่สุดท้ายก็ตั้ง ​พล.อ.ทวีป ข้ามห้วยจาก ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (ผบ.นทพ.) ​มาเป็น เลขาฯ สมช.​จนถึงปัจจุบัน

ตอกย้ำข้อครหาที่มองว่าตำแหน่งเลขาธิการ สมช. เสมือนเป็นตำแหน่งที่พักไว้ปลอบใจคนอกหักพลาดเก้าอี้จากในกองทัพหรือไม่อาจเกลี่ยที่นั่งภายในได้ลงตัว

แทนที่จะปล่อยให้เป็นกลไกภายในกองค์กรที่จะใช้คนที่มีประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถที่สั่งสมมา อันจะได้ทั้งขวัญกำลังใจจากคนปฏิบัติงาน และทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในทางปฏิบัติ

หากจำได้ ตำแหน่งเลขาฯ สมช. ของ ถวิล เปลี่ยนศรี ที่ถูก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น สั่งโยกไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี สุดท้าย ศาลปกครองมีคำสั่งให้ถวิลกลับเข้าดำรงตำแหน่งเลขาฯ สมช.  

แถมต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ต้องสิ้นสภาพนายกฯ รวมถึง ครม.ทุกคนที่ร่วมประชุม และลงมติโยกย้าย​ถวิล เพราะเป็นการก้าวก่าย แทรกแซง แต่งตั้ง โยกย้าย เอื้อพวกพ้อง 

การแต่งตั้งโยกย้ายในช่วงนี้ของรัฐบาล คสช.จึงสะท้อนให้เห็นปัญหาที่ไม่ได้แตกต่างจากรัฐบาลก่อน

ทั้งที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 76  วรรคสอง ระบุว่า “รัฐพึงดำเนินการให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานของบุคคลของหน่วยงานของรัฐให้เป็นไปตามระบบคุณธรรม โดยกฎหมายดังกล่าว อย่างน้อยต้องมีมาตรการป้องกันมิให้ผู้ใดใช้อำนาจ หรือกระทำการโดยมิชอบที่เป็นการก้าวก่าย แทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ หรือกระบวนการแต่งตั้งหรือการพิจารณาความดีความชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ”

ปรากฏการณ์โยกย้ายข้าราชการเวลานี้ สะท้อนให้เห็นทิศทางและแนวโน้มการปฏิรูปที่ดูห่างไกลเป้าหมายมากขึ้นทุกที