posttoday

แก้น้ำท่วม พิสูจน์ฝีมือ ‘ประยุทธ์’ โอกาสซื้อใจคนอีสาน

02 สิงหาคม 2560

วิกฤตน้ำท่วมในพื้นที่ จ.สกลนคร ซึ่งสร้างความเสียหายรุนแรงที่เกิดขึ้น นับเป็นอีกโอกาสให้ นายกรัฐมนตรี ได้พิสูจน์ความสามารถในการจัดการแก้ปัญหา และเยียวยาความเดือดร้อนชาวบ้าน

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

วิกฤตน้ำท่วมในพื้นที่ จ.สกลนคร ซึ่งสร้างความเสียหายรุนแรงที่เกิดขึ้น นับเป็นอีกโอกาสให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้พิสูจน์ความสามารถในการจัดการแก้ปัญหา และเยียวยาความเดือดร้อนชาวบ้าน

ถือเป็นเดิมพันครั้งสำคัญของรัฐบาล คสช. และ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะส่งผลต่อ​คะแนนนิยมในพื้นที่ภาคอีสาน ที่ยังไม่รู้ตอนจบว่าสุดท้ายแล้วผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร

ต้องยอมรับว่าสถานการณ์น้ำท่วมรอบนี้ถือเป็นครั้งที่หนักที่สุดในรอบ 43 ปี นับจากน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2517 กระทบต่อยานพาหนะ ร้านค้า โรงแรม ที่พักอาศัย โดย ประสาท ตงศิริ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดสกลนคร ประเมินความเสียหายเบื้องต้นมากกว่า 100 ล้านบาท

ณ เวลานี้ สิ่งสำคัญที่สุดคือการเยียวยาความเดือดร้อนทั้งเฉพาะหน้าและในช่วงฟื้นฟูสถานการณ์หลังจากนี้ ​มากกว่าการปัดความรับผิดชอบโยนความผิดระหว่างหน่วยงานที่ปล่อยให้เกิดความเสียหายรุนแรงโดยไม่มีมาตรการแจ้งเตือนหรือเฝ้าระวังได้อย่างทันท่วงที

ส่วนหนึ่งเพราะสภาพภูมิศาสตร์ที่มีการก่อสร้างกีดขวางทางน้ำลอดสะพาน เมื่อฝนตกหนักต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 26​ ก.ค. จนกระทั่งน้ำทะลักเข้าท่วมเมืองวันที่ 28 ก.ค. อันคาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 สัปดาห์ในการแก้ไขปัญหา ที่จำเป็นจะต้องเร่งดำเนินการ

เบื้องต้นจากการประชุมคณะกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมี ​ออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้พิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในภาคอีสาน

รับทราบรายงานสถานการณ์ จ่ายเงินเยียวยาช่วยเหลือครอบครัวละ 5,000 บาท โดยมีครอบครัวที่เสียหายประมาณ 7,000 ครัวเรือน

​โดยผู้เสียชีวิตตามหลักเกณฑ์รายละ 5 หมื่นบาท เบื้องต้นมีจำนวน 11 ราย ส่วนกรณีบ้านเรือนเสียหายทั้งหลังจะได้เงินช่วยเหลือประมาณ 2 แสนบาท/หลัง เพื่อใช้เป็นค่าวัสดุก่อสร้าง ส่วนบ้านเรือนที่เสียหายบางส่วนจะพิจารณาช่วยเหลือตามความเป็นจริง

จะเห็นว่าครั้งนี้ ทาง พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจเดินทางลงพื้นที่ จ.สกลนครด้วยตนเอง เพื่อตรวจราชการ และปฏิบัติภารกิจ ช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย รวมทั้งร่วมโครงการบิ๊กคลีนนิ่งเดย์  “ย้อมบ้านล้างเมือง” ที่เขตเทศบาลนครสกลนคร

​รวมทั้งเดินทางไปยังจุดติดตั้งสะพานแบลีย์เพื่อตรวจสอบสะพานภายหลังถูกน้ำกัดเซาะ​ และเดินทางต่อไปยังอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นเพื่อดูสภาพพื้นที่และการซ่อมแซม รวมถึงการแก้ไขปรับปรุงอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นที่ถูกน้ำกัดเซาะ

​ทั้งหมดถือเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นว่ารัฐบาล คสช. ให้ความสำคัญและเอาจริงเอาจังกับการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย จ.สกลนคร

นัยสำคัญของการลงพื้นที่ครั้งนี้ยังถูกมองว่าเป็นโอกาสให้ทางรัฐบาล คสช. ได้ทำคะแนนซื้อใจชาวบ้านที่กำลังเดือดร้อนอย่างหนัก

ต้องยอมรับว่าพื้นที่ภาคอีสานถือเป็นฐานเสียงสำคัญของรัฐบาลเพื่อไทย และมวลชนคนเสื้อแดง แถมอีกด้านยังถูกมองว่าเป็นมวลชนที่ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาล คสช.

วิกฤตการครั้งนี้จึงเป็นโอกาสให้รัฐบาล คสช.ได้พิสูจน์ความมุ่งมั่นตั้งใจ เยียวยาความเดือดร้อน

แน่นอนว่าโอกาสครั้งนี้มีสองด้าน ด้านหนึ่งถ้ารัฐบาล คสช. เอาจริงเอาจังแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจเข้าไปแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ทันท่วงที ทั้งการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและมาตรการเยียวยาซ่อมแซมความเสียหายในระยะยาวหลังจากน้ำลดลงแล้ว ย่อมได้ใจชาวบ้านที่รู้สึกว่าไม่ถูกทอดทิ้งในยามลำบาก

แม้ที่ผ่านมานโยบายของรัฐบาล คสช. อาจจะไม่เข้าตาโดนใจชาวบ้านในพื้นที่ รวมไปถึงเรื่องหลายเรื่องที่อาจขัดหูขัดตาในสภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง ปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำที่ยังไม่อาจแก้ไข

อย่างน้อยการได้รับการเยียวยาปัญหาในช่วงยากลำบาก ย่อมทำให้ความรู้สึกของชาวบ้านในพื้นที่ที่มีต่อรัฐบาลดีขึ้น ยิ่งภายหลังจากรัฐบาลพยายามอัดฉีดเม็ดเงินลงพื้นที่หลายรอบ

จังหวะเดียวกับที่ขั้วอำนาจเก่าเริ่มแตกกระสานซ่านเซ็นถูก “แช่แข็ง” ไม่ให้ออกมาเคลื่อนไหว ความเหนียวแน่นที่เคยชื่นชอบกับผลงานของรัฐบาลในอดีต ย่อมสั่นคลอนและลดน้อยลงไป เมื่อเห็นว่ารัฐบาลใหม่ยังสามารถดูแลชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นไม่ต่างจากรัฐบาลที่ผ่านมา

​แต่อีกด้านหนึ่งหากวิกฤตครั้งนี้ ทางรัฐบาล คสช. ไม่เอาใจใส่ดูแลปล่อยให้เกิดปัญหาในการแก้ไข ทั้งเรื่องความล่าช้า ไม่ทั่วถึง ที่จะเป็นปัญหาในทางปฏิบัติซึ่งรัฐบาลจะต้องระมัดระวัง

หากเกิดปัญหาไม่สามารถเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนได้อย่างที่ชาวบ้านคาดหวัง นี่อาจกลายเป็น “บูเมอแรง” ​ที่ย้อนกลับมาฉุดรั้งคะแนนนิยมให้ตกต่ำยิ่งกว่าที่ผ่านมา แทนที่จะช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้นอย่างที่คาดหวัง

​ท่ามกลางสถานการณ์ที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญกับการประคับประคองเดินหน้าไปตามโรดแมปสู่จุดหมายปลายทางอย่างการเลือกตั้งในปี 2561

คะแนนนิยม และความเชื่อมั่นจากประชาชนจึงเป็นสิ่งสำคัญ ในสถานการณ์เช่นนี้ ซึ่งต้องการความร่วมไม้ร่วมมือจากทุกฝ่าย

ยังไม่รวมกับกระแสข่าวการปลุกปั้นนายกรัฐมนตรีคนนอกหลังการเลือกตั้งที่จำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนทั้งในและนอกสภา