posttoday

คดีสลายเหลือง 7 ตุลา กำหนดทิศม็อบการเมือง

31 กรกฎาคม 2560

คำพิพากษาในคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯในวันที่ 2 ส.ค.นี้ ไม่เพียงแต่จะมีผลในทางการเมืองเท่านั้น แต่จะเป็นบรรทัดฐานให้กับฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายกลุ่มผู้ชุมนุม

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เดือน ส.ค. 2560 กำลังจะเป็นอีกหน้าบันทึกหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย เนื่องจากจะมีอดีตนายกรัฐมนตรีถึง 3 คนต้องเดินทางมารับฟังคำพิพากษาใน 2 คดี

เริ่มที่คดีการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 โดยมี “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” และ “พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ” เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกฯ เป็นจำเลยในคดีนี้ ซึ่งมีคิวฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในวันที่ 2 ส.ค.

อีกคดีเป็นกรณีของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกฯ หญิงคนแรกของประเทศ ซึ่งตกเป็นจำเลยในคดีละเว้นไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ตามกำหนดการจะต้องเดินทางมายังศาลฎีกาฯ เพื่อฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 ส.ค.

ทั้งนี้ มีไม่บ่อยครั้งนักที่การเมืองไทยจะเกิดไทม์ไลน์ลักษณะนี้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตาเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อมีคำพิพากษาออกมาอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วการเมืองไทยจะมีทิศทางไปอย่างไร

โดยวินาทีนี้ต้องจับตาไปที่คดีของอดีตนายกฯ สมชาย เป็นสำคัญ เนื่องจากเป็นคดีแรกที่ศาลฎีกาฯ จะมีคำตัดสินออกมา

ย้อนกลับไปดูคำฟ้องและข้อกล่าวหาที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มอบให้ไว้กับสมชาย นับว่าหนักหน่วงพอสมควร

“เมื่อปรากฏว่ามีผู้บาดเจ็บสาหัสในการเข้าดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อเปิดทางเข้ารัฐสภาในตอนเช้าวันที่ 7 ตุลาคม 2551

แต่นายสมชายก็ไม่ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ใต้บังคับบัญชายุติการกระทำ กลับปล่อยให้มีการกระทำที่รุนแรงขึ้นตามลำดับ จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต การกระทำหรือละเว้นการกระทำของนายสมชาย จึงมีมูลความผิดทางอาญา” ส่วนหนึ่งจากคำฟ้องของ ป.ป.ช.

ขณะที่สมชายต่างยืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเองมาตลอด โดยพยายามยกข้อต่อสู้ว่าตัวเองไม่ได้เป็นผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง เพราะเรื่องการควบคุมความสงบในเวลานั้นเป็นหน้าที่ของตำรวจโดยตรง

“ในวันประชุมตามนัดหมายหลังตนแถลงนโยบายเสร็จ มีการติดต่อให้ตนรีบออกจากรัฐสภาเพราะเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย ตำรวจได้เจรจาผู้ชุมนุมขอให้เปิดทาง และแจ้งกับตนว่าหากไม่เปิดทางมีความจำเป็นต้องใช้แก๊สน้ำตา ตนก็ห้ามไว้เพราะกลัวเกิดความโกลาหลวุ่นวาย ขอให้ดูแลด้วยความละมุนละม่อม” ส่วนหนึ่งของคำแถลงปิดคดีต่อศาลของอดีตนายกฯ สมชาย เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา

ฝั่ง ป.ป.ช.พยายามชี้ให้เห็นว่าการใช้อำนาจของสมชายนั้นเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ ส่วนสมชายพยายามหักล้างข้อกล่าวหาด้วยการอ้างว่าเป็นหน้าที่ของตำรวจ

อย่างไรก็ตาม คดีของสมชายนอกจากจะมีความน่าสนใจตรงคำพิพากษาในบั้นปลายที่อาจมีผลต่อการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ยังมีผลต่อบรรทัดฐานในการจัดการกับการเคลื่อนไหวของม็อบการเมืองตามท้องถนนในอนาคตด้วย

กล่าวคือ ที่ผ่านมาการเมืองไทยมักเกิดข้อถกเถียงมาตลอดว่าการกระทำของรัฐต่อกลุ่มผู้ชุมนุมแบบไหนถึงจะเรียกว่ามีความเหมาะสม

ฝ่ายกลุ่มผู้ชุมนุมมักอ้างเสมอว่าตัวเองใช้สิทธิการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญภายใต้หลัก “สงบ-สันติ-ปราศจากอาวุธ” ด้วยข้ออ้างดังกล่าวจึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ม็อบปิดถนน ม็อบยึดทำเนียบรัฐบาล ม็อบยึดสนามบิน ม็อบชัตดาวน์กรุงเทพฯ สร้างความเดือดร้อนและละเมิดสิทธิของบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องในวงกว้าง

เมื่อฝ่ายม็อบอ้างรัฐธรรมนูญ ทำให้ฝ่ายภาครัฐไม่สามารถดำเนินการควบคุมความสงบได้อย่างเต็มที่

ครั้นมาเจอกรณีของอดีตนายกฯ สมชาย ถูกดำเนินคดีจากการใช้อำนาจสลายการชุมนุมเพื่อเข้าไปแถลงนโยบายที่รัฐสภา นับแต่นั้นมาเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทั้งหลายจึงเลือกที่จะปล่อยให้ฝ่ายกลุ่มผู้ชุมนุมยึดและปิดล้อมสถานที่สำคัญเอาไว้ จนเกิดการชุมนุมที่ยืดเยื้อที่ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจำนวนมากอย่างที่ปรากฏให้เห็นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

บรรทัดฐานหลักที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ยึดมาตลอดในเรื่องของการควบคุมการชุมนุม คือ จากเบาไปหาหนัก ซึ่งเป็นหลักที่ศาลปกครองเคยวางบรรทัดฐานเอาไว้ แต่ปรากฏว่าพอเข้าสู่ภาคของการปฏิบัติยังเกิดปัญหาพอสมควร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่แน่ชัดในหลักการว่าการดำเนินการลักษณะใดถึงจะเรียกว่า “เบา” หรือสถานการณ์แบบใดที่จะทำให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้มาตรการที่หนักขึ้นได้ ซึ่งนับว่าจะเป็นปัญหาต่อไปในระยะยาว

แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะมีกฎหมายที่เรียกว่า พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ซึ่งกำหนดอำนาจหน้าที่ให้กับเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะตำรวจสามารถมีอำนาจจัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ไม่ได้ชุมนุมภายใต้กฎหมายได้ แต่ถามว่าเมื่อสถานการณ์มาสู่จุดเผชิญหน้า เจ้าหน้าที่บ้านเมืองจะกล้าลงมือหรือไม่ เนื่องจากย่อมต้องกลัวต่อการตกเป็นจำเลยแบบอดีตนายกฯ สมชาย เช่นกัน

จะเห็นได้ว่าการไร้บรรทัดฐานเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะ ได้สร้างปัญหามาในหลายด้านและนำไปสู่การใช้ช่องว่างของกฎหมายหรือการอ้างสิทธิทางการเมืองในรูปแบบที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อส่วนรวม

ดังนั้น คำพิพากษาในคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 ส.ค.นี้ ไม่เพียงแต่จะมีผลในทางการเมืองเท่านั้น แต่จะเป็นบรรทัดฐานให้กับฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายกลุ่มผู้ชุมนุม