posttoday

‘จตุพร’ นอนคุก ‘เพื่อไทย-นปช.’ ขวัญผวา

21 กรกฎาคม 2560

ในที่สุด "จตุพร พรหมพันธุ์" ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ต้องกลับไปใช้ชีวิตในเรือนจำอีกครั้ง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ในที่สุด "จตุพร พรหมพันธุ์" ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ต้องกลับไปใช้ชีวิตในเรือนจำอีกครั้ง ซึ่งการใส่เครื่องแบบเรือนจำครั้งล่าสุดนี้ต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ประธาน นปช.ต้องเข้าๆ ออกๆ คุกด้วยเหตุที่ศาลเพิกถอนการให้ประกันตัว เนื่องจากจตุพรในฐานะที่เป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีต่างๆ นั้นได้ทำผิดเงื่อนไขการประกันตัว แต่การกลับเรือนจำครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา แตกต่างออกไป เพราะเป็นกรณีที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จตุพรในฐานะจำเลยต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 1 ปี

คดีที่ว่านั้น คือ การหมิ่นประมาท "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2552 ด้วยการกล่าวหาทำนองเป็นรัฐบาลสั่งทหารให้ไปยิงประชาชน อันเป็นสาเหตุให้อภิสิทธิ์ฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้ลงโทษเอาผิดกับจตุพรฐานหมิ่นประมาท

เดิมทีคดีดังกล่าวทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องและให้จตุพรไม่มีความผิด โดยศาลเชื่อว่าการกระทำของประธาน นปช.เป็นการปกป้องตนหรือป้องกันส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับตนตามทำนองคลองธรรม อันเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 (1) จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

ทว่า อภิสิทธิ์ตัดสินใจสู้คดีถึงชั้นศาลฎีกา โดยพยายามแย้งว่าการกระทำของจตุพรไม่ได้เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต จึงนำมาสู่การสู้คดีกันอีกรอบ กระทั่งศาลฎีกามีคำพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทำให้ประธาน นปช.ต้องใช้เวลาอีก 365 วันในเรือนจำ

หากมองในทางการเมืองแล้วการจำคุกของประธาน นปช.ส่งผลกระทบใน 3 มิติด้วยกัน

1.ผลกระทบที่เกิดกับจตุพรเอง หมายความว่า จตุพรจะหมดสิทธิลงสมัคร สส.ในการเลือกตั้งครั้งหน้าทันที เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 98 (6) และ (7) บัญญัติว่า บุคคลที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังโดยหมายของศาล และเคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 10 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง จะขาดคุณสมบัติการเป็นผู้สมัคร สส.ทันที

ด้วยเหตุนี้เองจึงไม่ต่างอะไรกับการปิดฉากสวมสูทเดินเข้าสภาอีกครั้งไปโดยปริยาย

2.แรงสะเทือนถึงแนวทางการต่อสู้ของ นปช. นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามา บริหารประเทศตั้งแต่ปี 2557 ได้ปฏิบัติการเปิดเกมบุกฝ่ายตรงข้ามนับครั้งไม่ถ้วน ซึ่ง นปช.เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ถูก คสช.หมายหัวเอาไว้

ที่ผ่านมา คสช.ออกแรงกดดันต่อ นปช.ค่อนข้างหนัก โดยเฉพาะการควบคุมการแพร่ภาพออกอากาศของทีวี นปช. ซึ่งเป็นกระบอกเสียงสำคัญของกลุ่มเสื้อแดงในการสื่อสารข้อความจากแกนนำไปถึงมวลชนในพื้นที่ต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่เป็นพื้นที่สำหรับวิพากษ์วิจารณ์การบริหารประเทศของ คสช.อย่างดุเดือด จนทำให้บรรดาบิ๊กๆ ใน คสช.ควันออกหูหลายครั้ง

การที่แกนนำคนเสื้อแดงถูกกดดันมากเข้า ส่งผลให้การเคลื่อนไหวเพื่องัดข้อกับ คสช.ทำได้ยากขึ้น มาจนถึงทุกวันนี้โครงสร้างของ นปช.เองก็ไม่ได้เป็นรูปเป็นร่างกันมากนัก เนื่องจากแกนนำบางส่วนต่างมีคดีติดตัวกันทั้งนั้น จึงทำให้ต้องเพลามือในการต่อปากต่อคำกับ คสช.ลงมาบ้าง

เท่ากับว่าการไร้จตุพรซึ่งเป็น หัวเรือคนสำคัญของกลุ่ม นปช. ไม่ต่างอะไรกับการปล่อยให้มวลชนขาดผู้นำและเกิดความอ่อนแอทันที

3.พรรรคเพื่อไทยได้รับผล กระทบไม่ต่างกัน แม้ทุกวันนี้พรรคเพื่อไทยและ นปช.จะต่างคนต่างเดิน แต่ด้านหนึ่งย่อมมีแรงเหวี่ยงมายังแกนนำพรรคเพื่อไทยไม่มากก็น้อย เนื่องจากปฏิเสธไม่ได้ว่า นปช.เป็นแม่ทัพคนสำคัญในการสร้างมวลชน หากไร้จตุพรในช่วงนี้ย่อมทำให้มวลชนเสื้อแดงอ่อนกำลังลงไปสมควร ย่อมหมายถึงการที่พรรคเพื่อไทยต้องสูญเสียพลังมวลชนไปเช่นกัน

ขณะเดียวกัน ขวัญและกำลังใจของแกนนำย่อมได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะต้องไม่ลืมเวลานี้แกนนำของพรรคเพื่อไทยจำนวนหนึ่งกำลังต่อสู้คดีในชั้นศาลหลายคดี โดยเฉพาะ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีคิวรับฟังการสืบพยานกลุ่มสุดท้ายในคดีจำนำข้าวในช่วงนี้ โดยคาดว่าจากนั้นอีกไม่นานศาลฎีกาน่าจะกำหนดวันรับฟังคำพิพากษา

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าพรรคเพื่อไทยกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่มีแรงกดดันมากที่สุดอีกครั้ง โดยมีเงื่อนไขมาจากทั้งคดีความในชั้นศาลหรือบทบัญญัติของกฎหมายที่กำลังจะออกมาใหม่ เช่น ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งมีการเปลี่ยนหลักการสำคัญที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปถึงสองนายใหญ่ "ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์" เข้าอย่างจัง

กล่าวคือ "ทักษิณ ชินวัตร" ต้องเตรียมทีมกฎหมายเพื่อต่อสู้คดีการทุจริตที่ค้างอยู่ในระบบของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง ภายหลังร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ เปิดทางให้มีการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้

ส่วน "ยิ่งลักษณ์" ถูกบีบให้เดินหน้าต้องสู้ เมื่อการหันหลังให้ศาลด้วยการหนีคำพิพากษาไม่มีผลทางกฎหมาย เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ กำหนดให้การหนีคดีของจำเลยมีผลให้อายุความสะดุดลงทันที ซึ่งเท่ากับว่าถ้ายิ่งลักษณ์คิดจะหนีต้องหนีตลอดชีวิต

ดังนั้น การใช้ชีวิตในเรือนจำของจตุพรเป็นเวลา 365 วันตาม คำพิพากษา ถึงจะโทษจำคุกที่มีเวลาไม่นาน แต่เมื่อมองในบริบททางการเมืองแล้ว เป็นสถานการณ์ที่บีบคั้นหัวใจของ นปช.และพรรคเพื่อไทยจริงๆ n