posttoday

สัญญาประชาคม ปรองดองแต่เปลือก

19 กรกฎาคม 2560

ร่างสัญญาประชาคมถูกเข็นออกมาในช่วงปลายโรดแม็ป คสช. ท่ามกลางความมุ่งหวังว่าจะเป็น "กลไก" ช่วยคลี่คลายความขัดแย้งที่หมักหมมมายาวนานในสังคมให้หมดไป แม้ในทางปฏิบัติอาจเป็นไปได้ยาก

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ร่างสัญญาประชาคมถูกเข็นออกมาในช่วงปลายโรดแม็ป คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ท่ามกลางความมุ่งหวังว่าจะเป็น "กลไก" ช่วยคลี่คลายความขัดแย้งที่หมักหมมมายาวนานในสังคมให้หมดไป แม้ในทางปฏิบัติอาจเป็นไปได้ยาก

หากพิจารณาในรายละเอียดจะเห็นว่า ร่างสัญญาประชาคมที่แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ บทนำ ความคิดเห็นร่วม และภาคผนวกนั้น ยังเป็นเพียงแค่หลักการกว้างๆ ไม่ได้มีอำนาจไปบังคับ หรือลงโทษหากไม่ปฏิบัติตาม

เจาะลงไปในส่วนของความคิดเห็นร่วม 10 ข้อ ที่เป็นเหมือนเนื้อหาหลักจะเห็นว่าเนื้อหาส่วนใหญ่ดูจะเป็นนามธรรมจนยากจะจับต้อง

ไล่มาตั้งแต่ข้อ 2.คนไทยทุกคนพึงน้อมนำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้ในชีวิต 3.คนไทยทุกคนพึงยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรม 4.คนไทยทุกคนพึงอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 5.คนไทยทุกคนพึงส่งเสริมการดูแลคุณภาพชีวิตและสาธารณสุข

6.คนไทยทุกคนพึงเคารพ เชื่อมั่น และปฏิบัติตามกฎหมาย สนับสนุนกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในสังคม 7.คนไทยทุกคนพึงใช้ความรอบคอบในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ไม่บิดเบือน 8.คนไทยทุกคนพึงตระหนักในการส่งเสริมสังคมให้มีมาตรฐานสากล ตามกฎกติการะหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี

9.คนไทยทุกคนพึงส่งเสริมการปฏิรูปประเทศทุกด้าน ให้สอดคล้องและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน และ 10.คนไทยทุกคนเรียนรู้ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ

แต่หัวใจสำคัญอยู่ตรงที่ ข้อ 1.คนไทยทุกคนพึงร่วมมือกันสร้างบรรยากาศความสามัคคีปรองดองเพื่อให้ประเทศไทยมีความเป็นหนึ่งเดียวภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าใจระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ใช้สิทธิเสรีภาพอย่างถูกต้องและอยู่ในกรอบกฎหมาย มีส่วนร่วมกับการเมืองภาคประชาชน ยอมรับความแตกต่างทางความคิด ส่งเสริมสถาบันการเมืองให้มีความเข้มแข็งเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งที่โปร่งใสบริสุทธิ์ ยุติธรรม และยอมรับผลการเลือกตั้งซึ่งถือเป็นฉันทามติของคนไทยทั้งประเทศ รวมทั้งร่วมกันตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐและการแก้ไขปัญหาโดยใช้กลไกรัฐสภา

ประเด็นแรก การกำหนดให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันสร้างบรรยากาศความสามัคคีปรองดองเพื่อให้ประเทศไทยมีความเป็นหนึ่งเดียวนั้น ถือเป็นส่วนสำคัญในการปูทางสู่ความปรองดอง เพราะการจะเดินไปสู่จุดนั้นได้ ทุกฝ่ายจะต้องสร้างบรรยากาศ ไม่สร้างเงื่อนไข ความขัดแย้ง เพิ่มเติม

ยังไม่รวมกับประเด็น ความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ใช้สิทธิเสรีภาพอย่างถูกต้องและอยู่ในกรอบกฎหมาย ยอมรับความแตกต่างทางความคิด ที่แต่ละเรื่องล้วนเป็น กรอบที่จะป้องกันปัญหา

แต่ที่สำคัญที่สุด คือ การยอมรับผลการเลือกตั้งซึ่งถือเป็นฉันทามติของคนไทยทั้งประเทศ รวมทั้งร่วมกันตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐและการแก้ไขปัญหาโดยใช้กลไกรัฐสภา

เนื่องจากปัญหาที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมีจุดกำเนิดมาจากการไม่ยอมรับผลของการเลือกตั้ง ทั้งอ้างการโกงการซื้อเสียง จนพาลไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง บานปลายกลายเป็นการรวมตัวขับไล่รัฐบาล เป็นหล่มวังวนปัญหา

สุดท้ายก็เป็นข้ออ้างให้ "กองทัพ" เข้ามาแทรกแซงแก้ไขปัญหาฝ่าทางตัน ทั้งที่หลายฝ่ายยังเห็นว่าสามารถใช้กระบวนการตามกลไกที่มีอยู่แก้ไขปัญหาตรงหน้าได้

การคิดหาทางวางกรอบป้องกันไม่ให้ทุกอย่างเดินหน้าไปสู่จุดนั้น อาจสกัดปัญหาได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถสกัดความวุ่นวาย หรือจะสามารถพลิกฟื้นคืนความสงบสุข รวมทั้งจะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความปรองดองให้กลับคืนมาอย่างที่คาดหวัง

ประการแรก สัญญาประชาคม ที่ระบุว่ามีที่มาที่ไปจากการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านจากทุกฝ่ายทั่วประเทศนั้น อีกด้านหนึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเพียงแค่พิธีกรรมที่ไม่ได้หวังรับฟังความคิดเห็นแท้จริง

ทำให้เนื้อหาที่ออกมาถูกมองว่าเป็นไปตามกรอบที่ทาง คสช.วางไว้ มากกว่ามาจากความต้องการของประชาชนคนทั่วไป อันจะทำให้ความปรองดองยากจะเกิดขึ้นในทางปฏิบัติ

ประการที่สอง แม้แต่ละฝ่ายจะออกมาขานรับเห็นพ้องกับ สัญญาประชาคม ที่ออกมา อันน่าจะช่วยให้กระบวนการปรองดองเดินหน้าไปสู่จุดหมายอย่างที่คาดหวัง แต่ความเป็นจริงแล้ว การส่งสัญญาณตอบรับโดยเฉพาะจากฝ่ายการเมืองนั้น อาจเป็นเพราะไม่มีทางเลือกอื่น

ในเมื่อบิ๊ก คสช. เคยประกาศชัดว่าหากบ้านเมืองยังมีความวุ่นวาย การเลือกตั้งก็อาจไม่เกิดขึ้น หากออกตัวไม่เห็นด้วยนอกจากจะตกเป็นจำเลยขัดขวางกระบวนการปรองดองแล้ว ยังอาจส่งผลทำให้เส้นทางการเลือกตั้งมีอันต้องสะดุด การยอมลงนามในสัญญาประชาคมจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

ที่สำคัญความปรองดองจะเกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องไปแก้ไขไปที่ต้นตอของปัญหา ทั้งเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคม การบังคับใช้กฎหมายที่ถูกมองว่ามีหลายมาตรฐาน ไปจนถึงเรื่องปฏิรูปด้านอื่นๆ ประกอบ ที่ยังไม่เห็นความคืบหน้าในทางปฏิบัติ ตรงกันข้ามปรากฏการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นเวลานี้ดูจะเป็นชนวนให้เกิดความปรองดองได้ยากขึ้น

สัญญาประชาคมที่ออกมาจึงดูจะเป็นเพียงแค่เปลือกที่อาจจะช่วยสร้างความสงบได้ชั่วครู่ชั่วคราว แต่ยากจะนำไปสู่ความปรองดองได้อย่างแท้จริง n