posttoday

หลักนิติธรรมบนความยั่งยืน ตามรอยพระราชดำริ

19 กรกฎาคม 2560

เวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 3ภายใต้การจัดงานของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ชูแนวคิด "หลักนิติธรรมกับการพัฒนาโดยศึกษาแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9"

โดย...เอกชัย จั่นทอง

เวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 3ภายใต้การจัดงานของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ได้ชูแนวคิด "หลักนิติธรรมกับการพัฒนาโดยศึกษาแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9" ผ่านมุมมองของวิทยากรมากประสบการณ์ความรู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ ที่หลายท่านอธิบายแนวคิดดังกล่าวได้อย่างน่าสนใจบนเวทีแห่งนี้

เช่นเดียวกันกับ มาร์ติน ฮันเซ่น รองผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย กลั่นกรองแนวคิดหลักนิติธรรมกับ การพัฒนาฯ ออกมาว่า ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจย่อมมีส่วนสำคัญในเรื่องของหลักนิติธรรมที่จะช่วยให้เกิดความยั่งยืนและเติบโต อีกทั้งหลักนิติธรรมยังมีส่วนสำคัญที่มีประสิทธิภาพทำให้เกิดความเชื่อมั่นในทิศทางของธุรกิจและเสริมสร้างพื้นฐานให้เติบโต ตามแนวหลักนิติธรรมกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ตัวอย่างโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงวางรากฐานการพัฒนาโครงการต่างๆ ทั้งเกษตรกรรมและอื่นๆ จำนวนมาก หลายโครงการกลายเป็นวาระแห่งโลกในปัจจุบัน เนื่องจากพระองค์ท่านทรงวางแผนและสร้างภูมิคุ้มกันตั้งแต่ต้นเพื่อลดภาวะเสี่ยงภัยและภัยพิบัติต่างๆ โดยมีการนำแนวทางของพระองค์ท่านไปสู่การพัฒนาตลอดไปถึงคนชายขอบ

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีต ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และกรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา ฉายภาพแนวคิดดังกล่าวบนเวทีว่า หลักทศพิธ ราชธรรมเป็นแนวการปกครองของกษัตริย์ไทย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงงานบนหลัก "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"

"ตลอด 70 ปี พระองค์ทรงงานตามหลักทศพิธราชธรรม ด้วยความเมตตา จริงใจ อดทน อดกลั้น เที่ยงธรรม เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พระองค์ให้ความสำคัญต่อกฎหมายสำคัญต่อบ้านเมือง เพื่อให้การเป็นอยู่มีความเรียบร้อยและสามารถมีชีวิตที่รุ่งเรือง"

โดยลักษณะสำคัญ 3 ส่วนประกอบด้วย 1.การใช้กฎหมายต้องใช้ในเจตนาที่แท้จริงและในบริบทของสังคมที่จะนำพาสังคมไปสู่ความถูกต้อง การใช้เพื่อยุติธรรมไม่ใช่รักษาตัวบทกฎหมายเองโดยคำนึงถึงศีลธรรม 2.กฎหมายต้องเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเศรษฐกิจในเรื่องพลวัต เพราะสังคมโลกเปลี่ยนตลอด และ 3.การตรากฎหมายต้องให้ทุกคนในสังคมมีส่วนรวม

ประสาร เน้นย้ำว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่เพียงเข้าใจอย่างลึกซึ้งและแตกฉานในหลักนิติธรรมแต่พระองค์สามารถประยุกต์หลักนิติธรรมกับการพัฒนาให้โครงการในพระราชดำริต่างๆ จนสัมฤทธิผลได้

ขณะที่ ซานโดร คาลวานี ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการวางแผนเชิง กลยุทธ์ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระ บรมราชูปถัมภ์ มองแนวคิดหัวข้อเวทีเสวนาครั้งนี้ว่า ถือว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำให้หลักนิติธรรมกับการพัฒนาสู่ความยั่งยืน ประชาชนต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น และมีความเชื่อมโยงของสังคมมากขึ้นก่อนนำสู่ไทยแลนด์ 4.0

ผลงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 เห็นชัดว่าเป็นการนำหลักนิติธรรมมาใช้อย่างยั่งยืนในการทำงาน โดยในหลวงท่านทรงเรียนรู้จากสมเด็จพระศรีน ครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า และสมเด็จย่าทรงเรียนรู้งานจากในหลวง แล้วนำสิ่งเหล่านี้มาใช้ในการทำงาน

สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นเรื่องหลักนิติธรรมอย่างน่าสนใจว่า ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้นำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของภูฏาน เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศภูฏานได้กราบทูลถามพระองค์ถึงเรื่องการปลูกพืชทดแทนยาเสพติดที่ประสบความสำเร็จ พระองค์ท่านทรงรับสั่งนานพอควร

อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้เล่าบทสนทนาวันนั้นให้ฟังว่า พระองค์ทรงตอบไปว่าได้เดินทางไปคุยกับชาวเขา ถามว่าทำไมถึงปลูกฝิ่น ได้คำตอบจากชาวเขาว่าเพื่อนำฝิ่นมาใช้ระงับความเจ็บปวดและเป็นยาชา พอบอกจำนวนรายได้ก็ไม่ได้มากไปกว่าการปลูกพืชการเกษตรอย่างอื่น พระองค์จึงรับสั่งว่าถ้ามีอย่างอื่นที่ดีกว่ามาแทนจะรับหรือไม่ จากนั้นพระองค์กลับมาศึกษาสิ่งเหล่านี้และเสด็จฯ กลับไปใหม่เพื่ออธิบายให้ชาวเขาเข้าใจ ท่านใช้เวลาอธิบายกว่า 10 ปี

นอกจากนี้ ยังจะเห็นได้ว่าถ้านำกฎหมายมาบังคับใช้ก็ทำได้ แต่คงไม่เกิดความเป็นธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนมาจนถึงวันนี้ พระองค์มีหลักนิติธรรมที่จะใช้กฎหมายอย่างไม่กดขี่ มีความยืดหยุ่นที่อยู่บนความสุจริตไม่แอบแฝง เกิดความสงบสุข ไม่กดขี่ ถ้าบังคับมากเกินไปกลายเป็นความไม่ยุติธรรม ท่านทรงเห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายบางกรณีต้องใช้เวลา ทรงมีพระวิริยอุตสาหะในการกลับมาศึกษาสิ่งทดแทนเพื่อให้ชาวเขาได้ใช้ประโยชน์

สุรเกียรติ์ เผยเรื่องประทับใจทิ้งท้ายว่า จะเห็นได้ว่าท่านได้สอดแทรกเรื่องหลักนิติธรรมกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกการทรงงาน นั่นทำให้ พระราชกรณียกิจของท่านได้รับการยอมรับไปทั่วโลก เช่นเดียวกับโครงการพระราชดำริต่างๆ ที่แฝงหลักนิติธรรม และความอะลุ้มอล่วยในการพัฒนากฎหมายอย่างยั่งยืน