posttoday

ปฏิรูปตำรวจ เหมือนง่ายแต่ไม่ง่าย

11 กรกฎาคม 2560

เริ่มต้นนับหนึ่งอย่างเป็นทางการกับการ “ปฏิรูปตำรวจ” ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแต่งตั้ง 36 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ)

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เริ่มต้นนับหนึ่งอย่างเป็นทางการกับการ “ปฏิรูปตำรวจ” ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแต่งตั้ง 36 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ที่มี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีต ผบ.สส. เป็นประธาน กับ “งานหิน” ด้วยเงื่อนเวลาอันจำกัด 9 เดือน

สัญญาณเอาจริงเริ่มตั้งแต่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้แจกเอกสารข้อเสนอแนะที่เขียนด้วยลายมือตัวเอง 13 หน้า พร้อมกำหนด สูตร 2-3-4 คือ 2 เดือนแรกต้องคุยเรื่องปัญหาทั้งหมด ถัดมา 3 เดือนต้องอ่านงานวิจัยเก่าๆ ให้หมด และต่อมา 4 เดือน ต้องยกร่างกฎหมายให้เสร็จและรับฟังความคิดเห็น ทั้งหมดรวม 9 เดือน สิ้นสุดภารกิจ

“นายกฯ เชื่อมั่นและฝากความหวังไว้ที่คณะกรรมการ สิ่งใดทำเสร็จก่อนให้เอาออกมาก่อน หากต้องใช้มาตรา 44 แก้ให้นายกฯ ก็ยินดี หรือต้องแก้กฎหมาย ออกคำสั่งนายกฯ หรือใช้กฎ ก.ตร.ก็ให้ดำเนินการไปก่อนได้” วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุ

ต้องยอมรับว่าการปฏิรูปตำรวจถือเป็นเป้าหมายแรกๆ ที่ทาง คสช. หมายมั่นปั้นมือจะทำให้เกิดขึ้นหลังจากขันอาสาเข้ามาปฏิรูปประเทศ เพราะเป็นสิ่งที่สังคมคาดหวังและเรียกร้องให้เกิดขึ้นตั้งแต่ยังไม่มีการรัฐประหาร

ทว่า ผ่านมา 3 ปี หลายเรื่องยังเป็นเพียงแค่ข้อเสนอแนะที่กรรมการชุดต่างๆ จัดทำเป็นรายงานเสนอขึ้นมายังรัฐบาล และ คสช.อาจมีเพียงแค่การใช้มาตรา 44 เข้าไปแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแค่บางส่วน อาทิ คําสั่ง คสช. ที่ 7/2560 เรื่อง การปรับปรุงระบบการพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการตํารวจ การปรับระบบผู้มีอำนาจในการออกคำสั่งแต่งตั้งใหม่

ในขณะที่เสียงสะท้อนถึงปัญหาการเรียกรับผลประโยชน์ซื้อขายตำแหน่งยังมีอย่างต่อเนื่องในทุกฤดูกาลโยกย้าย และดูจะเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมทั้งที่เป็นยุคของรัฐบาล คสช. ทำให้แรงกดดันยิ่งเพิ่มมากขึ้น

กลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาล คสช.มุ่งมั่นรีบแก้ปัญหาสร้างผลงานชิ้นโบแดงก่อนจะพ้นวาระไปหลังการเลือกตั้ง

หากพิจารณาจากกรอบของอำนาจและกลไกต่างๆ ในมือจะเห็นว่า การปฏิรูปตำรวจในห้วงเวลานี้น่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกกฎหมายผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีเสียงเป็นเอกภาพพร้อมจะผลักดันกฎหมายได้อย่างรวดเร็ว ยังไม่รวมกับอำนาจตามมาตรา 44 ที่พร้อมจะปลดล็อกผ่าทางตันได้ทุกกรณี

แต่ปัญหาอยู่ที่รายละเอียดในแต่ละประเด็นการปฏิรูป ซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะสรุปสุดท้ายอย่างไร

ตั้งแต่ประเด็นแรกเรื่อง โครงสร้างองค์กรที่มีหลายข้อเสนอว่าจะให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สังกัดอยู่ที่ไหน ทั้งอยู่ที่เดิมกลับไปขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม ขึ้นกับ จังหวัด หรือตั้งเป็นกระทรวง

เมื่อการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรเช่นนี้ย่อมนำมาสู่แรงกระเพื่อมจากภายในอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ยังไม่รวมกับข้อดีข้อเสียของแต่ละโมเดลที่จะให้ สตช.ขึ้นตรงกับหน่วยงานใด ย่อมมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

การจะหาข้อสรุปให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย เช่นเดียวกับการปรับโครงสร้าง ซึ่งมีข้อเสนอสมควรดึงตำรวจป่าไม้ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจรถไฟ ออกจาก สตช.หรือไม่

ประเด็นที่ 2 กระบวนการยุติธรรมเรื่อง “อำนาจสอบสวน” ที่มีฝ่ายที่เห็นว่าควรจะคงอยู่อย่างเดิมและแยกออกไป ยังไม่รวมกับปัญหาที่จะตามมาระหว่างการประสานงาน ตำรวจ อัยการ กรมสอบสวนคดีพิเศษ

กรณีนี้ อมร วาณิชวิวัฒน์ หนึ่งในกรรมการปฏิรูปประเทศออกมาแสดงความเห็นว่า หากแยกงานสอบสวนแล้วจะต้องดูว่าเกิดปัญหาหรือไม่ โดยเฉพาะความพร้อมของประเทศไทยอาจจะไม่เหมือนในต่างประเทศ เช่น องค์กรที่มีความรู้มีความเชี่ยวชาญที่สามารถเค้นเอาพยานหลักฐานได้เทียบเท่ากับตำรวจ

“ยอมรับว่าแนวโน้มการรับสารภาพของผู้ต้องหา มักจะเกิดในนาทีแรกของการสอบสวน ซึ่งตำรวจอาจมีวิธีการซักไซ้ให้ผู้ต้องหายอมรับสารภาพได้ ขณะเดียวกันผมได้สอบถามไปยังอัยการเรื่องงานสอบสวน อัยการก็ตอบว่า อัยการทำได้ แต่ให้ทำขณะนี้ทำไม่ได้” อมร กล่าว

ประเด็นที่ 3 เรื่องสำคัญกับการบริหารงานบุคคล เรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย การคัดคนเข้ามาเป็นตำรวจ เพราะที่ผ่านมาปัญหาเรื่องการซื้อขายตำแหน่งสร้างความเสียหายฉุดภาพลักษณ์องค์กรตำรวจจนขาด

วามน่าเชื่อถือ และนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมายทว่า ความพยายามเข้าไปแก้ปัญหาตรงนี้ทั้งเรื่องอำนาจ กลไก กระบวนการแต่งตั้ง เรื่อยไปจนถึงเรื่องการตีกรอบควบคุม กำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้

โจทย์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ มอบหมายให้คณะกรรมการไปพิจารณาทั้งเรื่อง ระบบการแต่งตั้งโยกย้ายว่าจะใช้ระบบอาวุโสหรือระบบใหม่ หรืออาวุโสผสมคุณงามความดีความชอบจะแบ่งสัดส่วนเปอร์เซ็นต์อย่างไร จะเพียงพอกับการสกัดปัญหาการซื้อขายตำแหน่งที่สะสมมายาวนานได้มากน้อยแค่ไหน

ทั้งหมดทำให้ต้องยอมรับว่าปรากฏการณ์เอาจริงเอาจังพร้อมความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะมาปฏิรูปตำรวจครั้งนี้ อาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะนำไปสู่การแก้ไขจนเห็นผลจับต้องได้ภายในกรอบเวลา เวลาอีก 9 เดือนข้างหน้า