posttoday

วัดใจ "เซตซีโร่ ปปช." เสี่ยงรอยร้าวครั้งใหม่ คสช.

10 กรกฎาคม 2560

การตัดสินใจว่าจะเซตซีโร่ ป.ป.ช.รอบนี้จึงถือเป็นการเดิมพันครั้งสำคัญ ซึ่งไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ล้วนแต่จะต้องเกิดแรงกระเพื่อม

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์  

ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถือเป็นระเบิดเวลาลูกใหม่ที่จ่อคิวรอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เร็วๆ นี้

หลังจากกฎหมายลูกที่ส่งผ่านจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มายัง สนช.ก่อนหน้านี้ทั้งสองฉบับ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เป็นปมปัญหายังแก้ไม่ตก

เริ่มตั้งแต่ ​พ.ร.บ.พรรคการเมือง กรณี “ไพรมารีโหวต” ซึ่งมีความเป็นห่วงกันในหลายมุม ทั้งรายละเอียดการจัดการออกเสียง กฎกติกา การแบ่งเขต ที่อาจกระทบทำให้กรอบเวลาการเลือกตั้งในปี 2561 อาจต้องเลื่อนออกไป ท่ามกลางเสียงสะท้อนจากพรรคการเมืองที่ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย

ส่วนกฎหมาย กกต.นั้น ปมใหญ่อยู่ที่​ผลพวงจากการ “เซตซีโร่” ตามการปรับแก้ไขในชั้นกรรมาธิการวิสามัญของ สนช.​ อันจะเป็นเงื่อนไขให้ถูกหยิบยกเป็นเหตุผลให้​เซตซีโร่องค์กรอิสระอื่นๆ

แม้ทาง กรธ.จะให้เหตุผลว่าการจัดทำกฎหมายแต่ละฉบับนั้นแยกพิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละองค์กรอิสระ ไม่ได้เกี่ยวข้องหรือมีธงต้องเซตซีโร่ หรือไม่เซตซีโร่องค์กรไหนเป็นพิเศษ

ทั้ง กกต. ที่เดิม กรธ.ไม่มีแนวคิดจะเซตซีโร่ แต่ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงในชั้น กมธ.วิสามัญ สนช. เพราะเห็นว่า โครงสร้าง อำนาจ หน้าที่ ของ กกต.ชุดใหม่ที่จะเกิดขึ้นมีความแตกต่างจากในอดีต จำต้องสรรหาด้วยกลไกที่ต่างออกไปจากเดิม

ส่วน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นอีกหนึ่งองค์กรอิสระที่ถูกเซตซีโร่ ด้วยเหตุผลเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล ที่ประเทศไทยถูกทักท้วงว่ามีปัญหาว่าด้วยกระบวนการได้มาซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการว่าด้วยสถานะและหน้าที่ของสถาบันแห่งชาติเพื่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (หลักการปารีส)

ทำให้สังคมเริ่มจับ​ตา ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. ที่ กรธ.กำลังร่าง​เวลานี้ สุดท้ายแล้วจะกำหนดให้เซตซีโร่กรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 9 คนหรือไม่

ท่ามกลางกระแสข่าวว่าเวลานี้ภายใน กรธ.เองก็ยังไม่ได้ข้อสรุป เกิดสภาพ “เสียงแตก” ในประเด็นเซตซีโร่ กกต. มีทั้งฝั่งเห็นควรให้เซตซีโร่ และอยากให้ ป.ป.ช.ชุดเดิมทำหน้าที่ต่อไป

ด้านที่สนับสนุนเซตซีโร่ด้วยเหตุผลว่าเพื่อจะได้เป็นมาตรฐานเดียวกับองค์อรอิสระอื่นๆ ที่ถูกเซตซีโร่ไปก่อนหน้านี้แล้ว หาก ป.ป.ช.​ไม่ถูกเซตซีโร่ ย่อมเกิดคำถามตามมาว่ามีการเลือกปฏิบัติหรือไม่

ยังไม่รวมกับข้อครหาเรื่อง “ใบสั่ง” จากใครหรือไม่ ทำไมถึงต้องให้ ป.ป.ช.ชุดนี้ทำงานต่อไป

ต้องยอมรับว่า ป.ป.ช.ชุดนี้ถูกมองว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบิ๊ก คสช.เป็นพิเศษ เพราะ 5 คน จาก 9 คน ถูกตั้งเข้ามาทำหน้าที่ตั้งแต่ปลายปี 2558 ช่วงที่ คสช.เข้ามาบริหารประเทศแล้ว

ทั้ง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ วิทยา อาคมพิทักษ์ สุวณา สุวรรณจูฑะ สุรศักดิ์ คีรีวิเชียร พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์

โดยเฉพาะกับตำแหน่ง ประธาน ป.ป.ช. ของ พล.ต.อ.วัชรพล ที่ถือเป็นสายตรงของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ดังจะเห็นว่าถูกวางตัวมารับตำแหน่ง เป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (พล.อ.ประวิตร) ในช่วงแรกของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ช่วงต้นปี 2552 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ซึ่งดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.ขณะนั้น แต่งตั้งให้ พล.ต.อ.วัชรพล ​เป็นโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แทนที่ พล.ต.ท.พงศพัศ พงษ์เจริญ ​

การวางตัว พล.ต.อ.วัชรพล มารับตำแหน่งนี้ ​จึงหนีไม่พ้นที่จะวิพากษ์วิจารณ์ว่าเพราะต้องการส่งมือไม้ที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้มาดูแลบรรดาสารพัดคดีที่มีแต่เรื่องร้อนๆ ยังไม่รวมกับคดีใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ยิ่งในช่วงนี้ที่ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น สอดรับไปกับข้อครหาเรื่องการสืบทอดอำนาจของ คสช. การต้องวางคนที่ไว้ใจได้มาดูแลรับหน้าที่นี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ

ทว่าอีกด้านหนึ่ง แว่วว่าทางฝั่ง พล.อ.ประยุทธ์ ก็มีความคิดที่ต้องการจะให้เซตซีโร่ ป.ป.ช.เช่นเดียวกับองค์กรอิสระอื่นๆ เพื่อไม่ให้เป็นปมปัญหาถูกโจมตีในอนาคต

ทั้งปมเรื่องการเลือกปฏิบัติไม่ทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกับองค์กรอิสระอื่นๆ รวมทั้งปัญหาที่อาจถูกหยิบยกนำไปขยายผลกล่าวหาว่าไม่เซตซีโร่ ป.ป.ช. เพราะหวังผลเรื่องคดีความต่างๆ หรือไม่​

อันจะยิ่งซ้ำเติมความน่าเชื่อถือของ คสช.ในอนาคต เพราะอาจถูกกลุ่มที่ถูกกล่าวหาและชี้มูลจาก ป.ป.ช.​หยิบยกปมนี้ไปถล่มว่ามีความพยายามกลั่นแกล้ง เล่นงานอย่างเป็นระบบ

ปมเรื่องเซตซีโร่ ป.ป.ช.หรือไม่ จึงไม่ใช่แค่นำไปสู่ปัญหาสุ่มเสี่ยงกับแรงเสียดทานจากภายนอก แต่ยังจะทำให้เกิดความบาดหมางใน คสช. ขยายรอยร้าวระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร ที่เคยสมานไปแล้วให้กลับมาขยายผลอีกครั้งหรือไม่

หากย้อนไปก่อนหน้านี้จะพบว่าเรื่องราวระหองระแหงระหว่าง พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและดูจะถี่ขึ้นในระยะหลัง โดยเฉพาะในช่วงฤดูการแต่งตั้งโยกย้าย ที่จะต้องมีการจัดวางขุมกำลังมือไม้ เพื่อมารับหน้าที่สำคัญในจุดสำคัญๆ ในกองทัพ

ยังไม่รวมกับเรื่องแนวคิดที่เห็นแตกต่างกันในบางประเด็น จนปะทุออกมาเป็นกระแสข่าวคราวน้อยอกน้อยใจ บางครั้งรุนแรงถึงขั้นมีกระแสข่าวออกมา ทั้ง พล.อ.ประวิตร จะลาออกเองบ้าง หรือถูกปรับพ้น ครม.บ้าง

แต่สุดท้ายสายสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างพี่น้องบูรพาพยัคฆ์ของทั้งคู่ก็แน่นแฟ้นเกินกว่าจะตัดกันขาด หรือถูกกัดเซาะจากปัจจัยภายนอกได้ง่ายๆ ทำให้เรื่องราวความระหองระแหงที่ผ่านมาก็ถูกสมานกลายเป็นเพียงรอยร้าวที่ไม่ถึงกับแตกหักกันแต่ประการใด 

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหากทั้งคู่ขัดแย้งแตกหักขึ้นมาจริงๆ นั่นย่อมกระทบไปถึงเสถียรภาพของ คสช.อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ยิ่งในช่วงเวลานี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ การเกิดแรงกระเพื่อมใดๆ อาจส่งผลกระทบต่อโรดแมปที่กำลังเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง

การตัดสินใจว่าจะเซตซีโร่ ป.ป.ช.รอบนี้จึงถือเป็นการเดิมพันครั้งสำคัญ ซึ่งไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ล้วนแต่จะต้องเกิดแรงกระเพื่อม ไม่ว่าจะภายนอกหรือภายในอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

โดยเฉพาะกับแผลเก่ารอยร้าวภายใน คสช. ที่สุ่มเสี่ยงรอวันขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ