posttoday

เก้าอี้ปลัดมหาดไทยสะดุดเผือกร้อนในมือ มาร์ค

17 กันยายน 2553

การแต่งตั้ง “มงคล สุระสัจจะ” ว่าที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย สะดุดขึ้นทันที

การแต่งตั้ง “มงคล สุระสัจจะ” ว่าที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย สะดุดขึ้นทันที

โดย...ทีมข่าวการเมือง

การแต่งตั้ง “มงคล สุระสัจจะ” ว่าที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย สะดุดขึ้นทันที เมื่อเลขาธิการสำนักพระราชวังทำหนังสือถึง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกรัฐมนตรี ให้ชี้แจงกรณีการแต่งตั้งมงคล เพราะมีประชาชนทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาคัดค้าน เรื่องที่เกิดขึ้นนับเป็นเรื่องใหญ่มากที่สุดเรื่องหนึ่งในการบริหารราชการแผ่นดินที่ทำให้ “อภิสิทธิ์” ต้องคิดหนักและรับผิดชอบกับปัญหาที่เกิดขึ้น

เก้าอี้ปลัดมหาดไทยสะดุดเผือกร้อนในมือ มาร์ค

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง 3 คน เพื่อให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) นำรายชื่อทั้งหมดเพื่อขอพระบรมราชการโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง โดยทั้ง “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ “นนทิกร กาญจนะจิตรา” เลขาธิการสำนักงานข้าราชการพลเรือน ได้รับการโปรดเกล้าฯ เรียบร้อยแล้ว

ยกเว้นก็เพียง “มงคล” เท่านั้น เพราะถูกสมาคมข้าราชการบำนาญ นำโดย “โชดก วีรธรรม พูลสวัสดิ์” นายกสมาคม “พงศ์โพยม วาศภูติ” ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาคัดค้าน เพราะเห็นว่าการแต่งตั้ง “มงคล” มีการข้ามหัวข้าราชการที่มีอาวุโสกว่าถึง 54 คน

ก่อนหน้านี้ “พงศ์โพยม” เคยเตือน “อภิสิทธิ์” ว่า “ในฐานะนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้ตรวจสอบบุคคลที่จะเสนอให้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ถูกต้อง ไม่ใช่เสนอแบบส่งเดช” โดยในทางการเมืองแล้ว “อภิสิทธิ์” คงลำบากใจไม่น้อยเพราะชื่อ “มงคล” ถูกเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ตัวเองนั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุม จึงไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้

ก่อนหน้านี้เคยเกิดเหตุการณ์ที่มีการเสนอบุคคลขึ้นทูลเกล้าฯ บุคคลเพื่อรับตำแหน่งต่างๆ โดยมีการคัดค้านของบางฝ่าย เช่น ในสมัยรัฐบาลทักษิณ กรณี “สุชน ชาลีเครือ” ประธานวุฒิสภาในขณะนั้น ส่งชื่อ “วิสุทธิ์ มนตริวัต” เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทั้งที่ยังมีข้อขัดแย้งว่าคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการ สตง.ในตอนนั้นพ้นจากตำแหน่งแล้วหรือไม่ โดยเวลาผ่านไปนานกว่า 100 วันก็ยังไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ทำให้ “วิสุทธิ์” ขอถอนตัวในที่สุด

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ “สุชน” เสนอรายชื่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชุดที่มี พล.ต.อ.ดรุณ โสตถิพันธุ์ พล.ต.ท.วันชัย ศรีนวลนัด ศิวะ แสงมณี เป็นกรรมการ ทูลเกล้าฯถวาย แต่งตั้ง ซึ่งขณะนั้นมีการคัดค้านจากสังคมว่ากระบวนการสรรหา ป.ป.ช.ไม่ถูกต้อง ทำให้สำนักพระราชวังส่งเรื่องกลับมา รวมถึง การตีกลับร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ เพราะมีข้อบัญญัติหลายอย่างขัดแย้งกันเอง

กระทั่งมาในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่งถือว่าเป็นกรณีแรกที่เกิดขึ้น โดยอาจกล่าวได้ว่าไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย เพราะกระทรวงมหาดไทยในยุคนี้ภายใต้การควบคุมของพรรคภูมิใจไทย ที่มี “ชวรัตน์ ชาญวีรกูล” เป็นรัฐมนตรี ถูกปกคลุมด้วยอิทธิพลของพี่น้องคนโตบุรีรัมย์ ซึ่งมีการร้องเรียนเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการไม่เป็นธรรม การซื้อขายตำแหน่ง รวมถึง การร้องเรียนเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบัตรสมาร์ตการ์ด เรื่องโครงการเช่าคอมพิวเตอร์ 3,490 ล้านบาท ฯลฯ

ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาที่ “อภิสิทธิ์” รับรู้มาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถทำอะไรพรรคภูมิใจไทยได้ แม้ว่าอยากจะเข้ามาแก้ปัญหาใจจะขาด เพราะเกรงใจพรรคภูมิใจไทยที่ เนวิน ชิดชอบ เป็นแกนนำสำคัญในการตั้งรัฐบาล และผลักดันให้ “อภิสิทธิ์” เป็นนายกรัฐมนตรี จน สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้จัดการรัฐบาล ยอมรับว่า “ไม่มีเขา ก็ไม่มีเราในวันนี้” จนเป็นที่มาของการตอบแทนด้วยการให้พรรคภูมิใจไทยดูแลกระทรวงเกรดเอ ทั้ง มหาดไทย คมนาคม และ พาณิชย์ ที่มีงบประมาณหลายแสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เรื่องที่เกิดขึ้น “อภิสิทธิ์” ควรจะเข้าไปแก้ปัญหานี้ตั้งแต่ต้น ทั้งที่ว่าไปแล้วเหตุการณ์ชุมนุมเสื้อแดงที่ผ่านมาได้ทำให้ภาวะผู้นำของนายกฯ เพิ่มมากขึ้น แต่ “อภิสิทธิ์” กลับไม่ใช้โอกาสนี้สะสางความไม่ชอบมาพากลในการทำงานของพรรคร่วมรัฐบาล จนทำให้วิกฤตการแต่งตั้งโยกย้ายระเบิดออกมาในที่สุด

โดยเฉพาะปัญหาในกระทรวงมหาดไทยที่มีเรื่องร้องเรียนมานานและมีการสอบสวนอย่างเป็นรูปธรรม แต่นายกฯ ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เช่น ตอนที่คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ของ ก.พ. ที่มีมติให้กระทรวงมหาดไทยยกเลิกการแต่งตั้งนายอำเภอ 41 คน เพราะเห็นว่าการสรรหาไม่มีความชอบธรรม แต่ปรากฏว่าขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า ทั้งที่นายกฯ ถือว่าเป็นประธาน ก.พ.โดยตำแหน่ง แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ จนมีแนวโน้มว่า ก.พ.ค.จะเป็นเสือกระดาษ

เรื่องที่เกิดขึ้นสร้างความผิดหวังให้กับข้าราชการต่อตัว “อภิสิทธิ์” นายกฯ ที่ได้ชื่อเป็นผู้มีภาพลักษณ์ดีเป็นอย่างมาก เพราะไม่สามารถเป็นที่พึ่งของข้าราชการได้แม้แต่ครั้งเดียว ทำให้ข้าราชการเหล่านี้ต้องหันไปพึ่งกระบวนการยุติธรรม และการทูลเกล้าฯถวายฎีกา เพราะไม่สามารถทนเห็นกระทรวงมหาดไทยถูกย่ำยีต่อไปได้ โดยเฉพาะการแต่งตั้งอธิบดี 3 กรม เมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นคนของฝ่ายการเมืองแทบทั้งสิ้น อีกทั้งยังมีปัญหาการข้ามอาวุโส ซึ่งเป็นเรื่องที่สิงห์คลองหลอดรับไม่ได้

เพราะทั้ง “ขวัญชัย วงศ์นิติกร” ที่พ้นจากรองปลัดกระทรวง เป็นอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) “วิเชียร ชวลิต” พ้นจากอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นอธิบดีกรมการปกครอง (ปค.) “สุรชัย ขันอาสา” พ้นจาก ผวจ.สมุทรปราการ เป็นอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) ที่ได้รับการแต่งตั้งล็อตนี้ก็มีข้อกังขาเรื่องคุณสมบัติที่ไม่เหมาะไม่แพ้กัน เพราะส่วนใหญ่เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเพียง 23 ปีเท่านั้น
ปัญหาที่เกิดขึ้น นาทีนี้ต้องติดตามว่า “อภิสิทธิ์” จะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร จะยอมกลุ่มเนวินต่อไปหรือไม่ หรือจะพิสูจน์ภาวะผู้นำของตัวเองอีกครั้ง ด้วยการเข้ามาสะสางเรื่องฉาวในกระทรวงมหาดไทย แต่ที่สำคัญมากกว่านั้น นายกฯ จะอธิบายเรื่องนี้ต่อสังคมอย่างไร เพราะดุลพินิจของหัวหน้ารัฐบาลต้องสำคัญกว่าดุลพินิจของเจ้ากระทรวงอยู่แล้ว

แผลจากเรื่องฎีกาครั้งนี้นอกจากจะถูกพรรคเพื่อไทยนำไปขยายผลแล้ว จะยิ่งทำให้ข้าราชการกลายเป็นแนวร่วมมุมกลับอัดกลับไปที่พรรคภูมิใจไทย แต่ก็จะเจ็บปวดไปถึงพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะแกนนำรัฐบาลด้วย ซึ่งถือว่าเป็นเผือกร้อนที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขให้เร็วที่สุด