posttoday

เมินเก้าอี้สส. เล็งสืบทอดอำนาจ

05 กรกฎาคม 2560

วันที่ 4 ก.ค.ปีนี้ถือเป็นวันสำคัญทางการเมืองที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นวันที่ครบ 90 วันภายหลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

วันที่ 4 ก.ค.ปีนี้ถือเป็นวันสำคัญทางการเมืองที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นวันที่ครบ 90 วันภายหลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560

การครบกำหนด 90 วันในบริบทนี้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 วางเงื่อนไขไว้ว่าหากสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ได้ลาออกจากตำแหน่งจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส.ไม่ได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 263 ของรัฐธรรมนูญ

โดย 90 วันที่ว่านี้จะครบในวันที่ 4 ก.ค. ซึ่งหากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวไปแล้วและสมาชิกของแม่น้ำทั้ง 4 สายรายใดยังไม่ได้ลาออก เท่ากับว่าจะหมดสิทธิลงสมัคร สส.ไปโดยปริยาย

จากเงื่อนไขดังกล่าวทำให้เกิดกระแสข่าวท้าทายให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ลงเลือกตั้ง สส.

ทว่าเมื่อดูจากท่าทีของนายกฯ แล้วนั้นมีความเป็นไปได้น้อยที่จะทิ้งตำแหน่งกลางคันเพื่อไปลง สส. เพราะด้วยเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญเปิดทางให้นายกฯ ไม่จำเป็นต้องดำรงตำแหน่ง สส.ก็ได้

พล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่จำเป็นต้อง ลาออกเพื่อมาลง สส.แต่อย่างใด เพียงแค่รักษาตัวให้แข็งแรงและรอให้พรรคการเมืองส่งเทียบเชิญ ก็ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ สามารถเข้าไปลุ้นตำแหน่งนายกฯ ได้โดยไม่ต้องออกแรงลงพื้นที่หาเสียง

ผิดกับความเคลื่อนไหวของสมาชิก สปท.ซึ่งมีการทยอยยื่นใบ ลาออกเป็นระยะ ล่าสุดลาออกไปแล้วทั้งหมด 15 คน ทำให้เหลือสมาชิก สปท.จำนวน 177 คน

ตัวเลข 15 คนดูเหมือนจะเป็นจำนวนที่มาก แต่ถ้าล้วงลงไปในรายชื่อจะพบว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่ไม่ได้คึกคักมากนัก เนื่องจากสมาชิก สปท. ที่ลาออกนั้นส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองที่มีพรรคการเมืองสังกัดอยู่แล้ว เช่น นิกร จำนง สุชน ชาลีเครือ วิทยา แก้วภราดัย เป็นต้น

กลุ่มคนเหล่านี้เป็นแถวหน้าของพรรคการเมืองที่ตัวเองอาศัยและต้องเตรียมตัวลงเลือกตั้งในอนาคต หากกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งจำนวน 4 ฉบับมีผลบังคับใช้

ตรงกันข้ามกับกลุ่มคนหน้าใหม่ที่เพิ่งเข้ามาสู่แวดวงอำนาจทางการเมืองทั้งสมาชิก สปท.และ สนช.กลับไม่ได้ลาออก เพื่อแต่งตัวเตรียมลง สส.มากนัก

ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะเวที สส.ไม่ได้น่าสนใจเหมือนในอดีต

พลิกไปดูรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งก็จะพบคำตอบว่าเหตุใดทำไมการลงเลือกตั้ง สส.ถึงไม่ได้เป็นชิ้นปลามันที่ต้องต่างรุมแย่งกันเหมือนเมื่อก่อน

1.การตรวจสอบนักการเมือง เข้มข้นมากขึ้น อย่างที่ทราบกันดีว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ตีกรอบการทำงานของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้มากมาย โดยเฉพาะคุณสมบัติของนักการเมืองที่สูงขึ้น รวมไปถึงการให้อำนาจกับองค์กรอิสระในการเข้ามาตรวจสอบนักการเมือง จึงทำให้การขยับตัวของคนเป็น สส.ลำบากมากขึ้น

2.การคุมเข้มพรรคการเมือง ปัจจุบันร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่อยู่ในระหว่าง การแก้ไขของคณะกรรมาธิการร่วมกัน 3 ฝ่าย ได้แก่ สนช. คณะกรรมการการเลือกตั้ง และ กรธ. ได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อคัดเลือกผู้สมัคร สส.ของพรรคการเมือง หรือการทำ ไพรมารีโหวต

ต้องไม่ลืมว่าการทำไพรมารีโหวตที่บัญญัติไว้ในร่างกฎหมายพรรคการเมืองมีกระบวนการที่ค่อนข้างละเอียด เช่น การให้สมาชิกพรรคต้องมาทำการเลือกผู้สมัคร หรือถ้าในเขตเลือกตั้งใดพรรคการเมืองนั้นไม่ได้ทำไพรมารีโหวต พรรคการเมืองดังกล่าวก็จะไม่สามารถส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง สส.ในเขตเลือกตั้งนั้นได้

ไพรมารีโหวตแบบนี้ อาจทำให้คนหน้าใหม่ที่ไม่ลงสนามการเมืองมาก่อนอาจมองว่าตัวเองต้องออกแรงเหนื่อยเกินความจำเป็นอย่างการต้องหาเสียงถึงสองครั้ง แบ่งเป็น ครั้งแรกหาเสียงตอนทำไพรมารีโหวต และครั้งที่สองในตอนที่เลือกตั้งจริง

เพียงแค่สองเหตุผลนี้ก็น่าจะเพียงพอที่ทำให้การลงสมัคร สส.ไม่น่าสนใจ จึงมองว่าควรลงสนามอื่นแทน ซึ่งไม่ต้องออกแรงมากเมื่อเทียบกับการเลือกตั้ง สส.

โดยสนามการเมืองที่กำลังจะ ดุเดือดในเร็วๆนี้ คือ การสรรหา สว.จำนวน 250 คน

อำนาจเด็ดขาดในการจะให้ใครเป็น สว.อยู่ในมือ คสช.แต่เพียงฝ่ายเดียว เท่ากับว่า คสช.พอใจใครก็สามารถเลือกคนนั้นมาเป็น สว.ได้ โดยคนที่มาเป็น สว.ไม่ต้องลงแรงอะไรเลย

ไม่เพียงเท่านี้ วุฒิสภาในอนาคตจะมีอำนาจค่อนข้างมาก เช่น การร่วมลงมติเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่ง นายกฯ อำนาจติดตามการปฏิรูปประเทศของ ครม.ชุดใหม่ การเลือกบุคคลมาทำหน้าที่ในองค์กรอิสระ เรียกว่าวุฒิสภายุค 4.0 ประหนึ่ง เป็นฝ่ายค้านกันเลยทีเดียว

นอกเหนือไปจากตำแหน่ง สว.ที่จะเป็นปลายทางน่าสนใจแล้วยังมีเก้าอี้ในตำแหน่งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศจำนวน 11 คณะ คณะละ 14 คนรวมเป็น 154 คนที่ ครม.จะเป็นผู้สรรหาตามร่าง พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบจาก สนช.ไปเมื่อไม่นานมานี้ มีอำนาจกำหนดการปฏิรูปประเทศและติดตามตรวจสอบหน่วยงานรัฐที่ไม่ได้ทำตามแผนที่คณะกรรมการปฏิรูปกำหนดไว้

ดังนั้น เก้าอี้ในองค์กรที่ทำหน้าที่สืบทอดอำนาจจึงมีความน่าสนใจและดึงดูดมากกว่าตำแหน่ง สส.ซึ่งเป็นตำแหน่งการเมืองแบบเดิมๆ

อย่าได้แปลกใจว่าทำไมอนาคตตำแหน่งที่มาจากการสรรหาจะ เกิดศึกชิงเก้าอี้ดุเดือดไม่แพ้กับ การเลือกตั้ง