posttoday

นายกฯ คนนอก หวยออกที่ ‘บิ๊กตู่’

04 กรกฎาคม 2560

กระแสสนับสนุน และเสียงเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัยกำลังดังขึ้นเรื่อยๆ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

กระแสสนับสนุน และเสียงเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัยกำลังดังขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่เจ้าตัวยังรักษาอาการแบ่งรับแบ่งสู้กับอนาคตทางการเมืองที่ต้องรอดูสถานการณ์ในอนาคต​

ความคลุมเครือทำให้บรรดาอดีตนักการเมืองต้องรีบออกมา “ดักคอ” ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศตัวให้ชัดเจน หากต้องการจะเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ขอให้ลาออกมาลงสมัครรับเลือกตั้งตามระบบ และกลไก​ที่ทางรัฐบาล คสช. และแม่น้ำสายต่างๆ ช่วยกันออกแบบเพื่อปฏิรูปการเมือง

อันจะทำให้เป็นเส้นทางสู่อำนาจมีความสง่างามมากกว่ารอเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะยังคงคะแนนความนิยมในระดับสูงสะท้อนผ่านผลสำรวจหลายสำนัก แต่การจะให้เปลี่ยนบทบาทมาเป็นนักการเมืองเต็มตัว คงจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนักทั้งในแง่บุคลิก ลักษณะนิสัยส่วนตัว ยังไม่รวมกับเสียงสนับสนุนในพื้นที่ ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าจะออกมาอย่างไร ​

ที่สำคัญด้วยเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ในกรณีที่ คสช. คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ถ้าจะลงสมัครรับเลือกตั้ง สส. ต้องลาออกก่อน 90 วันนับแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้​

แต่ด้วยภาระหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีที่ยังมีเรื่องคั่งค้างต้องสานต่อให้สำเร็จ รวมทั้งต้องประคับประคองสถานการณ์ให้เดินหน้าไปตามโรดแมปจนถึงฝั่งฝัน การลาออกมาตอนนี้จึงมีแต่ความสุ่มเสี่ยง

​​​ทางเลือกของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เหลืออยู่เวลานี้จึงหนีไม่​พ้น “นายกรัฐมนตรีคนนอก” สอดรับกับระบบเลือกตั้ง และกลไก​ที่กำหนดมาไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกที่กำลังจะออกมา

เริ่มตั้งแต่ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ทางกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) คิดค้นขึ้นมาใหม่ ประกอบกับสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันทำให้เชื่อว่าจะไม่มีพรรคใดพรรคหนึ่งได้เสียงข้างมาก เพียงพอที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ

ยิ่งในกรณีที่บทเฉพาะกาลกำหนดให้มีเสียง สว. 250 คน​ ซึ่งมีที่มาจาก คสช.​เข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรีตามลิสต์ที่พรรคการเมืองเสนอด้วยแล้ว การจะรวมเสียงให้ได้มากกว่า 375 เสียง จากทั้งหมด 750 เสียง ย่อมเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ

เมื่อเวลานี้สองพรรคใหญ่ทั้งเพื่อไทย และประชาธิปัตย์ พร้อมใจกันออกมาประสานเสียงไม่อาจล่มหัวจมท้ายจับมือสกัด “ทหาร” อย่างที่มีหลายฝ่ายเคยออกมาทำข้อเสนอ

ดังนั้นต่อให้กรณีพรรคเพื่อไทยซึ่งเคยได้เสียงถล่มทลายในการเลือกตั้งที่ผ่านๆ มา ได้เสียงเป็นกอบเป็นกำในรอบนี้ แต่ก็ใช่ว่าจะสามารถรวมเสียงสนับสนุนให้ที่ประชุมร่วมระหว่าง สส. สว. ตัดสินใจเลือกรายชื่อบุคคลในลิสต์ของแต่ละพรรคการเมืองได้สำเร็จ

 สุดท้าย สถานการณ์ย่อมหนีไม่พ้นต้องเดินหน้าไปสู่การขอเสียงในที่ประชุมเพื่อยกเว้นเงื่อนไข เปิดทางให้สามารถเลือกบุคคลที่มาจากภายนอกบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองได้

ไม่เช่นนั้นสถานการณ์ก็จะจมอยู่ในภาวะสุญญากาศ ไม่อาจเดินหน้าต่อไปได้ การเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอกย่อมเป็นทางออกที่ดีกว่าปล่อยให้ทุกอย่างถึงทางตัน

เมื่อส่องดูรายชื่อบุคคลที่พอจะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ในเวลานี้ ​ยังไม่เห็นใครมีความโดดเด่นเพียงพอจะมาแข่งกับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีความพร้อม ทั้งในฐานะหัวหน้า คสช. และเสียงสนับสนุน

​ดังจะเห็นจากเวลานี้มีทั้ง 250 เสียง ของ สว. ที่ฐานเสียงสำคัญมาร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี อีกด้านหนึ่งยังมี “ตัวช่วย” จาก ​“พรรคทหาร​“ ที่มีกระแสเตรียมก่อตั้ง

ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของอดีตสมาชิก สปท. ที่ทยอยลาออกมาในช่วงนี้กับสัญญาณการเคลื่อนไหวเตรียมผนึกกำลังพรรคขนาดเล็กเพื่อยกระดับเป็นพรรคขนาดกลาง

ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะเป็นตัวสนับสนุนภารกิจ สืบทอดอำนาจ ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

ยังไม่รวมกับ​พรรคของ ไพบูลย์​ นิติตะวัน อดีต สปช. ที่ประกาศตัวชัดเจนจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ขณะที่ฝั่งนอกสภา ​สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. ก็ประกาศจุดยืนชัดเจนว่าสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งแกนนำ กปปส.ส่วนที่เหลือได้ประกาศหวนคืนสนามเลือกตั้งในนามประชาธิปัตย์เป็นที่เรียบร้อย

ดังนั้น ในกรณีที่ไม่สามารถเลือกบุคคลจากลิสต์ของตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ โอกาสของ พล.อ.ประยุทธ์ กับเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนนอก จึงดูชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ