posttoday

บ้านเวียงหวาย รร.คุณธรรม

02 กรกฎาคม 2560

โรงเรียนบ้านเวียงหวาย อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ภายใต้การนำของ วราลักษณ์ อุดมทรัพย์ วัย48 ปี ผู้อำนวยการโรงเรียนชำนาญการพิเศษ

โดย...เจียรนัย อุตะมะ

โรงเรียนบ้านเวียงหวาย อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ภายใต้การนำของ วราลักษณ์ อุดมทรัพย์ วัย48 ปี ผู้อำนวยการโรงเรียนชำนาญการพิเศษ เพิ่งได้รับรางวัล MOE AWARDS ประเภทสถานศึกษา สาขาส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และวราลักษณ์ยังได้รางวัลบุคคล สาขาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จากกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งที่เป็นโรงเรียนที่อยู่ไกลโพ้นจากเมืองหลวง

MOE AWARDS เป็นรางวัลซึ่งมอบเพื่อยกย่องและส่งเสริมบุคลากรในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดี ประพฤติตามรอยพระยุคลบาท มีจรรยาบรรณวิชาชีพต่อผู้เรียน ต่อตนเอง ต่อชุมชนและต่อสังคม มอบให้เจ้าหน้าที่ที่มีผลงานชัดเจน

โรงเรียนบ้านเวียงหวาย เป็นโรงเรียนชายขอบที่ตั้งอยู่แนวชายแดนไทย-เมียนมา นักเรียนส่วนใหญ่เป็นชาวไทยใหญ่และใช้ภาษาไทยใหญ่เป็นภาษาหลักในการสื่อสาร มีประเพณีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตต่างจากคนพื้นราบ แต่โรงเรียนมีความเชื่อมั่นว่าคุณธรรมจริยธรรมเป็นพื้นฐานในการกล่อมเกลาจิตใจและในการดำเนินชีวิต จึงมุ่งมั่นพัฒนาผู้เรียนด้านคุณธรรมจริยธรรมเป็นประการแรก โดยใช้กิจกรรมที่หลากหลายในการบูรณาการการเรียนการสอนในโรงเรียนให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของนักเรียนและชุมชน เพื่อเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ทางวิชาการตามหลักสูตร และสามารถใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมไทยได้อย่างสงบสุข

บ้านเวียงหวาย รร.คุณธรรม

ทั้งสองรางวัลที่โรงเรียนและผู้อำนวยการโรงเรียนชำนาญการพิเศษได้รับมิได้มาด้วยความบังเอิญ แต่เกิดจากความมุ่งมั่นฝ่าฟันจนได้รางวัลนี้มา เมื่อปีการศึกษา 2558 โรงเรียนแห่งนี้ได้รับรางวัลโรงเรียนส่งเสริมการอ่านยอดเยี่ยมระดับประเทศจากบริษัท นานมีบุ๊คส์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นรางวัลด้านการพัฒนาผู้เรียนด้านการอ่านออกเขียนได้ รางวัลโรงเรียนส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมดีเด่น ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา นักเรียนได้รับรางวัลเรียงความ “ตำบลของหนู” จากบริษัท คาราบาวตะวันแดง (แอ๊ด คาราบาว) มาแล้ว

นอกจากนี้ วราลักษณ์ เคยได้รับการสัมภาษณ์ตีพิมพ์ขึ้นปกวารสารมูลนิธิ SWAN (ShanWoman’s Action Network) เกี่ยวกับบทบาทสตรีที่มีต่อการจัดการศึกษาเด็กชายขอบ เป็นภาษาไทยใหญ่

วราลักษณ์ เล่าว่า การได้รับรางวัลจากนานมีบุ๊คส์ของโรงเรียนบ้านเวียงหวาย นับเป็นรางวัลนี้ของตัวเองครั้งที่ 2 ที่นำพาโรงเรียนรับรางวัล โดยครั้งแรกเคยส่งเสริมให้โรงเรียนบ้านหัวฝาย อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ได้รับรางวัลดังกล่าวมาแล้วเมื่อปี 2556 ลักษณะของทั้งสองโรงเรียนคล้ายกันคือ เป็นโรงเรียนที่มีนักเรียนชนเผ่าเป็นเด็กชายขอบและส่วนใหญ่ไร้สัญชาติ  การศึกษาจะช่วยให้พวกเขาได้เรียนรู้และพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้นบนผืนแผ่นดินไทย ในฐานะผู้บริหารได้ให้แนวคิดและนโยบายกับคณะครูว่า ต้องหาวิธีสอนทุกรูปแบบที่จะให้นักเรียนพัฒนาทักษะการอ่านออกเขียนได้ตามศักยภาพ พัฒนาทักษะการดำรงชีวิตที่สามารถประกอบอาชีพสุจริตโดยไม่ยึดทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่ง แต่ขอให้ใช้ทุกศาสตร์เพื่อบูรณาการในการจัดกิจกรรมต่างๆ ให้เข้ากับบริบทของผู้เรียนและสถานศึกษา

เธอศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยงานที่สนับสนุนการอ่าน เพื่อหาแหล่งสนับสนุนหนังสือให้โรงเรียน และพบเว็บไซต์ของบริษัท นานมีบุ๊คส์ และพบกิจกรรมการประกวดโรงเรียนส่งเสริมการอ่านของบริษัท จึงได้ปรึกษากับครูบรรณารักษ์ของโรงเรียนบ้านหัวฝาย และชวนกันจัดทำรายงานตามหลักเกณฑ์ของการประกวด และส่งผลงานเข้าประกวดเมื่อปี 2556 และได้รับรางวัลโรงเรียนส่งเสริมการอ่านยอดเยี่ยมระดับประเทศ และเมื่อย้ายมาเป็นผู้อำนวยการที่โรงเรียนบ้านเวียงหวาย และทำให้โรงเรียนแห่งนี้ได้รางวัลส่งเสริมการอ่านยอดเยี่ยมระดับประเทศอีกครั้งหนึ่ง

บ้านเวียงหวาย รร.คุณธรรม

“มีเป้าหมายเดียวกัน แต่วิธีสู่เป้าหมายอาจต่างกัน ส่งผลให้โรงเรียนบ้านหัวฝายและโรงเรียนบ้านเวียงหวายประสบผลสำเร็จในการพัฒนาผู้เรียนและสถานศึกษา กล่าวคือ มีผลการทดสอบระดับชาติ (โอเน็ต) มีค่าเฉลี่ยร้อยละสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับชาติ 3 ปีการศึกษาต่อเนื่องกัน”

ทั้งนี้ โรงเรียนได้จัดหาหนังสือให้เพียงพอต่อการอ่านของเด็กนักเรียนและสนับสนุนให้นักเรียนอ่านหนังสือยามว่าง ตลอดจนนำหนังสือไปอ่านให้พ่อแม่ ผู้ปกครองฟังที่บ้าน (ผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่รู้หนังสือ) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการส่งเสริมการอ่านของโรงเรียน

“คนมีความสามารถหากไร้โอกาสก็ทำอะไรไม่ได้ จึงกำหนดให้ครูทุกคนแสวงหาโอกาสให้ตนเอง เพราะหากรอให้โอกาสมาหาเราคงเป็นเรื่องยาก หรือบางทีต้องรอนานมาก”

วราลักษณ์ เกิดในครอบครัวชาวนา ไม่มีความคิดว่าจะเป็นครู แต่ที่จำความได้ชอบอ่านหนังสือ ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ชอบการทำงานฝีมือและอยากสอนให้คนอื่นทำเป็น พอโตขึ้นมาในระดับมัธยมศึกษามีความประทับใจในตัวครูสอนภาษาอังกฤษที่มักจะชมเมื่อเธอทำงานได้ดี จึงมุ่งมั่นจะเป็นครูตั้งแต่นั้นมา

จนกระทั่งถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีโครงการคุรุทายาท รุ่นที่ 1 ของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ (ปัจจุบันเป็นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ซึ่งเปิดโอกาสให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่เรียนดี เกรดเฉลี่ย 3.00 ขึ้นไป สมัครสอบแข่งขันเพื่อเข้าเป็นนักศึกษาโครงการคุรุทายาท เข้าเรียนในวิทยาลัยครูหรือในมหาวิทยาลัย ซึ่งเมื่อเรียนจบแล้วจะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครูทันที

เธอจึงมีความสนใจ และที่สำคัญเมื่อเรียนจบแล้วได้บรรจุเป็นข้าราชการครู ไม่ต้องสอบแข่งขันเพื่อหางานทำอีกจะเป็นการแบ่งเบาภาระพ่อแม่ได้มาก วราลักษณ์สอบติด 1 ใน 20 คน ของโครงการที่วิทยาลัยครูลำปาง เข้าเรียนในปีการศึกษา 2530 สำเร็จการศึกษาเมื่อปี 2534 ได้รับปริญญาเกียรตินิยมอันดับ 2 และได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครูเมื่อ 3 มิ.ย. 2534 ณ โรงเรียนบ้านห้วยไม้หก อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ในปีนั้นเป็นปีที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ได้ทรงเลือกหมู่บ้านห้วยไม้หกเป็นหมู่บ้านนำร่องโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ เพื่อปลุกจิตสำนึกให้ราษฎรร่วมอนุรักษ์ป่า ไม่ตัดไม้ทำลายป่า และสร้างอาชีพให้ราษฎรที่สอดคล้องกับการดำรงชีวิตอยู่กับป่าอย่างสมดุล

บ้านเวียงหวาย รร.คุณธรรม

“นับเป็นบุญของดิฉัน และเป็นการเริ่มต้นชีวิตข้าราชการที่ดียิ่ง ที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ และถวายงานแด่พระองค์ท่านอย่างใกล้ชิด”

ปี 2537 เธอได้ลาศึกษาต่อระดับปริญญาโท คณะศึกษาศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำเร็จการศึกษาในปี 2539 ด้วยเกรดเฉลี่ย 3.90 และได้กลับเข้ารับราชการในเดือน ต.ค. 2539 ทำงานได้ระยะหนึ่งต้องการเปลี่ยนสายงานเพื่อให้ได้ทำงานการศึกษาที่หลากหลายและมีบทบาทในการพัฒนาการศึกษาตามความต้องการอย่างแท้จริง

ในปี 2543 ได้สมัครเข้ารับการคัดเลือกในตำแหน่งผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ ได้ลำดับที่ 2 และได้เลือกปฏิบัติงานที่โรงเรียนบ้านห้วยงูกลาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ จึงได้ย้ายครอบครัวมาอยู่ที่ อ.ฝาง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เธอสอบคัดเลือกเป็นผู้บริหารสถานศึกษาในปี 2548 และได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหัวฝาย อ.ฝาง ต่อมานโยบายกระทรวงศึกษาธิการมีแนวโน้มจะยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก จึงขอย้ายมายังโรงเรียนบ้านเวียงหวาย ซึ่งเป็นโรงเรียนประถมศึกษาขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ใกล้กัน

เธอรับแรงบันดาลใจสำคัญจากพ่อคุณแม่ บุตรชายทั้ง 2 คน และครอบครัว ญาติพี่น้องทุกคนที่เป็นกำลังใจและคอยสนับสนุนให้มุ่งมั่นทำงานเพื่อสังคมเพื่อพัฒนาการศึกษา โดยเฉพาะเด็กชายขอบที่ส่วนใหญ่ไร้สัญชาติ

“เราเป็นครูอยู่ที่ไหนเราอยู่ได้ แต่เด็กกลุ่มนี้ไม่มีครูเขาอยู่ลำบาก เราจำเป็นต้องให้ความรู้ทุกอย่างกับเขา เพื่อให้เขาสามารถอยู่ร่วมกับเราได้อย่างสงบสุข เมื่อเขามีความรู้ มีทักษะชีวิต มีความเข้าใจกฎหมาย เข้าใจวัฒนธรรมไทย เขาย่อมไม่สร้างปัญหาให้กับสังคมไทย นี่แหละที่ครูต้องการ”