posttoday

พรรคทหาร เกิดยาก!!!

30 มิถุนายน 2560

กระแสข่าวการเตรียมจัดตั้ง “พรรคทหาร” วนกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง หลังเกิดปรากฏการณ์สมาชิก สปท.ทยอยลาออกเพื่อเตรียมตัวลงสนามเลือกตั้งในปี 2561

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

กระแสข่าวการเตรียมจัดตั้ง “พรรคทหาร” วนกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง หลังเกิดปรากฏการณ์สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ทยอยลาออกเพื่อเตรียมตัวลงสนามเลือกตั้งในปี 2561

ชัดเจนเมื่อ ​​สมพงษ์ สระกวีอดีต สปท. ระบุว่า ลาออกจากการเป็นสมาชิก สปท.เพื่อเตรียมตัวลงเลือกตั้ง ซึ่งไม่ใช่ในนามพรรคเพื่อไทย แต่​เป็นพรรคการเมืองขนาดเล็กที่จดทะเบียนอยู่เดิมร่วมกับ พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร สปท.การเมือง และ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล สปท.สายการปกครองท้องถิ่น

ทั้งนี้ อยากเริ่มต้นไปพัฒนาปฏิรูปพรรคการเมืองขนาดเล็ก ขณะนี้กำลังชักชวนพรรคเล็กอีก 2 พรรค ให้มารวมตัวเป็นพรรคใหม่ เพื่อช่วยกันหาสมาชิกพรรค ลดภาระความยุ่งยากเรื่องการหาสมาชิกพรรคและการตั้งสาขาพรรคประจำหน่วยเลือกตั้งต่างๆ ให้ครบจำนวนตามที่กำหนดไว้ในระบบไพรมารีโหวต

“พรรคเล็กที่จะมารวมตัวกันไม่ใช่พรรคตัวแทนทหาร แต่มีทหารบางส่วนมาร่วมด้วยเท่านั้น และหากทหารตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาจริงๆ พรรคเล็กก็พร้อมเป็นพันธมิตรกับพรรคทหาร”

จิ๊กซอว์ตัวสำคัญอยู่ที่ ​พล.อ.ธวัชชัย ในฐานะเพื่อนร่วมรุ่น ตท.​12 กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ได้รับความไว้วางใจให้ทำงานสำคัญหลายเรื่องหลังรัฐประหาร

แม้สุดท้าย ​พล.อ.ธวัชชัย ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้จะไปสมัครร่วมกับพรรคการเมืองขนาดเล็กเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยไม่อยากเล่นการเมือง เพราะไม่ได้มีการปฏิรูป แต่ก็ไม่ทำให้กระแสเรื่องนี้หายไป

เมื่อ​ พ.อ.สุชาติ ออกมาเปิดเผยแนวคิดเรื่องการปลุกปั้นรวมพรรคขนาดเล็กเข้าด้วยกันเพื่อเป็นพรรคขนาดใหญ่ เพื่อเป็นทางเลือก

ส่วนจะรวมพรรคใดบ้างนั้น ก็ต้องดูว่าพรรคใดขนาดเล็กบ้าง เช่น พรรคมาตุภูมิของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผู้นำ คมช. พรรคทวงคืนผืนป่าแห่งประเทศไทย ของ​ ดำรงค์ พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติและพรรคของ พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ เตมียาเวช ที่กำลังจะตั้ง โดยมี สมพงษ์ เป็นคนประสานงาน

แน่นอนว่าด้วยกลไกตามรัฐธรรมนูญ 2560 มีข้อจำกัดค่อนข้างมากที่ไม่เอื้อให้กับพรรคขนาดเล็กได้มีโอกาสแจ้งเกิดในสนามการเมืองรอบนี้

ทั้งเรื่อง การจัดตั้งและจดทะเบียนพรรคการเมือง โดยคณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคไม่น้อยกว่า 15 คน เพื่อเข้ายื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จากนั้นให้ผู้ริเริ่มหาสมาชิกผู้ริเริ่มก่อตั้งพรรค ให้ได้ไม่น้อยกว่า 500 คน ภายใน 180 วัน มาจนถึงเรื่อง“ไพรมารีโหวต” ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนเวลานี้

ยังไม่รวมกับเรื่องเสียงสนับสนุนในแต่ละพื้นที่ ที่ไม่ใช่เรื่องง่ายกับการต้องไปแข่งขันกับพรรคขนาดใหญ่ ซึ่งมีฐานเสียงเข้มแข็ง ยิ่งในระบบการเลือกตั้งใหม่ที่ใช้เสียง สส.เขต มาคำนวณ สส.บัญชีรายชื่อ

การรวมพรรคเล็กเพื่อยกระดับเป็นพรรคขนาดกลางจึงอาจเป็นทางเลือกที่ดูจะเป็นไปได้มากกว่า สำหรับ “พรรคทหาร” ที่จะเป็นหนึ่งในกลไกช่วยสนับสนุน​เส้นทางการเมืองให้กับ คสช. ปัจจุบันหากตัดสินใจจะคิดอ่านลงสนามการเมืองรอบนี้

ในจังหวะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาแบ่งรับแบ่งสู้ขอรอดูสถานการณ์ในอนาคต ก่อนจะตัดสินใจว่าจะลงสู่สนามการเมืองหรือไม่อย่างไร ยิ่งปลุกให้กระแสข่าวเรื่องพรรคทหารกลับมาเริ่มขยับ

จากมุมของ คสช. พรรคทหาร ย่อมถือเป็นตัวช่วยที่สำคัญ หากจะเดินหน้าก้าวสู่ถนนการเมืองต่อไปไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใด​ ทั้งในกรณีนี้ปกติลงสมัครรับเลือกตั้ง และรอเสียงรัฐสภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอก ที่จำเป็นต้องมีเสียง สส.ร่วมสนับสนุน

ทั้งกรณีเลือกนายกรัฐมนตรี ที่นอกจาก ​สว.250 เสียง แล้วยังต้องใช้เสียง สส.ร่วมโหวตเพื่อให้ได้เสียง 375 เสียง ท่ามกลางการปลุกกระแสจับมือพรรคการเมืองสกัดการสืบทอดอำนาจ

อีกด้านแม้จะได้รับเลือกมาเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว หากไม่มีเสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎร ย่อมทำให้เกิดสภาพขาลอยไม่มีเสียงสนับสนุน จนเกิดสภาพง่อนแง่นขาดเสถียรภาพ ​ซึ่งจะมีปัญหาในการ
ผลักดันกฎหมายสำคัญให้ผ่านความเห็นของสภา

ยิ่งในสถานการณ์ที่ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนจากหลายสำนักเห็นด้วยกับแนวคิดการตั้งพรรคของ คสช. เพื่อสานต่อการปฏิรูปและขับเคลื่อนงานที่ริเริ่มไปแล้วให้สำเร็จลุล่วง

ทว่า ในทางปฏิบัติการตั้งพรรคการเมืองไม่ใช่เรื่องง่าย​ด้วยกลไกใหม่ที่จะต้องมีกลไกสาขาพรรคในแต่ละพื้นที่ ไม่ต่างจากแนวคิดเรื่องการควบรวมพรรคขนาดเล็กผนึกกำลังเป็นพรรคขนาดกลาง ดังจะเห็นจากบทเรียนในอดีตที่ผ่านมาหลายต่อหลายรอบ