posttoday

ประยุทธ์ อุบไต๋ รอจังหวะนายกฯคนนอก

29 มิถุนายน 2560

"อย่ามากังวลกับผมว่าผมจะอยู่ต่อหรือเปล่า หรือตั้งพรรคการเมืองหรือเปล่า แต่จะทำวันนี้ให้ผ่านไปก่อน วันหน้าก็อยู่ที่ประชาชนนั่นแหละ”​

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

“อย่ามากังวลกับผมว่าผมจะอยู่ต่อหรือเปล่า หรือตั้งพรรคการเมืองหรือเปล่า แต่จะทำวันนี้ให้ผ่านไปก่อน สถานการณ์จะเป็นตัวชี้ชัดต่อไปเอง ว่าเราควรจะทำอย่างไรในอนาคต โดยเราจะต้องคาดหวังแต่สิ่งที่ดี สิ่งที่ทำได้ ทำสำเร็จ อย่าไปคิดว่าจะต้องทำโน่นทำนี่ให้สมาธิเสีย วันหน้าก็อยู่ที่ประชาชนนั่นแหละ”​

สัญญาณล่าสุดจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)​ กับการแบ่งรับแบ่งสู้อนาคตทางการเมือง ซึ่งหลายฝ่ายจับจ้องว่าจะกระโดดสู่สนามการเมืองแบบเต็มตัวในการเลือกตั้ง​ปี 2561 หรือไม่

หลังจากผลสำรวจล่าสุดของนิด้าโพล ระบุว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 53.52% เห็นด้วยกับการ “จัดตั้งพรรคใหม่ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนรัฐบาลชุดปัจจุบัน” เพราะต้องการเห็นทางออกใหม่ๆ ที่ช่วยลดความขัดแย้งและความวุ่นวายทางการเมือง

​รวมทั้งหากเข้ามาอย่างถูกต้องประชาชนก็ไม่ได้ติดขัดประการใด หากมีพรรคที่สนับสนุนรัฐบาลชุดปัจจุบันก็จะได้ช่วยกันแก้ไขปัญหาของประเทศ และสานต่อนโยบายต่างๆ ที่ได้ทำไว้แล้ว และเป็นการสนับสนุนให้รัฐบาลชุดปัจจุบันได้บริหารประเทศต่อไป

ทิ้งห่างจากประชาชน 31.28% ที่ไม่เห็นด้วย ​เพราะเป็นการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งในปัจจุบันการบริหารประเทศ มีหลายอย่างที่ยังแก้ไขได้ไม่ดี โดยเฉพาะเรื่องของเศรษฐกิจของประเทศ ปากท้องของประชาชน

หากยังได้รัฐบาลชุดเดิม ประเทศชาติอาจจะไม่ก้าวหน้า ประชาชนถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในบางเรื่อง ทำได้ไม่เต็มที่ ควรจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ และเลือกนักการเมืองที่เก่งและมีประสบการณ์ในการบริหารประเทศเข้ามาแทน

สอดรับไปกับ “กองหนุน” อย่าง ไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)​ ที่ประกาศเตรียมตั้งพรรค “ประชาชนปฏิรูป” พร้อมประกาศจุดยืนชัดเจนเตรียมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

เช่นเดียวกับ สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. ที่ออกตัวหนุน พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาสานต่อการปฏิรูป ขับเคลื่อนงานที่ยังคั่งค้างแต่ละด้านให้สำเร็จลุล่วงไม่ต้องเสียของอย่างน่าเสียดาย

ในจังหวะเดียวกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาหยั่งกระแสสังคมด้วยการตั้ง 4 คำถาม กับประชาชนทั่วไป ทั้งข้อ 3 ที่ระบุว่า การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวที่ไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศ และเรื่องอื่นๆ เช่น ประเทศชาติจะมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปหรือไม่นั้น ถูกต้อง หรือไม่ถูกต้อง

และ 4.ท่านคิดว่ากลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณี ควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้อีก เกิดปัญหาซ้ำอีก แล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ระบบ “ไพรมารีโหวต” ที่ทาง กมธ.สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปรับเพิ่มความเข้มข้นจากร่างของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจนห่วงว่าทำให้เกิดความวุ่นวายในการเลือกตั้งและสร้างความอ่อนแอให้กับพรรคการเมือง

ขณะที่ระบบการเลือกตั้งใหม่ที่วางกลไกในบทเฉพาะกาลให้ สว. 250 คน ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช. มีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรี ยิ่งตอกย้ำเส้นทาง “นายกรัฐมนตรีคนนอก”

ปัญหาอยู่ที่เวลานี้เริ่มมีการเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศตัวให้ชัดเจน หากต้องการเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ควรลงแข่งขันในสนามการเมืองตามกลไกปกติ ไม่ใช่รอกลไกพิเศษ

การออกมา “แทงกั๊ก” ของ พล.อ.ประยุทธ์ เวลานี้ จึงเป็นเหมือนสูตรสำเร็จที่นักการเมืองใช้กันมาตามปกติ ไม่จำเป็นต้องรีบออกมาประกาศความชัดเจน แค่รอให้ถึงจังหวะที่เหมาะสมอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าในเวลานี้

ประการแรก หากรีบเปิดตัวแสดงความชัดเจนอาจเป็นเป้าให้ถูกโจมตี ขุดคุ้ย ตั้งแต่ตอนนี้ กว่าจะถึงการเลือกตั้ง ย่อมเกิดความบอบช้ำ ฉุดความเชื่อมั่น ​จนกระทบกับคะแนนเสียงที่จะได้รับโดยเฉพาะกับปมเรื่องการสืบทอดอำนาจที่จะเป็นจุดอ่อนให้ถูกโจมตี  

ประการที่สอง หากรีบปฏิเสธย่อมปิดทาง ปิดอนาคต ที่ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะเกิดอะไรขึ้น การเปิดทางให้ตัวเองมีทางเลือกเดินย่อมดีกว่าการไปผูกมัดตัวเอง ที่สุ่มเสี่ยงจะเกิดปัญหาหรือข้อครหาเรื่องกลืนน้ำลายตัวเอง

ยิ่งในวันที่ทิศทางการเมืองยังไม่มีความแน่นอนว่าจะเดินหน้าไปทางไหน และจะจบลงอย่างไร  ย่อมยากจะคาดเดาได้ว่า สุดท้ายเส้นทางตามโรดแมปจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

ที่สำคัญหากรีบปฏิเสธปิดทางตัวเอง ย่อมกระทบไปถึงการเคลื่อนไหวของบรรดากองเชียร์ที่ออกมาเปิดหน้าสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในเวลานี้ ซึ่งมีแนวร่วมทยอยเปิดหน้าออกมาส่งเสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้น ในช่วงที่พรรคการเมืองยังไม่สามารถออกมาเคลื่อนไหว

การอุบไต๋ไม่ตอบรับไม่ปฏิเสธจึงเป็นทางเลือกที่ดูจะเหมาะสมที่สุดในสถานการณ์ขณะนี้