posttoday

คำมั่น ‘บิ๊กตู่’ เลือกตั้ง’61 คลายล็อกแรงกดดัน

22 มิถุนายน 2560

ถามว่ารัฐบาลจะอยู่ยาวถึง 10 ปีอยู่ได้อย่างไร อยู่ได้ถึง 10 ปีก็เก่งแล้ว ในเมื่อกลไกมันคือการเลือกตั้ง ทำไมถึงไม่เข้าใจกันสักที การเลือกตั้งนั้นต้องเกิดขึ้นในปี 2561 ชัดเจนกันหรือยัง ไม่ต้องมาถามอย่างอื่นอีก”​

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ถามว่ารัฐบาลจะอยู่ยาวถึง 10 ปีอยู่ได้อย่างไร อยู่ได้ถึง 10 ปีก็เก่งแล้ว ในเมื่อกลไกมันคือการเลือกตั้ง ทำไมถึงไม่เข้าใจกันสักที การเลือกตั้งนั้นต้องเกิดขึ้นในปี 2561 ชัดเจนกันหรือยัง ไม่ต้องมาถามอย่างอื่นอีก”​

ชัดจากปาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ​ที่ถือเป็น “คำมั่น” ​ที่ประกาศต่อหน้าสาธารณะ ยืนยันว่าทุกอย่างจะเดินหน้าไปตามโรดแมปสู่เป้าหมา​ยการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าไม่มีบิดพลิ้ว

แม้จะเป็นการตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณี ​เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ​ออกมาระบุว่า รัฐบาลทหารจะอยู่บริหารยาวประเทศถึง 10 ปี แต่ก็สามารถช่วยคลี่คลายความสงสัยให้หลายฝ่ายที่คิดต่างกัน ท่ามกลางข้อกังขาจากสังคมเรื่องการยื้ออยู่ในอำนาจ​ของ คสช. ​

การย้ำเป้าเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปี 2561 จึงเป็นการช่วยลดแรงกดดันที่รุมเร้า ​คสช.เวลานี้​

ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดข้อกังขาว่า​ คสช.มีทีท่าจะเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากกรอบโรดแมปเดิม ด้วยการหยิบยกเหตุผลต่างๆ มาเป็นข้ออ้าง จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องออกมาชี้แจงหลายหน

แต่ก่อนหน้านี้ คำชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ ดูจะพูดแค่ทุกอย่างจะเดินหน้าไปตามโรดแมป หรือมีบางครั้งที่ออก “เปิดช่อง” ด้วยการระบุว่าหากยังมีเหตุการณ์ความวุ่นวาย ความไม่สงบ อาจไม่มีการเลือกตั้ง

จนครั้งนี้ที่มีความชัดเจนว่าการเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นในปี 2561 ​

ไม่แปลกที่สังคมจะรู้สึกไม่แน่นอนกับเส้นทางตามโรดแมป เมื่อมีปัจจัยต่างๆ เข้ามาแทรกจน อาจทำให้กลไกที่กำหนดไว้ชัดเจนตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปแล้วอาจไม่สามารถเดินหน้าไปตามนั้น

ล่าสุดกับคำถาม 4 ข้อ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ถามว่า 1.การเลือกตั้งครั้งต่อไป จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ 2.หากไม่ได้ จะทำอย่างไร

3.การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวที่ไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศและเรื่องอื่นๆ เช่น ประเทศชาติจะมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปหรือไม่นั้น ถูกต้อง หรือไม่ถูกต้อง

และ​ 4.ท่านคิดว่า กลุ่มนักการเมือง ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณี ควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้อีก เกิดปัญหาอีก แล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร

จนถูกตีความว่าเป็นการ “โยนหิน” วัดกระแสสังคมว่าเห็นด้วยหรือไม่ หากจะมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อน ตราบเท่าที่ยังไม่มีหลักประกันว่าการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นจะสามารถคัดกรอง “น้ำดี”​ เข้าสู่ถนนการเมือง

นำมาสู่การตบเท้าออกมา “ดักคอ” จากหลายฝ่ายทั้งภาควิชาการ ภาคประชาชน และภาคการเมือง ที่เป็นห่วงว่าการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปย่อมไม่เป็นผลดีต่อทั้งประเทศและ คสช.เอง

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปส่วนหนึ่งนั้นอาจเป็นการตอกย้ำ “ความล้มเหลว” ของสิ่งที่แม่น้ำ 5 สายพยายามทำมาทั้งหมดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจนไม่อาจนำไปสู่การ “ปฏิรูป” สร้างกลไกตรวจสอบถ่วงดุลจนถึงเรื่องการคัดกรองบุคคลเข้ามาทำหน้าที่ในภาคส่วนต่างๆ

ทำให้ไม่อาจปล่อยให้ทุกอย่างเดินต่อไปตามกลไกที่วางไว้ ด้วยเกรงว่าสุดท้ายทุกอย่างย่อมเดินหน้าไปสู่วังวนความขัดแย้งและปัญหาเดิมๆ อย่างไม่อาจหลุดพ้นจากวงจรเดิมไปได้

คู่ขนานไปกับท่าทีการเคลื่อนไหวของ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำกปปส. ที่ออกมาเห็นด้วยกับการตั้ง 4 คำถาม เพื่อปลุกให้ประชาชนออกมาร่วมกันคิดอ่านว่า ทำอย่างไรจะทำให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ช่วยคัดกรองคนดีเข้าสู่สนามการเมือง

พร้อมตบท้ายว่า หากบ้านเมืองยังไม่สงบ มีเหตุการณ์ความวุ่นวายรุนแรงเกิดขึ้นอย่างที่เป็นอยู่ก็ยังไม่ควรจะมีการเลือกตั้ง เพราะในฐานะอดีตรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงเห็นว่าสถานการณ์เช่นนั้นย่อมจะทำให้รัฐบาลใหม่เข้ามาทำงานลำบาก

จิ๊กซอว์อีกตัวที่ทำให้แนวคิดเลื่อนการเลือกตั้งดูชัดเจนมากขึ้น คือ การที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)​ มีมติปรับแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กำหนดเรื่อง “ไพรมารีโหวต” ที่เข้มข้นขึ้นกว่าร่างของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)​

ถึงขั้นที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ต้องออกมาแสดงความเป็นห่วงเรื่อง ไพรมารีโหวต ที่ สนช.ปรับแก้อาจมีผลกระทบต่อพรรคการเมือง และอาจส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้ง

สถานการณ์ที่ผ่านมาจึงยิ่งชวนให้เชื่อว่ามีความพยายามเลื่อนการเลือกตั้งให้เกิดขึ้น และแน่นอนว่าไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล คสช.ซึ่งกำลังเผชิญกับมรสุมรุมเร้าจนซวนเซอย่างหนัก

ทั้งเรื่องการบริหารที่ยังถูกตั้งคำถาม ไล่มาตั้งแต่เรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำ การใช้มาตรา 44 เข้าไปเคลียร์ปัญหาเรื่องรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เรื่อยไปจนถึงปัญหาเศรษฐกิจที่ยังลุ่มๆ ดอนๆ

การอยู่ในตำแหน่งของรัฐบาล คสช.นานกว่ากำหนดที่วางไว้เดิม จึงไม่มีผลดี และเป็นเป้าใหญ่ให้ถูกโจมตี

การออกมายืนยันกรอบเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2561 จึงอาจเป็นหนึ่งในขั้นตอนการปลดล็อกคลายแรงกดดัน​ที่กำลังถาโถม คสช.ยิ่งในเวลานี้ที่ต้องเผชิญกับแรงเสียดทานรอบด้านและรุนแรง