posttoday

ประชารัฐ-โซลาร์เซลล์ ระเบิดเวลา​ถล่มเชื่อมั่น คสช.

08 มิถุนายน 2560

โครงการ “ประชารัฐ” นับเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นโบแดงของ คสช. ที่เคยหมายมั่นปั้นมือว่าจะออกมาโกยคะแนนนิยมชาวบ้าน

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

โครงการ “ประชารัฐ” นับเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เคยหมายมั่นปั้นมือว่าจะออกมาโกยคะแนนนิยมชาวบ้าน ด้วยคุณภาพเห็นผลที่ยั่งยืน พร้อมอุดช่องโหว่ ป้องกันไม่ให้ถูกข้อครหา​เรื่องประชานิยมต่างจากกองทุนหมู่บ้านในอดีต

ทว่าออกตัวไปได้ไม่เท่าไหร่โครงการประชารัฐเริ่มถูกโจมตีในหลายมุม ไล่มาตั้งแต่ประเด็นกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ของประเทศที่ถูกดึงมาร่วมสนับสนุนการเงิน แต่กลับกลายถูกมองว่าอาจเข้าข่ายรุกคืบเข้ามาครอบงำผูกขาดธุรกิจในพื้นที่แทนที่มากกว่าเข้ามาช่วยเหลือ

แต่ประเด็นที่สร้างปัญหาหนักอกเป็นพิเศษคือ เรื่องเงื่อนงำความไม่โปร่งใสในหลายพื้นที่ ทั้งประเด็นการเรียกเก็บค่าหัวคิวเมื่อมีรายงานว่า พบการร้องเรียนว่าในพื้นที่ อ.วิหารแดง จ.สระบุรี มีผู้นำในพื้นที่บางคนเรียกเก็บค่าหัวคิวโครงการ 10% ซึ่งอ้างเป็นค่าดำเนินโครงการ บางโครงการถูกเรียกเก็บเป็นเงินราว 3 หมื่นบาท ​อีกทั้งยังพบการอ้างว่านำเงินไปให้ระดับสูงขึ้นไป

นี่เป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างจากโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้าน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐที่จะได้รับเงินสนับสนุนหมู่บ้านละ 2.5 แสนบาท ซึ่งดำเนินการตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2559-31 ม.ค. 2560 มีจำนวนโครงการทั้งหมด 82,336 โครงการ จากวงเงิน 18,660 ล้านบาท

ล่าสุด โครงการประชารัฐกลายเป็นข่าวเป็นคราวอีกรอบกับโครงการ “ตู้ประชารัฐ สุขใจ” ที่จัดสร้างเพื่อนำไปเป็นพื้นที่ขายสินค้าโอท็อปของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จำนวน 148 ตู้ทั่วประเทศ ด้วยวงเงิน 122 ล้านบาท ซึ่งใช้วิธีการจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษ

นำมาสู่การร้องเรียนถึงความคุ้มค่าในหลายจุด ทั้งเรื่องราคาที่สูงกว่ากว่าท้องตลาด บางแห่งจัดซื้อกว่า 8 แสนบาท และเริ่มพบการชำรุดในหลายจุด อีกทั้งในบางพื้นที่ยังไม่เปิดใช้งาน ​​

ประเด็นนี้ทาง ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. ยืนยันว่า กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปอย่างถูกต้อง การใช้วิธีพิเศษเพราะเป็นโครงการขนาดเล็กวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท และให้เบิกจ่ายงบฯ ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2558

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาสถานีริมทางเพื่อส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยวท้องถิ่น : ก่อสร้างพื้นที่สำหรับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการท่องเที่ยวและจำหน่ายสินค้าท้องถิ่นที่ใช้ขายสินค้าโอท็อป ของ ททท.​ จำนวน 148 แห่งทั่วประเทศ มีการทำสัญญาว่าจ้างเอกชนจำนวน 5 ราย ในพื้นที่ 5 ภูมิภาค

สิ่งเหล่านี้มีแต่จะกัดกร่อนความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาล คสช.มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะแทนที่โครงการประชารัฐ ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ใช้งบประมาณจำนวนมาก ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศนั้นจะสามารถสร้างงาน สร้างผลงาน สร้างชื่อให้รัฐบาลอย่างที่ตั้งเป้าไว้ ผลลัพธ์ที่ออกมากลับไม่เป็นเช่นนั้น

ตรงกันข้ามนอกจากไม่อาจสร้างผลงานให้เป็นที่ยอมรับแล้ว ในเรื่องประเด็นความคุ้มค่าของเม็ดเงินที่ใช้​ยังกลายเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบอย่างชัดเจน ​ยิ่งในภาวะที่รัฐบาลกำลังประสบปัญหาเรื่องงบประมาณที่มีจำกัด ​การใช้งบประมาณเช่นนี้ย่อมไม่เป็นผลดี 

ยิ่งมาเผชิญกับเงื่อนงำความไม่โปร่งใส​ที่เริ่มปรากฏในหลายจุดยิ่งมีแต่จะซ้ำเติมปัญหาความเชื่อมั่นรัฐบาล คสช. ซึ่งประกาศเข้ามาสะสางปัญหาทุจริต จำเป็นที่จะต้องดำเนินการแต่ละโครงการให้เกิดความโปร่งใส เพื่อเป็นบรรทัดฐานและวางแนวทางปฏิบัติให้เป็นตัวอย่าง

เมื่อรัฐบาล คสช.​มาเผชิญปัญหาความไม่โปร่งใสเสียเองย่อมกระทบไปถึงทุกสิ่งที่พยายามทำมา รวมไปถึงเส้นทางการปฏิรูปที่กำลังขับเคลื่อนในช่วงโค้งสุดท้าย

ไม่เพียงแค่โครงการประชารัฐ ​อีกโครงการที่สั่งคลอนความเชื่อมั่น รัฐบาล คสช.​ไม่น้อย คือ โครงการจัดซื้อและติดตั้งโคมไฟส่องสว่างโซลาร์เซลล์ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของ ศอ.บต. ซึ่งใช้งบประมาณมากกว่า 1,000 ล้านบาท ติดตั้งไปแล้วกว่า 1 หมื่นจุดทั่วทุกพื้นที่

ปัญหาอยู่ที่คุณภาพการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมา รวม 14,318 จุดนั้น ชำรุดเสียหายมากกว่า ​80% ในขณะที่ผู้บริหาร ศอ.บต.ออกมาชี้แจงว่า จากการสำรวจพื้นที่พบเสาไฟโซลาร์เซลล์ชำรุดเสียหายเพียง 531 จุด คิดเป็น​ 4% เท่านั้น โดยมีสาเหตุหลักจากการถูกขโมยแบตเตอรี่

อีกด้านหนึ่ง กลุ่มธรรมาภิบาลเครือข่ายภาคประชาชนต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น ยื่นเรื่องร้องเรียนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.​​ เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีการคัดเลือกเอกชนผู้ร่วมลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร พ.ศ. 2560 จำนวน 100 เมกะวัตต์ ขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.)

ทางเครือข่าย ระบุว่า พบกลุ่มบุคคลนำโดยนายทหารระดับนายพล ชื่อย่อว่า เสธ.จ.​ เป็นผู้แอบอ้างชื่อ คสช. เพื่อเรียกรับเงินผลประโยชน์จากเอกชนที่เข้าร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าว โดยวิ่งเต้นจัดหาบริษัทที่เป็นพรรคพวกของตนเองมาขึ้นทะเบียนกับ อผศ.ไว้ก่อนตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559

​สิ่งที่ทางรัฐบาล คสช.​จำเป็นต้องเร่งดำเนินการเวลานี้คือ การออกมาชี้แจงรายละเอียดถึงความโปร่งใสในโครงการดังกล่าว รวมทั้งต้องทำความกระจ่างเรื่องการเรียกรับผลประโยชน์ว่ามีมูลความจริงแค่ไหน ​ไม่ให้ทุกอย่างหมักหมมย้อนกลับมาสั่นคลอนความเชื่อมั่น คสช.ในอนาคต