posttoday

กม.ล่านักการเมืองโกง ให้อำนาจศาลลุยเอง

03 มิถุนายน 2560

หลักการทั่วไปของร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวยังคงกำหนดให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใช้ระบบการไต่สวนเพื่อประสิทธิภาพในการพิจารณาไต่สวนคดี

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

หลักการทั่วไปของร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวยังคงกำหนดให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใช้ระบบการไต่สวนเพื่อประสิทธิภาพในการพิจารณาไต่สวนคดี ซึ่งรองรับโดยมาตรา 6 ที่ระบุว่า “การพิจารณาให้ใช้ระบบไต่สวนโดยศาลมีอำนาจค้นหาความจริง ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และในการวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริง ให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานได้ทุกประเภท เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติห้ามรับฟังไว้เฉพาะ”

สำหรับขอบเขตในการพิจารณาคดีของศาลฎีกา มาตรา 10 กำหนดให้ศาลฎีกา มีอำนาจพิจารณาคดี 4 ประเภท ประกอบด้วย

1.คดีกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ

2.คดีกล่าวหาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ

3.คดีกล่าวหาบุคคลที่เป็นผู้ใช้ ผู้สนับสนุน ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ คณะกรรมการ ป.ป.ช. กระทำความผิดทางอาญา

4.คดีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สิน

ส่วนการดำเนินคดีอาญานั้น ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดให้เฉพาะอัยการสูงสุดและคณะกรรมการป.ป.ช.เท่านั้นที่เป็นผู้มีอำนาจฟ้องเป็นคดีต่อศาลฎีกา

โดยมาตรา 27 กำหนดให้ในกรณีที่อัยการสูงสุด หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยื่นฟ้องคดีโดยยังไม่ได้ตัวผู้ถูกกล่าวหา และเมื่อศาลได้รับประทับรับฟ้องแล้ว ให้ถือว่าจำเลยไม่ติดใจที่จะให้มีการพิจารณาต่อหน้าจำเลย แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะตั้งทนายความมาดำเนินการแทนจำเลยได้ แต่การยื่นพยานหลักฐานใหม่หลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้วจะเป็นหน้าที่เฉพาะตัวของจำเลยที่ต้องมาปรากฏตัวต่อศาลด้วยตัวเอง

มาตรา 28 บัญญัติว่า “ในคดีที่ศาลดำเนินการกระบวนพิจารณาตามมาตรา 27 และมีคำพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิด ถ้าภายหลังจำเลยมีพยานหลักฐานใหม่ที่อาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ จำเลยจะแสดงตนต่อศาลและยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ แต่ต้องยื่นภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา และให้ศาลมีอำนาจสั่งรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ตามที่เห็นสมควร”

ที่สำคัญในร่างกฎหมายยังเปิดทางให้ศาลสามารถไต่สวนคดีลับหลังจำเลยได้ตามมาตรา 30 โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือ ต้องเป็นกรณีที่จำเลยไม่อาจมาฟังการไต่สวนพยานหลักฐานได้ เนื่องจากเจ็บป่วยหรือเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้ หรือจำเลยอยู่ในอำนาจศาลแล้วแต่ได้หลบหนีไป และศาลได้ออกหมายจับแล้วแต่ยังจับตัวมาไม่ได้

จากนั้นมาตรา 31 ยังกำหนดโทษทางอาญาของผู้ที่หลบหนีกระบวนการพิจารณาคดีด้วยว่า “ในการดำเนินคดีอาญา ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยที่หลบหนีไปในระหว่างได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าเป็นการหลบหนีไประหว่างการพิจารณาคดีของศาล ศาลอาจมีคำสั่งให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องทำการติดตามหรือจับกุมจำเลยได้”

ส่วนท้ายของร่าง พ.ร.บ.ฯ เป็นเรื่องการอุทธรณ์คดีภายหลังศาลฎีกามีคำพิพากษา โดยกำหนดให้ต้องอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา แต่หากไม่มีการอุทธรณ์ให้คดีเป็นที่สุดตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษา

มาตรา 60 กำหนดว่า “ในกรณีที่จำเลยซึ่งไม่ได้ถูกคุมขังเป็นผู้อุทธรณ์ จำเลยจะยื่นอุทธรณ์ได้ต่อเมื่อแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาลในขณะยื่นอุทธรณ์ มิฉะนั้นให้ศาลมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์”

การวินิจฉัยคำอุทธรณ์ให้ดำเนินการโดยองค์คณะของศาลฎีกา ซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาจำนวน 9 คน ซึ่งที่ประชุมใหญ่คัดเลือกจากผู้พิพากษาที่ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าหัวหน้าคณะในศาลฎีกา หรือผู้พิพากษาอาวุโส ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา