posttoday

เร่งฟื้น เศรษฐกิจ ตุนคะแนนความนิยม

02 มิถุนายน 2560

ตลอดช่วงการบริหารบ้านเมือง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าคสช. ลั่นวาจาไว้เสมอว่าจะคืนอำนาจและนำพาประเทศกลับสู่เส้นทางประชาธิปไตย

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ตลอดช่วงการบริหารบ้านเมือง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลั่นวาจาไว้เสมอว่าจะคืนอำนาจและนำพาประเทศกลับสู่เส้นทางประชาธิปไตย แต่ที่ผ่านมาโรดแมปเปลี่ยนถ่ายอำนาจทางการเมืองของรัฐบาล คสช. ขยับเลื่อนออกไปหลายครั้ง จนกระทั่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 2560 มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560 เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าการเลือกตั้งทั่วไปน่าจะเกิดขึ้นประมาณกลางปี 2561 ขึ้นไป

นั่นหมายความว่าจากนี้ไปอีก 1 ปีเศษ จะเป็นช่วง “โค้งสุดท้าย” ที่ คสช.ครองอำนาจอยู่!

การบริหารประเทศ คสช.เดินหน้ามาแล้วกว่าครึ่งทาง หลังเข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 มาวันนี้ 3 ปีเศษแห่งการยึดอำนาจและกำลังย่างก้าวเข้าสู่ปีที่ 4 ผลงานอันโดดเด่นที่ทุกค่ายสำนักโพล ประเมินจากเสียงประชาชนเทคะแนนเกือบเต็มร้อยให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในเรื่อง การรักษาสถานการณ์ความสงบเรียบร้อย เพราะไร้การชุมนุมประท้วงบนท้องถนน และปราศจากเหตุร้ายรุนแรงระเบิดกลางกรุงสะเทือนขวัญ

พร้อมๆ กับเสียงเชียร์ เรื่องการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจัดระเบียบและแก้ปัญหาประเทศในทุกด้าน อาทิ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือความมั่นคง ด้วยการใช้อำนาจมาตรา 44 เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้รวดเร็วและลุล่วง

แต่ยกเว้นปัญหาเศรษฐกิจปากท้องประชาชนที่รัฐบาล คสช.ไม่อาจใช้อำนาจมาตรา 44 แก้ได้ 

แม้ “บิ๊กตู่” ปรับทีมเศรษฐกิจยกชุดไปแล้วกี่รอบ ปรับ ครม.ไปแล้ว 4 ครั้ง แต่เสียงบ่นคร่ำครวญ เรื่องปัญหาเศรษฐกิจฝืดเคืองที่ชาวบ้านยังคงบ่นระงมดังไปทั่วทุกหย่อมหญ้า สวนทางกับตัวเลขเศรษฐกิจที่รัฐบาลประกาศว่า ดีวันดีคืน เพราะต้องยอมรับว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศคือ มนุษย์เงินเดือน ผู้ใช้แรงงาน ชาวไร่ ชาวนา และเกษตรกร ต่างประสบชะตากรรมเดียวกันคือ หนี้สินล้นพ้นตัว และรายได้ไม่พอกับรายจ่าย

แม้ว่า คสช.จะมีผลงานโดดเด่น เรื่อง การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ขจัดความขัดแย้งทางการเมือง และเข้มข้นในการกำจัดปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นก็ไม่อาจกลบบาดแผลปัญหาเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะคนรากหญ้าที่ตอนนี้ประสบปัญหาความยากจนและหนี้สินรุมเร้า แนวทางการแก้ปัญหาระยะเร่งด่วนยังไม่เข้าเป้า

จุดอ่อนทางการเมือง ตรงนี้ไม่ใช่ว่า “บิ๊กตู่” จะไม่รู้ตัว ที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามอัดฉีดทั้งนโยบาย โครงการ และงบประมาณลงไปไม่อั้น ดังนั้น จึงเห็นความเคลื่อนไหวของรัฐบาลในช่วงเข้าโค้ง ที่พยายามอัดฉีดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเป็นชุดๆ มาอย่างต่อเนื่อง

อาทิ มาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ หรือแจกเงินคนจน ที่มีผู้ลงทะเบียนกว่า 8 ล้านราย ได้รับอานิสงส์เงินรายละ 1,500-3,000 บาท แจกเงินไปแล้วสองรอบใช้งบประมาณหลายหมื่นล้านบาท พร้อมๆ กับเข็นมาตรการภาษีกระตุ้นการท่องเที่ยวและมาตรการภาษี “ช็อปช่วยชาติ” ตามสโลแกน “กิน-ช็อป-เที่ยว” หวังกระตุ้นการบริโภคของประชาชน

รวมถึงยังออก “แพ็กเกจ” อัดฉีดเงินเข้าระบบตั้งแต่ระดับบนจนถึงระดับล่าง นับแสนล้านบาทให้แก่ท้องถิ่นตั้งแต่ระดับหมู่บ้านไปจนถึงจังหวัดผ่านโครงการประชารัฐ เช่น โครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวประชารัฐหมู่บ้านละ 2 แสนบาท วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท และโครงการเพิ่มความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก ผ่านกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองกองทุนละ 5 แสนบาท วงเงินรวม 3.5 หมื่นล้านบาท รวมถึงพยายามเร่งรัดโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่างๆ เม็ดเงินลงทุนนับล้านล้านบาท อาทิ โครงการรถไฟทั้งทางคู่ รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง โครงการท่าเรือ
น้ำลึก ถนน ทางด่วน ทางพิเศษ หรือโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเฟสที่ 2 เป็นต้น

ยิ่งล่าสุดรัฐบาลเตรียมแจกและเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุคนละ 1,200-1,600 บาท จากเดิมได้รับรายละ 500 บาท โดยมีคนแก่ที่ขึ้นทะเบียนตั้งตารอรับเงินจากรัฐบาลเกือบ 5 ล้านคน แต่ก็ต้องยอมรับมาตรการเศรษฐกิจดังกล่าวยังไม่แรงพอฉุดกระชากเศรษฐกิจ เพราะปัจจัยลบภายนอกและภายในรุมเร้ารอบด้าน อาทิ ตัวเลขการส่งออกแผ่ว ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำกระทบรายได้เกษตรกร จนกลายเป็นตัวฉุดรั้งคะแนนนิยม คสช. เพราะปัญหาปากท้องคือ ปัจจัยลบที่สุด ที่กัดกร่อนคะแนนนิยมรัฐบาลมากที่สุด  

นับจากนี้ “บิ๊กตู่” ต้องลุยงานหนักมากกว่านี้ เพราะปัญหาเศรษฐกิจเป็นเดิมพันครั้งสำคัญที่จะค้ำบัลลังก์อำนาจ คสช.ไว้อยู่ได้หรือไม่

เพราะถ้ายังไม่มีมาตรการใหม่ๆ ออกมาแก้ปัญหาปากท้องแบบโดนใจชาวบ้านได้ อนาคต “บิ๊กตู่” ต้องลุ้นหนักทั้งเรื่องอายุรัฐบาล คสช.ที่เหลืออยู่ปีเศษ คงไม่ราบรื่น

กระแสต้านจะถาโถมเข้ามามากมาย และถ้ายังเร่งเครื่องสร้างผลงานทางเศรษฐกิจไม่ “ปังๆ” ยิ่งในช่วง “เปลี่ยนผ่าน” ตามโรดแมป หลังการเลือกตั้งใหม่ชื่อ “บิ๊กตู่” คงไม่เกรียงไกรอีกต่อไป

การจะกลับมาเป็นนายกฯ คนต่อไป ตามเสียงกองเชียร์คงดับวูบลง เพราะชาวบ้านหมดคะแนนนิยมไปเสียแล้ว