posttoday

กปปส.-ปชป. รอยร้าวที่ยังสมานไม่สนิท

01 มิถุนายน 2560

ปรากฏการณ์ 8 แกนนำ กปปส.คืนรังประชาธิปัตย์ ปิดห้องเคลียร์ใจกับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคนับเป็นอีกความพยายามสมานรอยร้าว

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ปรากฏการณ์ 8 แกนนำ กปปส.คืนรังประชาธิปัตย์ ปิดห้องเคลียร์ใจกับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค นับเป็นอีกความพยายามสมานรอยร้าว เร่งยุติความขัดแย้งของคนกันเองที่กำลังปะทุหนักเวลานี้​

หลังจากวิวาทะระหว่าง กปปส.-ปชป.ไต่ระดับความดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ ​ชนวนมาจากที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิ กปปส. ประกาศจุดยืนแบบชัดเจนสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย

แม้จะออกตัวว่าวางมือทางการเมืองเดินหน้าลุยทำงานมูลนิธิซึ่งกำลังเปิดตัวโรงเรียนอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ ที่เกาะสมุย แต่ด้วยบารมีอดีตประธาน กปปส.ทำให้การส่งสัญญาณครั้งนี้สะเทือนไปถึง อภิสิทธิ์ อย่างรุนแรง

ด้านหนึ่ง สุเทพ ถือเป็นอดีตเลขาธิการพรรค ที่เคยสร้างผลงานเดินสายรวมเสียงในสภาจนเพียงพอจะปั้น​ให้ อภิสิทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และเผชิญชะตากรรมในช่วงวิกฤตการณ์มานานหลายปี

แม้สุดท้ายจะต้องยอมถอดสูทออกมาลุยการเมืองข้างถนน นำมวลชนคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย ​แต่หลายฝ่ายยังมองว่าเป็นยุทธศาสตร์ “แยกกันเดินร่วมกันตี” เปิดศึกขนาบสองด้านรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

แต่ท่าทีที่ “เปลี่ยนไป” ประกาศจุดยืนหนุน พล.อ.ประยุทธ์ ​เป็นนายกรัฐมนตรี​ครั้งนี้ ถือเป็นการเลือกข้าง เลิกหนุน ​อภิสิทธิ์ และพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แบบชัดเจน ​

แกนนำ กปปส.จึงตกที่นั่งลำบากว่าจะวางตัวอย่างไร เพราะหากจะกลับเข้าพรรคแล้วไปชู พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี แทนหัวหน้าพรรคก็คงไม่ใช่หลักการที่ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตยที่ควรจะเป็น

ฟางเส้นสุดท้ายนี้ทำให้บรรดาองครักษ์ออกมาปกป้องอภิสิทธิ์ และเรียกร้องให้ กปปส.​ประกาศท่าทีจุดยืนให้ชัดเจนว่าจะเลือก สุเทพ หรืออภิสิทธิ์

สะท้อนผ่าน “ไลน์หลุด” ของ เทพไท เสนพงศ์ อดีตโฆษกประจำตัวมาร์ค ที่ออกมากระทบกระเทียบชูหลักการต้องหนุนอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น เพื่อไม่ให้กระทบกับ “อุดม การณ์” มากกว่าทำตัวเป็น “ขี้ข้าประยุทธ์”

อีกมุมหนึ่งมองว่านี่เป็นเพียงแค่การตีกัน สกัดการกลับเข้าพรรคของคนใน ปชป.ที่ไม่ต้องการให้ กปปส.ต้องเข้ามาแย่ง “ที่นั่ง” ลงสนามเลือกตั้งในอนาคต ไปจนถึงตำแหน่งทางการเมืองอื่นในอนาคต

สอดรับกับความไม่ไว้วางใจในอดีต ซึ่งเคยมีความพยายามแซะเก้าอี้ อภิสิทธิ์ พ้นตำแหน่งหัวหน้าพรรค รวมถึงความพยายามของ กปปส.ที่จะเข้าเทกโอเวอร์ประชาธิปัตย์อยู่เนืองๆ

แรงกระเพื่อมก่อตัวหนักขึ้น เมื่อ วิทยา แก้วภราดัย ลูกหม้อ ปชป. อดีตแกนนำ กปปส.และอดีต​สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่ได้ออกมาถล่มพวกนักการเมืองที่กระสันการเลือกตั้ง กลืนน้ำลายที่เคยบอกว่าไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ รัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจ

การกระทบกระทั่งของ “ลิ้นกับฟัน” ตั้งเค้าบานปลาย หากปล่อยไว้ย่อมไม่เป็นผลดีกับทั้งสองฝั่ง จนนำมาสู่การเคลียร์ใจ ระงับรอยร้าวไม่ให้ขยายวงจนถึงขั้นแตกหัก

พร้อมการตกผลึกนำมาสู่จุดยืนเบื้องต้นที่ ถาวร เสนเนียม อดีตรองเลขาธิการพรรคและแกนนำ กปปส. ที่ประกาศชัดว่าจะสนับสนุน อภิสิทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

อย่างไรก็ตาม จะเรียกว่าเป็นการกลับมาซบ ปชป.ก็ไม่ถูกต้องนัก เพราะแกนนำ กปปส.ทั้งหมดก็ยังเป็นสมาชิกพรรคไม่เคยลาออก มีเพียงแค่บางคนที่ไปบวชในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลทำให้ความเป็นสมาชิกพรรคหายไป

แต่ละคนจึงเสมือนสวมหมวกสองใบทั้ง กปปส.และ ปชป.​อยู่ที่ว่าจะเลือกเคลื่อนไหวในเวทีใด

หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้และกำลังเร่งจัดทำกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง โดยเฉพาะ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรค การเมือง ซึ่งใกล้​ออกมาบังคับใช้แล้วนั้น ทำให้ กปปส.ถึงเวลาต้องตัดสินใจ

เมื่อกติกาชัดเจนแล้วว่าไม่สามารถลงเลือกตั้งแบบอิสระได้ต้องสังกัดพรรคการเมืองเท่านั้น แกนนำ กปปส.ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอดีต สส.ภาคใต้ จึงไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากกลับมาสวมเสื้อประชาธิปัตย์ลงสนามเลือกตั้ง เพราะหากไปลงพรรคอื่นหรือตั้งพรรคใหม่ก็คงเป็นเรื่องยาก

ปัญหาอยู่ที่การกลับมาของ กปปส. ไม่ใช่ว่าจะเข้ากับ ปชป.เดิมได้ง่ายๆ เพราะความระหองระแหงที่ก่อตัวมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ย่อมยากจะทำให้สนิทใจกันได้

ยังไม่รวมกับข้อกังขาเรื่องการจะเข้ามาเทกโอเวอร์พรรคเขี่ยอภิสิทธิ์พ้นเก้าอี้หัวหน้าพรรค อาศัยช่วงที่ต้องปรับเปลี่ยนผู้บริหาร และผลักดันคนอื่นขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคสู้ศึกเลือกตั้ง

ล่าสุด เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษกกลุ่ม กปปส.ยังแทงกั๊กว่า กปปส.จะสนับสนุนให้อภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรคต่อไปหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องของอนาคต

รอยร้าวระหว่าง กปปส.​และ ปชป. จึงอาจเหมือนกับน้ำมันที่แม้จะมาผสมรวมกันแต่ก็ยากจะเข้ากันได้อย่างสนิทใจ