posttoday

เปิดโมเดลสปท. ‘สัญญาประชาคม’ปรองดอง

31 พฤษภาคม 2560

คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองสปท.เสนอรายงานผลการศึกษาเรื่อง “ข้อเสนอการปฏิรูปการเมืองเพื่อเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติ”

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้เสนอรายงานผลการศึกษาเรื่อง “ข้อเสนอการปฏิรูปการเมืองเพื่อเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติ” ต่อที่ประชุม สปท. โดยมีเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับการสร้างความปรองดองผ่านการทำสัญญาประชาคมดังนี้

การสร้างความรู้รักสามัคคีของคนในชาติให้มีมาตรการการป้องกันความขัดแย้งในอนาคตและแก้ปัญหาโดยสันติวิธี ต้องดำเนินการให้มีการทำ “สัญญาประชาคม” ร่วมกันของพี่น้องประชาชนทุกหมู่เหล่า เพื่อให้เกิดความปรองดองกับคนในชาติ

สัญญาประชาคม (Social Contract) เป็นทฤษฎีการเมืองเก่าแก่ที่ถือว่าสังคมการเมืองเกิดจากการทำสัญญาหรือข้อตกลงร่วมกัน ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยปริยาย จะเป็นทางการหรือไม่ก็ตาม ที่ผู้มีส่วนร่วมเกี่ยวข้อง เช่น ประชาชนกับรัฐให้การยินยอม (Consent) เพื่อให้ตนเองหลุดพ้นมาจากการตกอยู่ในสภาวะธรรมชาติ (State of Nature) โดยร่วมกันก่อตั้งประชาคมการเมืองที่มีกฎหมาย มีหลักความยุติธรรม และมีหลักศีลธรรมขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของประชาชนกับรัฐบาล โดยการอ้างถึงสิทธิในการรักษาความปลอดภัยของตนเองเป็นหลัก

สำหรับเนื้อหาสาระที่จะทำเป็นสัญญาประชาคมในสถานการณ์ปัจจุบัน ควรคำนึงถึงข้อตกลงที่ประชาชนและรัฐที่มีต่อสาธารณชนทั่วไป ตามแนวทางประกอบด้วย

1.ประชาชนตกลงร่วมกันดำรง จงรักภักดี และรักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และจะน้อมนำศาสตร์พระราชา

2.ประกอบอาชีพด้วยความสุจริต มีความพอเพียง มีความขยันหมั่นเพียร มีคุณธรรม จริยธรรม มีระเบียบวินัย มีไมตรีจิตต่อกัน ไม่เบียดเบียนกัน ไม่ทำผิดกฎหมาย และจะปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด

3.การให้มีการสนับสนุนและร่วมมือกับรัฐ ในการทำให้สังคมและเศรษฐกิจดีขึ้น

4.จะร่วมมือกันในการทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ไม่กระทำการใดอันเป็นความ ขัดแย้งหรือสร้างความแตกแยกในมวลหมู่ประชาชน

5.จะสนับสนุนและร่วมมือให้เกิดการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม จะยอมรับผลการเลือกตั้ง โดยเป็นนักการเมืองที่ดี ไม่ทุจริตประพฤติมิชอบ มีคุณธรรม จริยธรรม และจะไม่เสนอแนวนโยบายที่สร้างปัญหาและภาระให้กับงบประมาณแผ่นดิน อันจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชนทั้งประเทศ

6.จะให้ความร่วมมือสนับสนุนรัฐในการปกป้องและรักษาไว้ซึ่งทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งไม่บุกรุกป่าสงวนและที่ดินของรัฐ เว้นแต่เป็นที่ดินที่รัฐจัดให้

7.จะไม่กระทำการใดที่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น

นอกเหนือไปจากการทำสัญญาประชาคมแล้ว ควรมีมาตรการในการดำเนินการต่างๆ ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการลดความรุนแรงทางการเมือง อาทิ ควรมีการเฝ้าระวังสถานการณ์ระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า หรือการปะทะรุนแรงระหว่างฝ่ายประชาชนกับประชาชน หรือกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง และเมื่อเกิดสัญญาณความขัดแย้งในทางการเมือง สร้างสำนึกและความตระหนักถึงการใช้เสรีภาพส่วนบุคคลให้มีความรับผิดชอบ

ในการควบคุมฝูงชน ให้ใช้วิจารณญาณในการปฏิบัติต่อสถานการณ์อย่างรอบคอบ เน้นใช้การเจรจา ปฏิบัติตามกฎการปะทะตามหลักสากลอย่างเคร่งครัด และไม่ใช้อาวุธร้ายแรงในการแก้ปัญหาการชุมนุมของฝูงชน

ขณะเดียวกันควรมีมาตรการป้องกันมิให้เกิดต้นตอหรือปัจจัยเริ่มต้นของปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ได้แก่ การทุจริตคอร์รัปชั่นหรือความผิดต่อความมั่นคง ที่เป็นสาเหตุให้ประชาชนต้องออกมาต่อต้านหรือขับไล่

นอกจากนี้ ให้ยึดหลักแนวทางการแก้ปัญหาความขัดแย้งในทางการเมืองด้วยการใช้กระบวนการทางรัฐสภา และกระบวนการยุติธรรม โดยหากมีปัญหาในประเด็นสำคัญของประเทศที่จำเป็นต้องใช้ความเห็นของคนส่วนใหญ่ของประเทศเพื่อหาข้อยุติอย่างการใช้การทำประชามติ เพื่อให้ประชาชนในประเทศส่วนใหญ่มีส่วนร่วมและเป็นผู้ตัดสินใจ