posttoday

หมดหวังแก้น้ำท่วม

27 พฤษภาคม 2560

ปัญหาน้ำท่วมกับกรุงเทพมหานครกลายเป็นของคู่กัน จนเชื่อแน่ว่า คงไม่มีรัฐบาลชุดไหน หรือผู้ว่าฯ กทม.คนใด

ปัญหาน้ำท่วมกับกรุงเทพมหานครกลายเป็นของคู่กัน จนเชื่อแน่ว่า คงไม่มีรัฐบาลชุดไหน หรือผู้ว่าฯ กทม.คนใด ที่สามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ นอกจากใช้วาทกรรมแก้ปัญหาว่า น้ำไม่ท่วมแล้วเพราะมีแต่น้ำรอระบาย หรือการกล่าวขออภัยที่เตรียมตัวไม่ทัน เพราะไม่คาดคิดว่าฝนจะตกมากมายขนาดนี้

การเปลี่ยนผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ โดยอาศัยคำสั่งหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ที่ให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร พ้นจากตำแหน่ง แล้วให้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าฯ กทม. ขึ้นมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. ดูเหมือนจะไม่ได้ช่วยให้การแก้ปัญหาน้ำท่วมดีขึ้นดังที่ พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้ว่าฯ กทม. ประกาศปลายปีที่แล้วว่า “กทม.ยุคผู้ว่าฯ อัศวิน จะไม่มีน้ำรอระบายแล้ว จะมีแต่น้ำเร่งระบาย” เพราะแค่เริ่มต้นฤดูฝนไม่ถึงสองสัปดาห์ คนกรุงก็ต้องขวัญผวาจากปัญหาน้ำท่วมจนไม่สามารถเดินทางไปทำงานได้

ว่าไปแล้วการแก้ปัญหาน้ำท่วมในปัจจุบันเป็นเรื่องยากถ้าไม่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง ทำได้ก็แค่ปะผุ จัดการหน้างานตามสถานการณ์ กทม.พยายามชี้แจงให้คนกรุงทำใจว่า ฝนตกหนักเมื่อไร ก็ท่วมเมื่อนั้น แต่จะพยายามระบายน้ำให้เร็วที่สุด พร้อมยก 4 เหตุผลหลัก ประกอบด้วย 1.หลายพื้นที่ที่เป็นจุดอ่อนน้ำท่วมขัง 20 กว่าจุด เช่น ถนนรัชดาภิเษก ถนนงามวงศ์วาน เป็นแอ่งกระทะ 2.ปัญหาคนทิ้งขยะลงคูคลองจนขวางทางน้ำไหล 3.ท่อระบายน้ำใน กทม.ส่วนใหญ่ค่อนข้างเล็ก 4.ฝนตกมากเกิน 4 ชั่วโมง ก็ต้องรอระบายสถานเดียว

ปัจจัยเหล่านี้ยังไม่นับรวมสถานการณ์คับขันหากเกิดพายุหนักและมีน้ำท่วมจากน้ำเหนือไหลหลากลงมาในปริมาณมาก หรือน้ำทะเลหนุนเข้ามาสมทบ เมื่อนั้น กทม.ก็อยู่ในภาวะจมบาดาล

การจะแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างถาวร ดูจะยากยิ่งหากไม่ย้ายเมืองหลวง เพราะการจัดการผังเมืองในกรุงเทพมหานครที่ผ่านมาไม่เป็นระบบ ปล่อยให้ต่างคนต่างสร้างจนขวางทางน้ำไหล ขณะที่ กทม.ได้เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง การก่อสร้างเป็นไปอย่างสะเปะสะปะ คอนโดมิเนียมรอบรถไฟฟ้า หมู่บ้านจัดสรรถูกผุดขึ้นจำนวนมาก และถมที่ดินสูง สร้างกำแพงป้องกันน้ำท่วมที่ดินตนเอง จนทำให้พื้นที่โดยรอบได้รับผลกระทบเพราะกลายเป็นแก้มลิง

ทั้งหมดหากจะแก้ปัญหาต้องปฏิรูปและรื้อสร้างทางน้ำไหลใต้ดินใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องยากเพราะกระทบกับที่ดินเอกชน และการจราจรที่จะติดอย่างวินาศสันตะโร อย่าลืมว่า กทม.ยังมีโครงการสร้างรถไฟฟ้าที่เตรียมอยู่ในปลายปีนี้อีกหลายสาย คนกรุงจึงไร้ความหวังกับการแก้ปัญหาน้ำท่วม นอกจากรอโครงการเฉพาะหน้า เช่น การสร้างอุโมงค์ยักษ์ที่คลองบางซื่อ ซึ่งปัจจุบันยังล่าช้ากว่ากำหนดและคงเปิดใช้ไม่ทันในเดือน ส.ค.นี้ หรือการสร้างอุโมงค์ยักษ์ที่อื่นอีกตามแผน

ขณะเดียวกัน กทม.ยังมีโครงการปรับปรุงขยายท่อระบายน้ำให้กว้างขึ้น แต่กว่าจะเริ่มได้ก็ในปี 2561 ใน 11 ถนนที่เป็นจุดอ่อนของการระบายน้ำ เช่น ถนนอโศก สุขุมวิท แต่ก็เป็นระยะทางเพียง 200 กม. เทียบไม่ได้กับความยาวท่อระบายน้ำทั้งหมด 6,300 กม.

คนกรุงนอกจากอยู่ในสภาพทำใจ แต่ก็ขอให้ กทม.ในยุค คสช. และตำรวจ ทำงานเชิงรุกให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะการแจ้งเตือนที่ต้องมีประสิทธิภาพว่าจะเกิดฝนตกเมื่อไร และพื้นที่ไหนน้ำท่วมขัง การจราจรสาหัส จะได้เตรียมพร้อมได้ถูกในสถานการณ์คับขัน