posttoday

ม.44 ระยะเปลี่ยนผ่าน ความเด็ดขาดที่น่าสะพรึง

26 พฤษภาคม 2560

ประเทศไทยประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มากว่า 1 เดือนแล้ว สิ่งหนึ่งที่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด คือ การใช้อำนาจมาตรา 44 น้อยลง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ประเทศไทยประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มากว่า 1 เดือนแล้ว สิ่งหนึ่งที่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด คือ การใช้อำนาจมาตรา 44 น้อยลงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

อย่างที่ทราบกันดีว่าแม้ปัจจุบันประเทศไทยจะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร แต่ในรัฐธรรมนูญก็ยังออกแบบให้ คสช.ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่เพียงเท่านี้ คสช. ยังคงมีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ตามเดิม

กล่าวคือ คสช.เคยมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 อย่างไร รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ยังให้ คสช.มีอำนาจตามนั้น นั่นหมายถึงการยังให้ คสช.สามารถใช้อำนาจมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวตามเดิม

แต่กระนั้นถึงจะมีอำนาจเด็ดขาดตามเดิม แต่ระยะหลังมานี้ พล.อ.ประยุทธ์ เบามือในการใช้อำนาจมาตรา 44 พอสมควร จนกระทั่งล่าสุดมีความเคลื่อนไหวจาก ครม.ว่าอาจ ใช้อำนาจมาตรา 44 เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การบริหารราชการแผ่นดิน ในด้านเศรษฐกิจ

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ที่ประชุม คสช.เห็นชอบออกคำสั่งหัวหน้า คสช. โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 เพื่อส่งเสริมโครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (อีอีซี) ใน 3 เรื่อง

1.การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยอนุมัติให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ดำเนินการได้ทันที โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการขึ้นมาพิจารณา โดยไม่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนเดิม พร้อมกันนี้ยังกำหนดให้พิจารณา EIA แล้วเสร็จภายใน 1 ปี

2.ให้คณะกรรมการนโยบายโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ อนุมัติการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) โดยไม่ต้องเป็นไปตามกฎหมายร่วมทุนปกติ ซึ่งจะช่วยให้สามารถลดเวลาลงได้

3.ยกเว้นให้บริษัทต่างชาติสามารถทำกิจการซ่อมบำรุงอากาศยานได้ โดยไม่ต้องยึดถือกฎหมายเดิม

แต่ละประเด็นที่ คสช.ได้ดำเนินการลงไปนั้น โดยเฉพาะกรณีการใช้ทางลัดเพื่อลดขั้นตอนการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม นับว่ามีความละเอียดอ่อนพอสมควร เนื่องจากต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญที่ผ่านการออกเสียงประชามติอย่างเป็นทางการแล้ว ย่อมเท่ากับว่าการดำเนินการใดๆ ของรัฐก็ควรเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

พลิกดูรัฐธรรมนูญ มาตรา 58 ได้กำหนดเรื่องการป้องกันไม่ให้สิ่งแวดล้อมได้รับผลกระทบเพราะการดำเนินการของรัฐเอาไว้อย่างเข้มงวด

“การดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ ถ้าการนั้นอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง

รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟัง ความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้อง ก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ”

การงัดเอามาตรา 44 เพื่อใช้กรณีนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการใช้อำนาจ ที่ย้อนแย้งกันเองกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เสมือนหนึ่งว่า คสช.จะใช้มาตรา 44 สวนทางกับสิ่งที่รัฐธรรมนูญบัญญัติอย่างเห็นได้ชัด

ความชอบธรรมในการใช้อำนาจ อาจไม่มีปัญหา เพราะถึงอย่างไรอำนาจมาตรา 44 ก็อยู่ภายใต้การตรวจสอบ แต่ในด้านความถูกต้องของการใช้อำนาจแล้ว ยังคงเป็นคำถามตัวโตๆ ว่าสิ่งที่ คสช.ทำอยู่นี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่

ทั้งนี้ เพราะการลดขั้นตอน การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ย่อมกระทบผู้มีส่วนได้เสียจำนวนมาก ประกอบกับรัฐธรรมนูญก็ออกแบบเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชน แต่เมื่อ คสช.ดำเนินการเช่นนี้ จึงไม่ต่างอะไรกับการลดทอนอำนาจประชาชน ซึ่งเป็นผู้ออกเสียงประชามติเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560

มาถึงจุดนี้ คสช.กำลังเดินมาถึงทางตันที่สำคัญ อันเป็นลักษณะที่กลับตัวไม่ได้ ให้เดินต่อไปก็ไปไม่ถึง

คสช.กำลังใช้ทุกช่องทางเพื่อสร้างผลงานให้กับตัวเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานด้านเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับ คสช. หลังจากผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนหลายสำนัก แม้จะสนับสนุนรัฐบาล แต่ก็ไม่ค่อยพอใจการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเท่าไรนัก

แต่ก็เป็นประเด็นที่น่าคิดไม่น้อยว่าการหักด้ามพร้าด้วยเข่าเช่นนี้คุ้มค่าหรือไม่