posttoday

ระเบิดป่วนเมือง กัดเซาะ ‘จุดแข็ง’ คสช.

24 พฤษภาคม 2560

ท้าทายวันครบรอบ 3 ปีรัฐประหาร ของคสช. ด้วยเหตุระเบิดไปป์บอมบ์ซุกอยู่ในแจกัน ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ท้าทายวันครบรอบ 3 ปีรัฐประหาร ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ด้วยเหตุระเบิดไปป์บอมบ์ซุกอยู่ในแจกัน ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งความรุนแรงส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ 25 ราย ท่ามกลางเสียงประณามรุนแรงกับการก่อเหตุ​ในสถานพยาบาลที่ผิดศีลธรรมและหลักปฏิบัติสากล

ไม่เพียงแค่ “ดิสเดรดิต” คสช.ตลอดจนหน่วยงานด้านความมั่นคงที่ไม่อาจสกัดเหตุรุนแรงที่เกิดถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้นในระยะหลัง เหตุที่เกิดขึ้นยังค่อยๆ กัดเซาะความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาล คสช. มากขึ้นเรื่อยๆ

ต้องยอมรับว่างานด้าน “ความมั่นคง” ถือเป็น “จุดแข็ง” ของรัฐบาล คสช.ด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในมือ ตลอดจนการวางกลไก​บูรณาการแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามารวมไว้ด้วยกันเพื่อความสะดวกและคล่องตัว อันจะช่วยให้​การดำเนินการเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด

ดังจะเห็นว่าหลังรัฐประหาร เหตุการณ์ความไม่สงบค่อยๆ ลดจำนวนลงเรื่อยๆ ​จากที่เคยเกิดเหตุการณ์อย่างต่อเนื่องก่อนหน้านั้น จนนับเป็นหนึ่งในผลงานที่ประชาชนพออกพอใจกับการคืนความสงบให้สังคม​

แต่จุดแข็งดังกล่าวกลับถูกท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ระเบิดลูกแรกที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สยามสแควร์ เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2558 ที่ครั้งนั้นสร้างความปั่นป่วนและหวาดระแวงให้กับสังคมอย่างมาก

นอกจากไม่อาจติดตามตัวคนผิดมาดำเนินคดี หรือสืบสาวหาที่มาที่ไปของระเบิดรอบนั้นได้แล้ว ยังมีเหตุการณ์รุนแรงต่อเนื่องตามมาเรื่อยๆ จนทำให้ความเชื่อมั่นต่อหน่วยงานความมั่นคงและรัฐบาลลดลงอย่างรุนแรง

ยิ่งรอบนี้เหตุการณ์ความรุนแรงเกิดแบบต่อเนื่องและดูเหมือนจะตั้งใจท้าทายอำนาจรัฐ​ด้วยแล้ว ยิ่งไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล คสช.ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

ข้อมูลที่มีมากสุดจากเหตุระเบิดโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า คือ ความเชื่อมโยงกับเหตุระเบิดหน้ากองสลากฯเก่า วันที่ 5 เม.ย. ระเบิดหน้าโรงละครแห่งชาติ วันที่ 18 พ.ค​. และระเบิดครั้งนี้วันที่ 22 พ.ค. ​ที่สะท้อนให้เห็นถึงช่องโหว่ในการรับมือและป้องปรามสถานการณ์ความรุนแรง

ที่สำคัญจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่อาจสรุปฟันธงได้ว่าเป็นฝีมือของใครและหวังผลอะไรกันแน่ และหากปล่อยไว้ไม่เร่งทำความจริงให้ปรากฏย่อมมีแต่จะฉุดความเชื่อมั่น คสช.​มากขึ้น

เบื้องต้นด้านหนึ่งมองว่าความรุนแรงที่เกิดรอบนี้เป็นเพราะตั้งใจจะท้าทายอำนาจ ดิสเครดิต คสช.จับสัญญาณได้จากเหตุระเบิดครั้งล่าสุดที่เกิดเหตุ ณ ห้องวงษ์สุวรรณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ​จนถูกตีความว่าผู้ก่อเหตุตั้งใจท้าทาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลด้านความมั่นคง

ซ้ำเติมสถานการณ์ที่รัฐบาลกำลังสะบักสะบอมจากมรสุมรุมเร้ารอบด้าน และล่าสุดกับปมปัญหาที่ถูกถล่มว่าไม่มีผลงาน ยิ่งในโอกาสครบ 3 ปี คสช.ที่ทำให้สังคมเริ่มหันมาพูดถึงเรื่องนี้มากขึ้น จนคะแนนนิยมและความเชื่อมั่นที่สะท้อนผ่านผลโพลค่อยๆ ลดลง

การทำลายความเชื่อมั่นและคะแนนนิยมของรัฐบาล คสช. ในช่วงนี้ จึงในความพยายาม​ “ตัดตอน” สกัดแผนนายกรัฐมนตรีคนนอก ​ที่เริ่มได้ยินเสียงสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ต่ออีกสมัยหลังการเลือกตั้งเพื่อความต่อเนื่องและสานต่อภารกิจปรองดองและปฏิรูปให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

อีกด้านหนึ่งมองว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นอาจเป็นแผนของภาครัฐเองที่หวังสร้างสถานการณ์ความปั่นป่วน เพื่อให้รู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยและแสดงให้เห็นว่ายังมีกลุ่มคอยก่อกวนสร้างความไม่สงบ จนอาจหยิบยกมาเป็นข้ออ้างอยู่ในอำนาจเพื่อสะสางสถานการณ์ให้เรียบร้อยปลอดภัย ก่อนจะเดินหน้าจัดการเลือกตั้งต่อไป

หรืออย่างน้อยก็เป็นเหตุผลที่จะดึงเวลา ไม่รีบปล่อยให้พรรคการเมือง หรือประชาชนทั่วไปสามารถออกมาเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ เพื่อเตรียมพร้อมเดินหน้าเข้าโหมดเลือกตั้ง

ดังจะเห็นว่าเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้เป็นที่เรียบร้อย ทางฝั่งการเมืองก็เริ่มออกมาขยับเรียกร้องให้ปลดล็อกให้สามารถเคลื่อนไหว ทำกิจกรรม เตรียมพร้อมสำหรับการคืนสนามการเมือง แต่ทาง คสช. ยังส่งสัญญาณแบ่งรับแบ่งสู้ไม่รีบออกมาปลดล็อกในเร็วๆ นี้

แม้แต่ประเด็นเรื่องจะเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้หรือไม่นั้น ก็ยังไม่อาจตัดประเด็นใดประเด็นหนึ่งออกไปได้ เพราะเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในระยะหลังนั้น ดูจะไม่มีคำตอบ หรือที่มาที่ไปว่าเป็นฝีมือของกลุ่มใด

แต่ไม่ว่าจะเป็นฝีมือของกลุ่มใดหรือหวังผลอะไรก็ตาม ตราบใดที่รัฐบาล คสช.ยังไม่อาจหาทางสกัดป้องปรามความรุนแรงไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคตได้ นี่ย่อมจะเพิ่มแรงกดดันที่ย้อนกลับมาทำลายความเชื่อมั่น คสช.ที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ