posttoday

ก้าวสู่ปีที่ 4 คสช. เส้นทางวิบาก สาหัส และเปราะบาง

23 พฤษภาคม 2560

ครบรอบ 3 ปีของคสช. กับภารกิจที่ขันอาสาพาประเทศก้าวพ้นหล่มความขัดแย้ง พร้อมกับปฏิบัติการ “คืนความสุข”ให้แก่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ทว่าผลลัพธ์ที่ออกมาดูจะยังไม่เข้าเป้า​​

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ครบรอบ 3 ปีของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับภารกิจที่ขันอาสาพาประเทศก้าวพ้นหล่มความขัดแย้ง พร้อมกับปฏิบัติการ “คืนความสุข” ให้แก่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ทว่าผลลัพธ์ที่ออกมาดูจะยังไม่เข้าเป้า​​

ล่าสุด ผลสำรวจ “นิด้าโพล” เรื่อง “3 ปี คสช.กับการคืนความสุขให้คนในชาติ” ประชาชนส่วนใหญ่ ​42% มีความสุขเท่าเดิม  32.64%  ระบุว่ามีความสุขเพิ่มขึ้น และ 21.76% ระบุว่ามีความสุขลดลง เพราะปัญหาปากท้องแย่ลง ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ ขาดความมั่นคงทางประชาธิปไตย

หากพิจารณาเทียบกับผลการสำรวจ  2 ปี คสช. เมื่อเดือน พ.ค. 2559 พบว่าสัดส่วนของผู้ที่มีความสุขเพิ่มขึ้น ​ลดลงจากเดิม 37.68% เป็น 32.64% เช่นเดียวกับสัดส่วนของผู้ที่มีความสุขเท่าเดิมมีสัดส่วนลดลงจากเดิม 43.28% เป็น 42% และสัดส่วนของผู้ที่มีความสุขลดลงเพิ่มขึ้นจากเดิม ​18.24% เป็น 21.76%

สอดรับไปกับความเชื่อมั่นในรัฐบาล คสช.ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากผลงานที่ยังไม่เข้าตาและปัญหาที่รุมเร้าเพิ่มเติมต่อเนื่องจนสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาล คสช.

ส่งผลให้เส้นทางตามโรดแมป คสช.นับจากนี้ต่อไป​อาจไม่ราบเรียบอย่างที่คาดหวัง แต่ต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคนานัปการท่ามกลางความเชื่อมั่นของประชาชนที่ลดน้อยลงไป ซึ่งมีแต่จะยิ่งฉุดให้สถานการณ์โดยรวมย่ำแย่หนักมากขึ้น

ที่สำคัญการบริหารประเทศในช่วงก้าวสู่ปีที่ 4 ของ คสช.และแม่น้ำสายต่างๆ ล้วนแต่ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายมากมายหลายเรื่อง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะรับมือ

เริ่มตั้งแต่เรื่องแรกปัญหาเศรษฐกิจที่ถือเป็น “จุดอ่อน” ของรัฐบาล คสช.มาตั้งแต่แรก ​แม้จะพยายามกู้วิกฤต อัดฉีดเงินเข้าระบบ ผลักดันโครงการขนาดกลาง ขนาดใหญ่ เพื่อเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ แต่ผล ที่ออกมาก็ยังไม่เข้าเป้าอย่างที่ต้องการ

ทั้งปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ขณะที่ค่าแรงราคาพืชผลทางเกษตรตกต่ำฉุดให้ปัญหาเศรษฐกิจ​หนักขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น และย้อนกลับมาเป็นแรงกดดันรัฐบาล คสช. ที่รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องใน 3 ปีที่ผ่านมา

ดังจะเห็นจาก​นิด้าโพลที่ระบุว่า ปัจจัยเรื่องปัญหาปากท้องค่าครองชีพนั้นมีผลต่อความสุขของประชาชน

ไม่ต่างจาก “ดุสิตโพล” ที่ประชาชนส่วนใหญ่ฝากคำแนะนำข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กับการก้าวเข้าสู่ปีที่ 4 เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลประกอบการตัดสินใจของรัฐบาล ในการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพและตรงตามความต้องการของประชาชนมากยิ่งขึ้น

ข้อมูลทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่าจาก 10 เรื่อง ที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยสร้างความมั่นใจ อันดับที่ 1 คือ กระตุ้นเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน และอันดับ 2 แก้ปัญหาปากท้องของประชาชน ดังนั้นปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจจึงยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขให้เกิดผลลัพธ์ที่จับต้องได้อย่างรวดเร็ว

เรื่องที่สองการเตรียมความพร้อมสู่การเลือกตั้ง ซึ่งเป็นอีกงานหินของ คสช. แม้ทุกอย่างเหมือนจะเดินหน้าไปตามกรอบที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 แต่ในรายละเอียดปลีกย่อยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะทำให้กฎกติกาที่ออกมาเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และทำให้ทุกอย่างเดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่น

​ไล่เรียงมาตั้งแต่บรรดากฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับ ที่เริ่มต้นออกตัวไปแล้วนั้น เวลานี้ก็เริ่มมีเสียงทักท้วงไม่เห็นด้วยในบางแง่มุม โดยเฉพาะ กับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งตัวแทนจากพรรคการเมืองออกมาสะท้อนปัญหา ไม่เห็นด้วยในหลายประเด็น ที่จะนำไปสู่การถกเถียงกันอีกมาก และอาจเป็นชนวนไปสู่ความวุ่นวายในอนาคตได้

ยิ่งภายหลังจากมี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคคการเมืองและ คสช.ต้องเริ่มต้นพิจารณาผ่อนคลายคำสั่ง ​คสช. ให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมและเคลื่อนไหวได้ ซึ่งจะนำมาสู่แรงกระเพื่อมที่มากขึ้นหลังจากปิดกั้นการเคลื่อนไหวมานาน รวมทั้งอาจมีกลุ่มไม่หวังดีจ้องใช้โอกาสนี้ในการสร้างสถานการณ์

เรื่องสุดท้าย ทั้งเรื่อง “ปรองดอง” และ “ปฏิรูป” ที่เป็นงานหิน ซึ่งผ่านมา 3 ปียังไม่เห็นความคืบหน้าแบบเป็น รูปธรรมจับต้องได้ มีเพียงแค่การศึกษาวางแนวทางที่สรุปออกมาเป็นรายงานหลายเล่มแต่ยังไม่นำไปสู่การปฏิบัติ การขยับทั้งสองเรื่องนี้ต้องยอมรับว่าจะนำไปสู่แรงกระเพื่อมไม่มากก็น้อย ขึ้นอยู่ว่าจะเดินหน้าไปในแนวทางไหน

เส้นทางในปีที่ 4 ของ คสช. จึงดูยากลำบาก และหนักหนาสาหัสกว่าสามปีที่ผ่านมา ขึ้นอยู่กับ คสช. ว่าจะเตรียมตัวรับมืออย่างไร