posttoday

สะท้อนกม.ดักฟัง ประโยชน์เพื่อใคร

19 พฤษภาคม 2560

เมื่อปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา การประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่สตช. เสนอ โดยมีเรื่องการดักฟังเป็นไฮไลต์สำคัญ

โดย...เอกชัย จั่นทอง

เมื่อปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่...) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เป็นผู้เสนอ โดยมีเรื่องการดักฟังเป็นไฮไลต์สำคัญ ขณะเดียวกันหลายคนเกิดความหวาดวิตกกังวลใจถึงข้อจำกัดกฎหมายฉบับนี้ว่าเข้าข่ายละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่ ซึ่งนั่นอาจเกิดปัญหาตามมาได้ในอนาคต

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แจงร่างกฎหมายดักฟังเข้าถึงข้อมูลว่า เนื่องจากตำรวจเป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย การได้มาซึ่งพยานหลักฐานเพื่อใช้ดำเนินคดีกับผู้ที่อยู่ในเบื้องหลัง
คดีสำคัญ ถือว่ากฎหมายดักฟังมีประโยชน์อย่างมาก การดำเนินการดังกล่าวจะต้องเข้าข่ายคดี 4 กลุ่มเท่านั้น ประกอบด้วย คดีก่อการร้าย คดีที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมข้ามชาติ คดีความมั่นคง และคดีอาชญากรรมที่มีความซับซ้อนที่มีอายุความตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป

ตัวอย่างเช่น เวลาตำรวจจับยาเสพติดส่วนใหญ่จะได้ผู้ต้องหาแต่รายย่อย ส่วนหัวหน้าขบวนการหรือตัวการใหญ่จะไม่แตะยาเสพติดไม่แตะเงิน ถ้าหากตำรวจมีวิธีการให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐานไปสู่การดำเนินคดีกับขบวนการค้ายาเสพติดเหล่านี้ได้ก็ถือว่ามีความจำเป็นต่อการใช้กฎหมายดักฟัง

พ.ต.อ.กฤษณะ ฉายภาพให้เข้าใจมากขึ้นว่า ระยะเวลาเพียงแค่ต้นปีที่ผ่านมา ตำรวจสามารถจับยาเสพติดได้กว่า 15 ล้านเม็ด แต่ไม่สามารถดำเนินการถึงผู้บงการใหญ่ได้เลย เพราะตัวการใหญ่มีวิธีการซับซ้อน อำพราง ซ่อนเร้น แต่ถ้าตำรวจรู้ว่าขบวนการค้ายาเสพติดใช้การติดสื่อสารรูปแบบใด อาจทำให้ตำรวจได้พยานหลักฐานทั้งข้อมูลการโทร การแชตพูดคุย จะทำให้ตำรวจติดตามถึงขบวนการค้ายาเสพติดรายใหญ่ได้

“ยืนยันการดำเนินการต่างๆ ได้คำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก เพราะในการขออนุญาตดักฟังพนักงานสอบสวนไม่สามารถดำเนินการขออนุญาตเองได้ ต้องทำเรื่องถึงระดับผู้บังคับการ (พล.ต.ต.) ขึ้นไปเพื่อนำเรื่องไปยื่นต่อศาล และให้ศาลเป็นผู้พิจารณาอีกชั้นว่าจะอนุญาตหรือไม่ เช่น กรณีตำรวจขอดักฟัง 10 วัน แต่ศาลอนุญาต 5 วัน ฯลฯ หรือศาลไม่อนุญาตให้ดักฟังก็ได้ เพราะศาลไม่ได้อนุญาตตามที่ตำรวจขอทุกครั้งจึงเป็นการถ่วงดุลอำนาจอยู่แล้ว” รองโฆษก สตช. กล่าวย้ำเคารพเรื่องสิทธิมนุษยชน

ขณะที่ รศ.คณาธิป ทองรวีวงศ์  คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น มองการใช้พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่...) เรื่องการดักฟัง ว่า เนื้อหาของกฎหมายฉบับนี้มีลักษณะทำนองเดียวกันกับกฎหมายอื่นๆ อีกหลายฉบับที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ดักฟัง และได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสาร เช่น พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 มาตรา 25 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2519 มาตรา 14

กระนั้นก็ตาม การดำเนินการเกี่ยวกับการดักฟังดักข้อมูลต้องชั่งน้ำหนักสำคัญจากประเด็นเหล่านี้ โดย รศ.คณาธิป อธิบายเป็นข้อๆ อย่างชัดเจนว่า 1.ต้องคำนึงเรื่องความผิด ควรระบุให้เฉพาะเจาะจงชัดเจนว่ามีความผิดข้อหาใด สำคัญขนาดไหนถึงจำเป็นต้องดักฟังดัก

2.ตัวบุคคลต้องระบุอย่างเฉพาะเจาะจงว่าบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมายของการดักข้อมูลคือใคร นั่นอาจกว้างเกินไป และคัดแยกบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องออก 3.มาตรการดักฟังต้องเฉพาะเจาะจง ว่าจะทำอย่างไรและควรใช้วิธีการสืบสวนในรูปแบบอื่นก่อน ให้เลือกใช้การดักข้อมูลเป็นขั้นตอนท้ายๆ 

ถัดมา 4.เงื่อนไขการดักฟังต้องระบุชัดเจนและเฉพาะเจาะจง เพื่อป้องกันเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจไปในทางมิชอบและใช้ตามอำเภอใจ 5.ต้องกำหนดระยะเวลาการดักฟัง ปริมาณข้อมูลที่ชัดเจน 6.เจ้าหน้าที่ต้องเผยแพร่ขั้นตอนและวิธีการดักฟังข้อมูลต่อสาธารณะ และ 7.ต้องมีมาตรการคุ้มครองการหลุดรั่วของข้อมูลที่อาจสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ เพราะประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่จะมาคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ส่วนนี้ถือว่าน่ากังวลมาก

 “หากกฎหมายระบุหลักเกณฑ์กว้างเกินไป เรื่องการใช้อำนาจโดยมิชอบเกินความสมควรถือว่าสุ่มเสี่ยงนำไปใช้ในทางที่ผิด แต่ถ้ามีการกำหนดเกณฑ์เฉพาะเจาะจงชัดเจนในการดำเนินการต่างๆ จะสามารถลดปัญหาการถูกนำไปใช้เป็นเครื่องทางการเมืองหรือใช้เกินอำนาจขอบเขตโดยมิชอบได้” รศ.คณาธิป ให้ทัศนะ 

 รศ.คณาธิป ระบุอีกว่า สำหรับเรื่องการอ้างประโยชน์สาธารณะมีหลายอย่าง แต่สิ่งที่น่ากลัวคือสิทธิของประชาชนจะถูกกลืนสูญหายไปโดยการอ้างประโยชน์สาธารณะ ซึ่งคำว่า “ประโยชน์สาธารณะ” คืออะไรกันแน่!! ต้องแยกกันว่าประโยชน์เป็นของประชาชนโดยร่วม หรือประโยชน์ต่อความมั่นคงของรัฐบาล ความจริงแล้วประโยชน์ความมั่นคงของรัฐบาลต้องอยู่หลังประโยชน์ของประชาชน

เช่นเดียวกับ อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ให้ความเห็นว่า อยากให้มีการเผยแพร่ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบรายละเอียด โดยส่วนตัวยังไม่เห็นร่างเช่นกัน และสิ่งที่กังวลคือเรื่องของการตีความหมายเป็นไปอย่างไร รวมถึงการเขียนกฎหมายกว้างขนาดไหน

 “ยังสงสัยอยู่ว่าคดีซับซ้อน หมายถึงคดีประเภทใดบ้าง อยากให้นิยามให้ชัดเจน รวมถึงเหตุผลกรณีใดบ้างที่จะเข้าไปดำเนินการดักฟังข้อมูล  อย่างในห้วงเวลาปกติคดีอาชญากรรมซับซ้อนก็สามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว  แล้วใครจะรักษาความลับของบุคคลนั้นๆ ได้แค่ไหน สมมติว่าคนทำผิดโทรหาเรา แต่เราไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องจะทำอย่างไร ดังนั้นต้องคุ้มครองคนเหล่านี้ด้วย” กรรมการสิทธิมนุษยชน ระบุ