posttoday

จับตามาตรา 44 คืนชีพสร้างทางปฏิรูป

16 พฤษภาคม 2560

นับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 อย่างเป็นทางการตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 เม.ย. ทำให้การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เงียบหายไปอยู่พักใหญ่

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

นับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 อย่างเป็นทางการตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 เม.ย. ก็ทำให้การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เงียบหายไปอยู่พักใหญ่

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าแม้ปัจจุบันจะมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้ว แต่อำนาจพิเศษของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังคงมีอยู่เหมือนเดิมทุกประการ โดยผลของมาตรา 265 ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

“ให้ คสช.ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่

ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้หัวหน้า คสช.และ คสช.ยังคงมีหน้าที่และอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2558 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2559 และให้ถือว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจของหัวหน้า คสช.และ คสช.ยังคงมีผลใช้บังคับได้ต่อไป” เนื้อหาของมาตรา 265

ทั้งนี้ ปัจจุบันการใช้อำนาจพิเศษดังกล่าวของ คสช.เริ่มไม่ปรากฏให้เห็นมากนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเมื่อรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดที่กำหนดกระบวนการและโครงสร้างทางการเมืองเอาไว้แล้ว หากมีการใช้มาตรา 44 ในภาวะเช่นนี้ อาจทำให้เกิดการใช้กฎหมายแบบย้อนแย้งกันเองได้

ทว่า ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ต้องการให้หัวหน้า คสช.ใช้มาตรา 44 อย่างมีนัยสำคัญอีกครั้ง

สปท.มีความประสงค์ให้ คสช.ใช้มาตรา 44 เพื่อผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปจำนวน 36 ฉบับ อาทิ กฎหมายเสริมสร้างวัฒนธรรมการเมืองในระบอบประชาธิปไตย กฎหมายการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม กฎหมายบริหารจัดการสุขภาพ กฎหมายจัดตั้งธนาคารที่ดิน กฎหมายว่าด้วยระบบงบประมาณและการคลัง กฎหมายการศึกษาแห่งชาติ กฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาตลอดชีวิต และกฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ทั้งนี้ ในส่วนวาระการปฏิรูป 27 วาระนั้น ก็มีการปฏิรูปเศรษฐกิจฐานราก การปฏิรูประบบงบประมาณ การปฏิรูปกลไกภาครัฐเพื่อเสริมสร้าง ธรรมาภิบาล เศรษฐกิจดิจิทัล และการปฏิรูปสื่อมวลชน

การพยายามให้ใช้กฎหมายพิเศษเพื่อการปฏิรูป ในมุมของ สปท.ไม่ต้องการเผชิญกับแรงต้านเหมือนที่ผ่านมา ดังจะเห็นได้จากกรณีของร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่ง สปท.เจอกับแรงกดดันอย่างหนัก

สปท.จึงเห็นว่าหาก สปท.ใช้วิธีการปฏิรูปแบบเดิม จะส่งผลให้การทำงานไม่คืบหน้า เพราะระหว่างทางจะเจอ กับกระแสต่อต้านตลอดเหมือนกับกฎหมายปฏิรูปสื่อ ทางที่ดีควรโยน ทุกอย่างให้ คสช.ดำเนินการด้วยการใช้อำนาจพิเศษ

อย่างน้อย คสช.มีเกราะสำหรับแรงปะทะจากฝ่ายตรงข้ามได้ดีกว่า สปท.

ขณะเดียวกัน ต้องไม่ลืมว่าเวลาของ สปท.เหลือน้อยลงไปทุกขณะ กล่าวคือ สนช.กำลังพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ มีความสำคัญตรงที่เมื่อไหร่ที่มีการประกาศบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ จะมีผลให้ สปท.ทุกคนต้องพ้นจากตำแหน่งทันที

ด้วยเวลาที่บีบคั้นเช่นนี้ ทำให้ สปท.จำเป็นต้องหาวิธีการเพื่อให้ผลงานตัวเองออกมา จึงต้องหันหน้าพึ่ง คสช.ให้ใช้อำนาจดังกล่าว มิเช่นนั้น สปท.ย่อมต้องถูกครหาว่า ตั้งมาเสียของและไม่มีผลงาน

อย่างไรก็ตาม การโยนเผือกร้อนไปให้ คสช.ดำเนินการไม่ใช่เรื่องง่าย ที่แค่พลิกฝ่ามือแล้วจะทำได้เลย เนื่องจากปัจจุบันการจัดทำกฎหมายของประเทศต้องอยู่ภายใต้มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

“ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว...” สาระสำคัญของมาตรา 77

ดังนั้น หาก คสช.ใช้อำนาจพิเศษเพื่อออกกฎหมายตามที่ สปท.เสนอ นอกจากต้องเจอเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ยังต้องเผชิญกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญด้วย เพราะไม่มีทางเป็นไปได้ที่การใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จจะทำให้กฎหมายที่ออกมาเป็นไปตามเงื่อนไขของมาตรา 77

ทั้งหมดเป็นทางเลือกที่ คสช.ต้องชั่งน้ำหนักให้ดีระหว่างการอยากสร้างผลงานกับความถูกต้องในการทำงาน