posttoday

ระเบิดลูกใหญ่ใส่ภท.บิ๊กมท.ถวายฎีกา-ไม่สนมาร์ค

13 กันยายน 2553

ศึกโยกย้ายแต่งตั้งในกระทรวงมหาดไทยที่ระอุมาหลายสัปดาห์

ศึกโยกย้ายแต่งตั้งในกระทรวงมหาดไทยที่ระอุมาหลายสัปดาห์

โดย...ทีมข่าวการเมือง

ศึกโยกย้ายแต่งตั้งในกระทรวงมหาดไทยที่ระอุมาหลายสัปดาห์ วันนี้ได้ขยายผลเป็นการเปิดศึกระหว่างข้าราชการและอดีตสิงห์คลองหลอด ที่ประกาศไม่ยอมคนใหญ่ในพรรคภูมิใจไทยแล้ว เพื่อต้องการกู้ศักดิ์ศรีที่ถูกย่ำยีกลับคืนมา

ระเบิดลูกใหญ่ใส่ภท.บิ๊กมท.ถวายฎีกา-ไม่สนมาร์ค

การทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาคัดค้านการตั้ง “มงคล สุระสัจจะ” อธิบดีกรมการปกครอง(ปค.) เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทยของสมาคมข้าราชการบำนาญกระทรวงมหาดไทย สะท้อนถึงปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายที่ขาดหลักเกณฑ์ ขาดคุณธรรมมากที่สุดในรัฐบาลอภิสิทธิ์

กระทรวงมหาดไทยในยุคภูมิใจไทย นับว่ามีภาพลักษณ์ตกต่ำที่สุด จากข้อครหามากมายหลายเรื่อง ทั้งข่าวความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างหลายโครงการ การบริหารงบท้องถิ่นหลายหมื่นล้าน

โดยเฉพาะปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการกระทรวงมหาดไทย เป็นจุดด่างดำเนื่องจาก คนดังบุรีรัมย์ เป็นเงาคุม “ชวรัตน์ ชาญวีรกูล” รมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยอยู่ คอยแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้าย โดยผลักดันข้าราชการที่ใกล้ชิด ยึดหัวหาดในตำแหน่งสำคัญ เพื่อเร่งขยายอาณาจักรทางการเมืองของตน

ความไม่โปร่งใส ละเมิดหลักเกณฑ์ในการคัดคนเข้าสู่ตำแหน่ง เห็นได้จากการที่คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) มีมติให้กระทรวงยกเลิกการแต่งตั้งนายอำเภอ41 คน เพราะมีปัญหาเรื่องการข้ามอาวุโสและคุณสมบัติไม่เหมาะสม

ล่าสุดกรณีการแต่งตั้งปลัดกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีอีก 3 กรม เมื่อเดือนที่ผ่านมา ล้วนแต่มีข้อกังขาว่าเป็น “ใบสั่ง” จากนักการเมืองใหญ่แห่งบุรีรัมย์ทั้งสิ้น

หลายคนที่ได้รับการแต่งตั้งส่วนใหญ่เติบโตมาจากพื้นที่อีสานใต้ ไม่ว่า บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สุรินทร์ หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นสิงห์แดงจบจากคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เช่นเดียวกับ“ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ประธานคณะทำงาน รมว.มหาดไทย น้องชาย “เนวิน ชิดชอบ”

แต่ปัญหาที่มากกว่านั้นคือการข้ามลำดับอาวุโสซึ่งเป็นเรื่องที่ยากจะยอมรับสำหรับกระทรวงที่ตั้งมาเป็นร้อยปี โดยเฉพาะการแต่งตั้ง มงคล สุระสัจจะ อธิบดี ปค. ขึ้นเป็นปลัดมหาดไทย แทน มานิต วัฒนเสน ที่จะเกษียณปลายเดือนนี้ เป็นประเด็นที่ภูมิใจไทยถูกโจมตีมากที่สุด

เพราะมีการเหาะข้ามหัวเพื่อนรุ่นพี่ถึง54 คน ไม่ว่าจะเป็น จาดุร อภิชาตบุตร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย วงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย พระนาย สุวรรณรัฐ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ฯลฯ

“มงคล” เคยดำรงตำแหน่ง ผวจ.บุรีรัมย์ เพียง 11 เดือน ก่อนขึ้นมาเป็นอธิบดีกรมพัฒนาชุมชน (พช.) และอธิบดี ปค. รวม 2 กรมภายในเวลา 11 เดือน ก่อนที่ถูกเสนอชื่อเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทยคนล่าสุด
ขณะที่คนอื่นๆ ที่ถูกวิจารณ์ว่านั่งรถด่วนบุรีรัมย์ และมีข้อกังขาเรื่องคุณสมบัติที่ไม่เหมาะไม่แพ้กัน อาทิ ขวัญชัย วงศ์นิติกร ที่พ้นจากรองปลัดกระทรวง เป็นอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) วิเชียร ชวลิต พ้นจากอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นอธิบดี ปค. สุรชัย ขันอาสา พ้นจาก ผวจ.สมุทรปราการเป็นอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.)

ปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการของกระทรวงมหาดไทย ทำให้ สว.สายอดีตข้าราชการคลองหลอด อาทิ กฤช อาทิตย์แก้ว ดิเรก ถึงฝั่ง รวมถึงสมาคมข้าราชการบำนาญกระทรวงมหาดไทย นำโดย “พงศ์โพยมวาศภูติ” “ไพโรจน์ พรหมสาส์น” ออกมาวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมว่า เป็นการทำลายธรรมเนียมปฏิบัติเรื่องลำดับอาวุโส เหมือนให้ เณรมาเป็นสมภารวัด พร้อมทั้งเรียกร้องให้ “อภิสิทธิ์” เข้าไปดูแลแก้ไข ในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุดในฝ่ายบริหาร และในฐานะประธานสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)

แต่สิ่งที่อภิสิทธิ์ทำได้กลับเป็นแค่เพียงการตอบอ้อมๆ แอ้มๆ ครั้งแล้วครั้งเล่าว่า ไม่สามารถแทรกแซงการบริหารงานบุคคลของแต่ละกระทรวงได้ เพราะถือเป็นดุลพินิจของเจ้ากระทรวง จนทำให้สมาคมข้าราชการบำนาญฯ หมดที่พึ่ง ต้องหาทางออกสุดท้ายด้วยการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อคัดค้านการแต่งตั้ง “มงคล” เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทยคนใหม่

ขณะที่ “วงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์” ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยได้ยื่นเรื่องต่อ ก.พ.ค. เพื่อให้ทบทวนเรื่องการแต่งตั้งมงคล และการโยกย้ายข้าราชการในกระทรวงทั้งหมด

การทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า 1.แม้ว่านายกฯ อภิสิทธิ์ จะมีภาพลักษณ์ดีแค่ไหน แต่นายกฯ ก็ไม่สามารถเป็นที่พึ่งความหวังให้กับข้าราชการที่ถูกกลั่นแกล้ง ด้วยเหตุที่ตลอดปีที่ผ่านมามีเรื่องฉาวโฉ่ในกระทรวงมหาดไทย “อภิสิทธิ์” ทำได้แค่รับรายงานแล้วเท่านั้นไม่สามารถแก้ปัญหาให้ถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาลที่ควรเป็น

2.สะท้อนว่าพรรคประชาธิปัตย์ที่มี 175 เสียง ไม่สามารถต่อรองกับภูมิใจไทยที่มี 58 เสียงได้ ต้องยอมให้ภูมิใจไทยขี่คอกินรวบตลอดแม้ในช่วงนี้ที่อภิสิทธิ์มีภาวะผู้นำมากกว่าที่ผ่านมา ไม่จำเป็นต้องพึ่งการสนับสนุนจากภูมิใจไทย แต่เพียงเพราะกลัวเสียอำนาจรัฐ จึงจำเป็นต้องยอมให้ภูมิใจไทยทำในสิ่งที่กระทบต่อความรู้สึกประชาชน และละเมิดหลักการความถูกต้อง

การทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาที่เกิดขึ้นจึงเป็นการตอกหน้าอภิสิทธิ์อย่างจัง เพราะผู้ที่ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาล้วนแล้วแต่มีประวัติ ผลงาน มีต้นทุนทางสังคม แต่อภิสิทธิ์กลับไม่ตอบสนองเข้าไปดูแลปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายที่ฉาวโฉ่ในมหาดไทย พงศ์โพยม อดีตปลัดมหาดไทย ถึงกลับกล่าวอย่างปลงๆ ว่า “รู้สึกผิดหวังกับนายกฯ เพราะจะต้องเป็นผู้ตรวจสอบบุคคลที่จะเสนอให้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งฯ ให้ถูกต้องไม่ใช่เสนอแบบส่งเดช”

พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า “บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา 3 คนได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แล้ว 2 คน คือ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ยกเว้นปลัดกระทรวงมหาดไทยคนใหม่ ขนาด ผบ.ตร. ที่เพิ่งเสนอไปก็ยังได้รับโปรดเกล้าฯ แล้ว”

หากอภิสิทธิ์ยังนิ่งเฉย ไม่ส่งสัญญาณว่าจะเข้าไปแก้ไขเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ทั้งเรื่องการโยกย้ายข้าราชการ รวมถึงข้อกังขาเชิงนโยบาย โดยเฉพาะเรื่องบัตรสมาร์ตการ์ด และปัญหาความไม่โปร่งใสในโครงการเช่าคอมพิวเตอร์ 3,400 ล้านบาท ฯลฯ จุดด่างเหล่านี้ก็จะมาแปดเปื้อนในตัวอภิสิทธิ์มากขึ้น

ศัตรูสำคัญที่จะกัดกร่อนความชอบธรรมของรัฐบาล ไม่ใช่พรรคเพื่อไทย หากแต่เป็นการบริหารงานที่ปล่อยปละละเลย ไม่รับผิดชอบ เกรงใจพรรคร่วมเพื่อรักษาตำแหน่งไว้

ปัญหากระทรวงมหาดไทยในวันนี้จึงปะทะกันระหว่างพรรคที่มีสโลแกน “ปกป้องสถาบัน” กับกลุ่มอดีตบิ๊กมหาดไทย ที่พึ่งสถาบันเพื่อให้ปกป้อง คืนความเป็นธรรม และเรียกศักดิ์ศรีข้าราชการกลับคืนมา