posttoday

ถอดรหัสยุทธศาสตร์ชาติ ต้องสร้างความเข้าใจ

29 เมษายน 2560

นักศึกษาหลักสูตรจิตวิทยาความมั่นคง รุ่น 117 สถาบันจิตวิทยาความมั่นคงจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ เรื่อง “การสร้างความเข้าใจและยอมรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่ออนาคตไทยที่ยั่งยืน”

โดย...วีรวินทร์ ศรีโหมด

เมื่อวันที่ 28 เม.ย.  ที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร  นักศึกษาหลักสูตรจิตวิทยาความมั่นคง รุ่น 117 สถาบันจิตวิทยาความมั่นคง สถาบันวิชาป้องกันประเทศ ได้จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ เรื่อง “การสร้างความเข้าใจและยอมรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่ออนาคตไทยที่ยั่งยืน” เพื่อเป็นเวทีให้วิพากษ์เกี่ยวกับแผนนโยบายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาลจากผู้ทรงคุณวุฒิว่าควรมีรูปแบบหรือทิศทางอย่างไร เพื่อทำให้การเดินหน้าประเทศไทยประสบผลสำเร็จและเดินไปอย่างถูกต้อง

บวร วงศ์สินอุดม  รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการบริหารรัฐวิสาหกิจ ชี้ว่า ระบบการศึกษาเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาบุคลากรของประเทศให้มีคุณภาพ ดังนั้นการทำยุทธศาสตร์ชาติควรต้องทำให้ทุกภาคส่วนเกิดความเข้าใจและเกิดการยอมรับอย่างแท้จริงเสียก่อน เหมือนเรื่องการก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ที่ต้องทำให้สังคมเข้าใจว่าก่อนหน้าที่จะมาเป็นวันนี้ 1.0 2.0 และ 3.0 เป็นมาอย่างไร และควรต้องพัฒนาอย่างไรเพื่อรองรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น

แต่หัวใจสำคัญต้องทำให้เกิดความต่อเนื่องไม่ใช่เปลี่ยนรัฐบาลนโยบายก็เปลี่ยนตาม หากเป็นเช่นนั้นการพัฒนาประเทศจะไม่มีความต่อเนื่อง เพราะในมุมมองภาคธุรกิจอุตสาหกรรมมองว่าหากนโยบายรัฐเปลี่ยน หรือต้องยุติเมื่อถูกทักท้วงทั้งที่รัฐบาลได้วางแผนไว้ล่วงหน้ามาเป็นเวลานาน เช่นนั้นจะทำให้ไม่ได้รับความน่าเชื่อถือจากภาคเอกชน  ฉะนั้นวันนี้หากรัฐจะดำเนินการอะไรควรต้องมีแบบแผนที่ชัดเจน พร้อมกับต้องทำให้เกิดการเชื่อมั่นและยอมรับจากทุกฝ่าย

ขณะที่แนวทางการสร้างความเข้าใจเรื่องยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาลนั้น ทางปฏิบัติต้องทำให้สังคมเข้าใจรายละเอียดของหลักการและเหตุผล เพื่อทำให้เกิดการยอมรับจากสังคมซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก ก่อนที่ทุกฝ่ายจะร่วมมือกันเดินหน้า

“ถ้าหากไม่สามารถสร้างความเข้าใจกับภาคประชาชนเกิดการยอมรับเรื่องนี้ได้  ไม่ว่าจะเขียนอีก 10 แผนยุทธศาสตร์ชาติก็ไม่สามารถเปลี่ยนจากภาคเกษตรไปเป็นอุตสาหกรรม หรือแก้ปัญหาของประเทศได้ ซึ่งวิธีการเดินหน้าประเทศต้องเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปซึ่งต้องใช้เวลา” 

ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้การที่สถานการณ์สังคมโลกมีการเปลี่ยนแปลง โดยพึ่งพาการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ไทยต้องมองว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรเพื่อให้สามารถอยู่ได้ในสถานการณ์โลกขณะนี้ เช่น ตอนนี้ประชาชนยังคงซื้อพลังงานจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยใช้ แต่อีก 5 ปีข้างหน้าต้องคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะสามารถผลิตไฟฟ้าใช้ได้เอง และขายพลังงานให้กับการไฟฟ้าฯ อย่างไร

เนื่องจากส่วนตัวมองว่าเรื่องเทคโนโลยีในอนาคตจะเป็นสิ่งที่สำคัญ และมีบทบาทต่ออุตสาหกรรมของประเทศ เพราะการที่จะนำพาประเทศไปสู่เป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติได้เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้นต้องสร้างความเข้าใจและยอมรับในเรื่องยุทธศาสตร์ชาติกับประชาชนให้ได้ ไปพร้อมกับต้องการกำหนดเป้าหมายอีก 20 ปีข้างหน้าให้ชัดเจน

พล.ร.อ.จุมพล ลุมพิกานนท์ หัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา กองทัพเรือ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติครั้งนี้ของรัฐบาลเป็นการผสมทุกมิติมารวมกันทั้งด้านความมั่งคั่งยั่งยืน เพื่อเป็นเป้าหมายชาติในระยะยาวอีก 20 ปีข้างหน้าว่าจะมีทิศทางอย่างไร

แต่การทำงานในครั้งนี้มองว่าต้องทำให้ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและเดินหน้าไปพร้อมกัน โดยยึดผลประโยชน์ประเทศเป็นหลัก เหมือนเรื่องเรือดำน้ำที่หลายฝ่ายมองว่าจะมีไปทำไม แต่แผนดังกล่าวก่อนที่จะมาถึงวันนี้มีการวางมาเป็นเวลานาน ดังนั้นจากนี้ต้องเดินหน้าสร้างความเข้าใจถึงเหตุผล จากนั้นก็เดินไปด้วยกัน เพราะถ้าหากไม่สามารถสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและทำให้เกิดการยอมรับได้ ก็จะเกิดปัญหาขึ้นในอนาคต

ส่วนวิธีการสร้างความเข้าใจเพื่อให้ลงถึงภาคประชาชนจนเป็นที่ยอมรับ สิ่งแรกต้องให้ความรู้อย่างถูกต้องครบถ้วน แต่ปัญหาที่ผ่านมาบางครั้งเกิดขึ้นจากการให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน จนทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคมมาเป็นเวลานาน ท้ายนี้ยืนยันว่าการทำงานทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องครบถ้วน เพื่อให้เกิดการยอมรับซึ่งกันและกัน โดยเริ่มตั้งแต่ระดับรากหญ้าไปถึงระดับบริหาร

ศ.พิเศษ ยงยุทธ สาระสมบัติ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการบริหารแผ่นดิน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) หนึ่งในคณะทำงานเรื่องนี้อธิบายว่า สาเหตุที่ต้องมีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติขึ้นมาเพื่อต้องการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาของประเทศ เนื่องจากสาเหตุปัญหาต่างๆ เกิดจากขาดความต่อเนื่องเชื่อมโยงในแต่ละหน่วยงานรัฐกับภาคเอกชน ไม่เหมือนกับในต่างประเทศที่มีวางยุทธศาสตร์ชาติเอาไว้มาก่อนหน้านี้

ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่ายุทธศาสตร์ชาติที่เป็นแผนระยะยาว จะทำให้มีปัญหาในอนาคตหรือไม่ ยืนยันว่า ไม่จริง เพราะการยุทธศาสตร์ชาติจะมีการเปลี่ยนแปลงทุก 5 ปี หรือหากเกิดเหตุการณ์อะไรสำคัญต่อประเทศ อย่างเช่น น้ำท่วมใหญ่ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์เหตุฉุกเฉิน  ท้ายนี้เชื่อว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า คนในสังคมไทยเมื่อได้เรียนรู้จากประสบการณ์สถานการณ์ที่เกิดขึ้น จะปรับตัวได้ว่าควรต้องทำอย่างไร