posttoday

กม.พรรคการเมือง นักเลือกตั้งขยาด

25 เมษายน 2560

นับตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมาต้องถือว่าเวลานี้ประเทศไทยเริ่มนับหนึ่งสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลือกตั้ง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

นับตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา ต้องถือว่าเวลานี้ประเทศไทยเริ่มนับหนึ่งสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลือกตั้ง โดยเฉพาะกระบวนการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญจำนวน 10 ฉบับ

ตามขั้นตอนอย่างที่ทราบกันดี คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต้องจัดทำร่างกฎหมายทั้ง 10 ฉบับให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายใน 240 วันนับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญและ สนช.มีเวลาทำให้เสร็จภายใน 60 วันนับตั้งแต่ได้ร่างกฎหมายมาจาก กรธ.

ล่าสุด การทำกฎหมายลูกได้เริ่มต้นบันไดขั้นแรกแล้ว ภายหลัง สนช.มีมติรับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา พร้อมกับตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาในรายละเอียดก่อนส่งให้ สนช.พิจารณาเห็นชอบอีกครั้ง

กฎหมาย กกต.และพรรคการเมืองนับว่ามีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเป็นกฎหมาย 2 ใน 4 ฉบับที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ต้องจัดทำให้แล้วเสร็จ เพื่อจะได้กำหนดวันออกคะแนนเสียงเลือกตั้ง มิเช่นนั้นการเลือกตั้งจะมีขึ้นไม่ได้

ส่วนอีกสองฉบับที่เหลือ คือ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ทาง กรธ.จะเร่งทำเสนอต่อ สนช.ภายหลังกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสองฉบับก่อนหน้านี้ได้รับการพิจารณาโดย สนช.จนเสร็จสิ้น

ด้วยความสำคัญเหล่านี้จึงอย่าได้แปลกใจที่พรรคการเมืองจะให้ความสำคัญกับกฎหมายกลุ่มนี้เป็นพิเศษ โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

การที่พรรคการเมืองค่อนข้างจะเพ่งเล็งไปที่ร่างกฎหมายพรรคการเมืองเป็นพิเศษยิ่งกว่ากลุ่มกฎหมายเลือกตั้งฉบับอื่นๆ เป็นเพราะกฎหมายพรรค การเมืองส่งผลต่อการบริหารจัดการภายในของพรรคการเมืองโดยตรง ผิดกับกฎหมายเลือกตั้ง สส. ที่จะเป็นเพียงกติกาควบคุมการเลือกตั้งไม่ให้เกิดการทุจริตเท่านั้น โดยไม่ได้ล้วงเข้าไปถึงการบริหารภายในของพรรค การเมืองแต่อย่างใด

ประเด็นสำคัญที่พรรคการเมืองแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรค การเมืองออกมาในเวลานี้มีด้วยกัน 3 ประเด็นใหญ่

1.การเก็บค่าสมาชิกพรรคการเมือง ประเด็นนี้ในร่างกฎหมายกำหนดให้ต้องเก็บค่าสมาชิกพรรคเป็นเงิน 100 บาท/ปี พรรคการเมืองเกือบทุกพรรคมองว่าการบัญญัติเช่นนี้ค่อนข้างละเอียดอ่อนพอสมควร

กล่าวคือจำนวนเงิน 100 บาทอาจไม่ใช่ปัญหา แต่สำหรับประชาชนที่มีรายได้น้อยแล้ว เงิน 100 บาทอาจเป็นเรื่องใหญ่สำหรับประชาชนกลุ่มนี้ก็ได้ ดังนั้นบรรดานักการเมืองจึงต่างออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้าน โดยมองว่าจะส่งผลให้ประชาชนไม่สนใจการเมืองและไม่เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองของพรรค

2.การยุบพรรคการเมือง หลายฝ่ายมองว่าไม่ควรมีการยุบพรรค การเมือง เพื่อเป็นการคุ้มครองให้พรรคการเมืองมีความเป็นสถาบันทางการเมือง โดยหากเกิดกรณีที่มีกรรมการบริหารพรรคการเมืองคนใดกระทำความผิดก็ควรลงโทษเป็นการเฉพาะตัวแทน

3.การส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง ร่างกฎหมายพรรคการเมืองกำหนดให้พรรคการเมืองจะต้องมีคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีกำหนดเป็นกฎหมายมาก่อน โดยการส่งผู้สมัครเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จะต้องรับฟังความคิดเห็นจากสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดที่เกี่ยวข้อง

ส่วนการส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อต้องคำนึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่างๆ และความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง แต่หากไม่สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมายจะต้องบอกเหตุผลให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปก่อนวันสมัครรับเลือกตั้ง

นอกเหนือไปจาก 3 ประเด็นดังกล่าวที่นักการเมืองโฟกัสเป็นพิเศษแล้ว อย่างไรก็ดียังมีอีกเรื่องที่สำคัญที่พรรคการเมืองเฝ้าติดตามด้วยใจระทึกเช่นกัน คือ การเซตซีโร่พรรคการเมือง

เดิมทีในขั้นตอนการพิจารณากฎหมายพรรคการเมืองของ กรธ.ก่อนส่งมาให้ สนช.นั้น มีการจับตามองกันว่ากรธ.จะบัญญัติเรื่องการให้พรรค การเมืองในปัจจุบันสิ้นสภาพไปหรือไม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการเสนอแนวความคิดว่าควรต้องเซตซีโร่พรรค การเมืองเพื่อให้ทุกพรรคการเมือง มีความเท่าเทียมกันในการเลือกตั้งในอนาคต

สุดท้าย กรธ.ก็ไม่ได้บัญญัติเรื่องดังกล่าวเอาไว้ โดยให้พรรคการเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบันยังสามารถดำรงความเป็นพรรคการเมืองได้ตามเดิม เพียงแต่ต้องดำเนินการบางประการให้สอดคล้องกับกฎหมายพรรคการเมืองฉบับใหม่เท่านั้น

ทว่าเมื่อร่างกฎหมายตกมาถึง สนช. ทำให้มีการจับตาว่า สนช.ซึ่งอุดมไปด้วยคู่รักคู่แค้นของฝ่ายการเมืองและเป็นฝ่ายที่ลงมติถอดถอนนักการเมืองมาหลายครั้ง จะหยิบเรื่องเซตซีโร่พรรคการเมืองขึ้นมาเป็นประเด็นหรือไม่

จากความขัดแย้งในประเด็นเนื้อหาของร่างกฎหมายพรรค การเมืองที่ค่อนข้างสุดขั้วเช่นนี้ จึงไม่ต่างอะไรกับระเบิดเวลาทางการเมืองที่รอวันปะทุในอนาคตอันใกล้นี้