posttoday

ปลดล็อกการเมือง เดิมพันอันตรายคสช.

17 เมษายน 2560

หลังกฎหมายพรรค การเมืองมีผลบังคับใช้ แรงกดดันย่อมต้องมากขึ้นเรื่อยๆ หากยื้อไว้นานเท่าไหร่ย่อมไม่เป็นผลดี

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ทันทีที่ร่างรัฐธรรมนูญประกาศใช้ นอกจากจะเป็นการนับหนึ่งกลไกต่างๆ ที่จะเริ่มต้นขับเคลื่อนสังคมไปตามโรดแมปที่วางไว้แล้ว อีกด้านหนึ่งยังทำให้เสียงสะท้อนจากภาคการเมืองดังขึ้นเรื่อยๆ เพื่อขอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่อนปรนคำสั่งปลดล็อกให้สามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ตามปกติ

“เราตั้งใจทำให้พรรคเพื่อไทยเป็นสถาบันทางการเมืองที่ทำการเมืองอย่างสร้างสรรค์และสนับสนุนความปรองดองของคนในชาติ จึงจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับกฎหมายทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกที่จะออกตามมา ให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ทันทีที่พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมได้ ก็ต้องเตรียมการจัดทำนโยบายของพรรค รวมถึงเตรียมตัวในเรื่องของผู้สมัครของพรรคที่จะเข้าสู่การเลือกตั้งต่อไปด้วย”นพดล ปัทมะ แกนนำเพื่อไทย กล่าว

ไม่ต่างจากพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค เชื่อว่าการเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง และนักการเมืองจะชัดเจนขึ้น หลังร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองแล้วเสร็จ เพราะขณะนี้ พรรคการเมืองยังคงอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของ คสช. แต่หลังจากนี้ 2-3 เดือนจะเริ่มเห็นถึงความเปลี่ยนแปลง

ทุกอย่างเหมือนจะเป็นไปตามกรอบที่กำหนดไว้ ไล่มาตั้งแต่ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ประกาศว่าจะส่งกฎหมายลูก 2 ฉบับแรก คือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สภานิติบัญญัติ แห่งชาติพิจารณาในวันที่ 18 เม.ย.นี้

อันจะเป็นจุดเริ่มต้นกระบวนการเตรียมความพร้อมของพรรคการเมือง ที่จะเข้าสู่สนามเลือกตั้ง ที่คำนวณคร่าวๆ หากไม่มีอะไรผิดพลาดน่าจะอยู่ในช่วงเดือน ส.ค. 2561

ปัญหาอยู่ที่สถานการณ์เวลานี้ยังเปราะบางจนยากที่ คสช.จะยอมผ่อนปรนให้พรรคการเมืองออกมาเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ มีแต่จะเพิ่มแรงสั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาล คสช.ในช่วงโค้งสุดท้าย

ทั้งในแง่การออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานหรือแนวนโยบายของ คสช.ที่ผ่านมา หรือการเดินหน้าจัดกิจกรรมของกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ ที่จะอาศัยช่องว่างผสมปนเปเข้ามาในช่วงนี้ ยังไม่รวมถึงกลุ่มมือที่สามที่จ้องแต่จะสร้างความปั่นป่วนให้เกิดขึ้น

แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่ คสช.จะยื้อคำสั่ง คสช.ให้มีผลบังคับใช้ต่อไปเรื่อยๆ ได้ เพราะสุดท้ายเมื่อกฎหมายลูกออกมาแล้วก็ต้องเปิดให้พรรคการเมืองไปดำเนินการตามกระบวนการ ทั้งการสรรหาบุคคลมาลงสมัครและคิดนโยบาย ยุทธศาสตร์ ตลอดจนการหาเสียงที่จะเกิดขึ้นไม่เร็วก็ช้า ตามกลไกประชาธิปไตยที่แม่น้ำสายต่างๆ มุ่งหวังให้เกิดการปฏิรูป

สอดรับไปกับโพลล่าสุดของ “สวนดุสิตโพล” ประชาชนส่วนใหญ่ 42.83% เห็นด้วยกับพรรคการเมืองที่ออกมาเรียกร้องให้ คสช.ผ่อนปรนให้พรรคการเมืองไทยสามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้ เพราะเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย อยากเห็นแนวคิด วิสัยทัศน์ เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ แต่ต้องเตรียมพร้อมเข้าสู่การเลือกตั้ง มีเพียง 30.15% ไม่เห็นด้วย ส่วนอีก 27.02% ไม่แน่ใจ

นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ คสช.ต้อง คิดหนัก เพราะล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาส่งสัญญาณชัดเจนผ่านรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

“วันนี้ก็เหมือนเริ่มเหมือนเวทีมวยแล้วนะครับ นักมวยขึ้นเวทีมาแล้ว ปี่กลองก็เริ่มเชิดแล้ว กรรมการก็ยืนอยู่ตรงกลางเวทีแล้ว ปรากฏว่ายังไม่ทันให้สัญญาณครบก็ปรากฏว่านักมวย พี่เลี้ยง ก็เข้ามารุมกรรมการ ก็จะไปชกกันได้ยังไงล่ะ มวยก็ชกกันไม่ได้ ผมยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้ง่ายๆ น่ะครับ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์อย่างอื่น”

พร้อมแจกแจงว่า “การเลือกตั้ง” กับ “การปรองดอง” ที่หลายคนพยายามจะเอามาเกี่ยวพันกันนั้น ส่วนตัวเห็นว่าน่าจะเป็นคนละเรื่องเดียวกัน มันส่งเสริมกันแต่มันไม่ใช่เรื่องเดียวกัน

พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษก คสช. ออกมาขอความร่วมมือไม่ให้มีความเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่มีลักษณะทำให้เกิดความไม่เรียบร้อยในชาติบ้านเมือง

“สถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ แม้ว่าในภาพรวมมีความเรียบร้อย แต่ยังมีคนที่ไม่หวังดีต่อประเทศชาติบ้านเมืองยังมีอยู่ คสช.จึงพยายามระงับยับยั้งไม่ให้พวกคนเหล่านี้ก่อเหตุได้ หากถึงเวลาเหมาะสมสถานการณ์ต่างๆคลี่คลายไปในทิศทางดีขึ้น และเหมาะสมต่อการจัดกิจกรรมทางการเมือง ทางรัฐบาล และ คสช.คงจะพิจารณายกเลิกให้”

ไม่ต่างจาก ปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ที่ระบุว่าหากปล่อยให้เคลื่อนไหวอย่างอิสระมีการโจมตีกันไปมา เกรงว่าจะกลายเป็นความขัดแย้งขึ้นมาอีกได้ รวมถึงการจับอาวุธสงครามที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวน ต้องให้เจ้าหน้าที่สอบสวนให้ชัดเจนก่อน เพราะหากเรื่องต่างๆ ยังไม่ชัดเจนแล้วปล่อยให้ฝ่ายการเมืองออกมาเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ เกรงว่าปัญหาความขัดแย้งจะกลับมาอีก

สัญญาณเหล่านี้ชัดเจนว่าคงไม่ปลดล็อกให้พรรคการเมืองออกมาเคลื่อนไหวได้อิสระในช่วงเวลาอันใกล้นี้แน่ แต่เชื่อว่าหลังกฎหมายพรรค การเมืองมีผลบังคับใช้ แรงกดดันย่อมต้องมากขึ้นเรื่อยๆ หากยื้อไว้นานเท่าไหร่ย่อมไม่เป็นผลดีนี่จึงเป็นโจทย์สำคัญที่ คสช.จะต้องตัดสินใจ