posttoday

บีบแบงก์รัฐอุ้มเศรษฐกิจ ระวังหนี้เสียพุ่ง

13 เมษายน 2560

หนึ่งในแนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐบาลตั้งแต่ต้น คือ การปรับบทบาทของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ

โดย...กนกวรรณ บุญประเสริฐ

หนึ่งในแนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐบาลตั้งแต่ต้น คือ การปรับบทบาทของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ  หรือแบงก์รัฐ ให้ทำงานตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง โดยมีกระทรวงการคลังช่วยสนับสนุนการปรับบทบาทของแบงก์รัฐผ่านการแก้ไขกฎหมายแบงก์รัฐ เพื่อเปิดให้สามารถทำธุรกรรมได้อย่างกว้างขวาง นำไปสู่การปล่อยสินเชื่อเพื่อรองรับความต้องการของประชาชนได้มากขึ้น

ที่ผ่านมาธนาคารรัฐแต่ละแห่งได้มีการแก้ไขกฎหมายจัดตั้งธนาคาร เช่น ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารออมสิน เพื่อให้ธนาคารออมสินสามารถเพิ่มทุนได้จากเงินงบประมาณ หรือจากแหล่งเงินอื่น ซึ่งจะทำให้ธนาคารออมสินสามารถขยายงานตามพันธกิจของธนาคาร หรือตามนโยบายของรัฐบาลได้ เช่น การสนับสนุนสินเชื่อให้ผู้มีรายได้น้อย

ด้าน ธอส.ได้ขอแก้กฎหมายจัดตั้งธนาคารอาคารสงเคราะห์ในหลายเรื่อง เช่น การเปิดให้ ธอส. สามารถบริการสินเชื่อบ้านเพื่อผู้สูงอายุ หรือรีเวิร์ส มอร์เกจ การเปิดให้ธนาคารเพิ่มบริการทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ด้านสินเชื่อ และให้ธนาคารระดมทุนด้วยการออกพันธบัตรและสลากได้ ช่วยในการบริหารสภาพคล่อง ทำหน้าที่ปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้อย่างมั่นคง

ขณะที่การแก้ พ.ร.บ.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2536 ก็เพื่อเปิดทางให้ธนาคารรับประกันในประเทศ สำหรับธุรกิจเพื่อการส่งออกซึ่งเป็นพันธมิตรผลิตสินค้าร่วมกัน ทำให้ผู้ลงทุนมีต้นทุนการทำประกันลดลง รวมทั้งให้อำนาจธนาคารในการรับประกันต่อและรับประกันร่วม หรือเป็นนายหน้ารับประกันที่เกี่ยวข้อง และขยายขอบเขตการรับประกันความเสี่ยงในการลงทุนในต่างประเทศให้แก่ผู้ลงทุนที่ไม่ได้ขอสินเชื่อจากธนาคารได้ด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการขอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. เพื่อให้การค้ำประกันสามารถครอบคลุมถึงการค้ำประกันธุรกรรมที่ลักษณะการให้สินเชื่ออื่น เช่น ลีสซิ่ง แฟกเตอริ่ง รวมถึงนาโนไฟแนนซ์ได้ด้วย ช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น

เมื่อสิ้นปี 2559 แบงก์รัฐทั้งระบบมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่กว่า 4.53 ล้านล้านบาท โดยเชื่อว่าแต่ละปีแบงก์รัฐมีวงเงินปล่อยสินเชื่อหมุนเวียนรวมกันไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท หรืออาจจะมากกว่านั้นได้เกือบเท่าตัว

ขณะที่ปีนี้กระทรวงการคลังตั้งเป้าหมายเศรษฐกิจขยายตัวถึง 4% ซึ่งนอกจากอาศัยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลแล้ว การจะไปถึงเป้าหมาย 4% ได้โดยที่ฐานะการคลังยังมีปัญหาเรื่องการจัดเก็บรายได้นั้น ช่องทางหนึ่งของรัฐบาลจะสามารถอัดฉีดเงินเข้าระบบ จึงมาตกหนักที่แบงก์รัฐ ด้วยการสั่งการทั้งทางตรงและทางอ้อมให้เร่งปล่อยสินเชื่อ

โดยเฉพาะกลุ่มที่รัฐบาลต้องเข้าไปดูแล เพื่อบรรเทาผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวไม่ได้ทุกภาคส่วน และราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ คือ กลุ่มเกษตรกร  ผู้มีรายได้น้อย คนที่ยังหาเช้ากินค่ำ ผู้ประกอบการรายย่อย ที่แบงก์รัฐต้องเข้าไปปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือคนเหล่านี้

ประเด็นคือ การอัดฉีดสินเชื่อให้กับเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย และเอสเอ็มอี เกิดขึ้นในช่วงที่พฤติกรรมผู้บริโภคกำลังเปลี่ยนแปลง จึงทำให้แบงก์รัฐมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลเพิ่มด้วย

ก่อนหน้านี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. เปิดเผยในรายงานสถานการณ์ด้านการคลังปี 2560 เรื่องผลการดำเนินกิจกรรมกึ่งการคลังผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (แบงก์รัฐ) เมื่อสิ้นไตรมาส 3 ปี 2559 พบว่ายอดปล่อยสินเชื่อในโครงการนโยบายรัฐมีทั้งสิ้นกว่า 9.41 แสนล้านบาท แม้จะลดลงจากไตรมาสก่อน 3.93% แต่เอ็นพีแอลกลับเพิ่มขึ้นกว่า 3.31 หมื่นล้านบาท ยอดรวมเอ็นพีแอลคิดเป็นสัดส่วน 3.52% ของยอดสินเชื่อคงค้าง สัดส่วนดังกล่าวสูงขึ้นกว่าเท่าตัว จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่สัดส่วน 1.33% ของยอดเอ็นพีแอล 1.04 หมื่นล้านบาท

หากจับสัญญาณที่ รณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ระบุว่า ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเอ็นพีแอลของธนาคารทั้งระบบจะเริ่มถึงจุดสูงสุดในไตรมาส 2 ของปีนี้หรือไม่ และเริ่มเห็นอัตราการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลเอสเอ็มอีรายเล็กมากขึ้นแล้ว โอกาสที่แบงก์รัฐจะมีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นจากเอสเอ็มอีรายเล็กก็ยิ่งมากขึ้น

ขณะที่ ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ยอมรับว่าผลจากการขยายสินเชื่อทำให้แนวโน้มเอ็นพีแอลปีนี้ปรับตัวสูงขึ้นในทุกกลุ่ม โดยปี 2560 ธนาคารออมสินคาดว่าเอ็นพีแอลจะเพิ่มมาอยู่ที่ 2.27% ของสินเชื่อรวม เพิ่มจาก 2.04% เมื่อสิ้นปี 2559

นอกจากแนวโน้มเอ็นพีแอลแบงก์รัฐที่มีโอกาสสูงขึ้นแล้ว กระทรวงการคลังยังได้แก้ไข พ.ร.บ.การเงินการคลังของรัฐ ให้สามารถตั้งงบชดเชยให้แบงก์รัฐได้ ในกรณีที่ถูกสั่งให้ปล่อยสินเชื่อ

ตามนโยบายรัฐบาล แทนการติดหนี้สะสมเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

หากร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ เมื่อประกอบกับการแทรกแซงทางการเมืองเพื่อให้แบงก์รัฐปล่อยสินเชื่อตามนโยบายแล้ว ก็มีความเสี่ยงที่เอ็นพีแอลจะเพิ่มขึ้นอีก และกลายเป็นภาระการคลังในการจัดงบชดเชยได้ง่ายขึ้น

ในเมื่อรัฐบาลมีเป้าหมายตั้งแต่ต้นที่จะปฏิรูปธนาคารของรัฐ จึงควรแก้ไขกฎหมายแบงก์รัฐแต่ละแห่งให้ปลอดจากการแทรกแซงของการเมืองอย่างแท้จริง และให้ ธปท.ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการกำกับสถาบันการเงินเข้ามาดูแลอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้ธนาคารรัฐสามารถดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์ และไม่เสี่ยงเป็นภาระการคลังซ้ำรอยเดิมอีกด้วย