posttoday

มาตรา 77 กระทบภาครัฐ บรรทัดฐานใหม่ออกกฎหมาย

11 เมษายน 2560

เวลานี้ประเทศไทยกำลังเดินหน้าในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านเพื่อไปสู่การเลือกตั้งในช่วงกลางปีหน้า ภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เวลานี้ประเทศไทยกำลังเดินหน้าในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านเพื่อไปสู่การเลือกตั้งในช่วงกลางปีหน้า ภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560

การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดเมื่อวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา เป็นการชี้ให้คนไทยให้เห็นว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมส่งมอบประเทศผ่านการเลือกตั้งโดยไม่อาศัยอำนาจพิเศษของตัวเองเพื่ออยู่ในตำแหน่งต่อไปแบบไม่มีกำหนด

นอกเหนือไปจากท่าทีของ คสช.ที่พร้อมให้ประเทศสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านแล้ว แม่น้ำสายอื่นๆ ทั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ก็พร้อมเร่งทำงานเพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชนเช่นกัน โดยเฉพาะการปั๊มกฎหมายออกมาเพื่อใช้เป็นรากฐานของการปฏิรูปประเทศ

อย่างไรก็ตาม การทำงานที่ว่านั้นของแม่น้ำ 5 สาย ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะไม่ได้มีแค่แรงเสียดทานทางการเมืองจากภายนอก แต่ยังมีแรงเสียดทานที่มาจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ โดยมีมาตรา 77 เป็นปัจจัยกดดันที่สำคัญ

“รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่างๆ ได้โดยสะดวก และสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง

ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน...” สาระสำคัญของมาตรา 77

ในมุมมองของ “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธาน สนช. เห็นว่ามาตรา 77 ไม่น่าจะสร้างปัญหา เพราะหากกฎหมายใดขาดตกบกพร่อง ก็เติมเนื้อหาให้เต็ม

ถ้าพิจารณาจากเนื้อหาในมาตรา 77 จะก่อให้เกิดอภินิหารทางกฎหมาย 2 ประการที่สำคัญด้วยกัน

1.ผลกระทบต่อร่างกฎหมายที่อยู่ในระหว่างพิจารณาของ สนช. ถ้าเป็นกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของ สนช.ไปแล้วก่อนที่รัฐธรรมนูญจะประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เม.ย. คงไม่ใช่ปัญหา เพราะมาตรา 77 ไม่ได้กำหนดให้มีผลย้อนหลัง แต่สำหรับร่าง พ.ร.บ.ที่กำลังพิจารณาอยู่ใน สนช.จำนวนมากขณะนี้จะมีปัญหาขึ้นมาทันที

กล่าวคือ จะมีประเด็นสำคัญต้องให้พิจารณาว่าร่างกฎหมายที่อยู่ในมือ สนช.ปัจจุบันจำเป็นต้องถอนออกไปเพื่อเอาเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 หรือไม่

ในกรณีนี้ถ้าตีความอย่างเคร่งครัดแล้ว ก็จำเป็นต้องถอนออกไปทั้งหมดเพื่อให้หน่วยงานรัฐที่เสนอกฎหมายมาให้ สนช.ต้องเอากลับไปแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 77

หรือหากจะตีความแบบไม่เคร่งครัด ก็มองได้ว่าก่อนที่ สนช.จะพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายที่ภายหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ จะต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมตามมาตรา 77 โดย สนช.เป็นเจ้าภาพ แต่ย่อมสุ่มเสี่ยงว่าการทำเช่นนั้นของ สนช.จะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ต่อไปในระยะยาว

2.ผลกระทบต่อการเสนอของหน่วยงานภาครัฐ นอกเหนือไปจากปัญหาของร่างกฎหมายที่อยู่ในมือของ สนช.แล้ว ปัญหาของการเสนอร่างกฎหมายของหน่วยงานรัฐให้ สนช.ก็เป็นประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กัน

เนื่องด้วยเจตนารมณ์ของมาตรา 77 ย่อมต้องการให้หน่วยงานรัฐดำเนินการสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้กฎหมายที่หน่วยงานรัฐนั้นเสนอ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่มีความละเอียดอ่อน และอาจจำเป็นต้องออกกฎหมายเพื่อกำหนดวิธีการดำเนินการตามมาตรา 77 ให้เป็นกิจจะลักษณะ เพื่อให้มีบรรทัดฐานในการดำเนินการที่ถูกต้อง

กลไกของมาตรา 77 แน่นอนว่าย่อมเป็นคุณต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบ แต่สำหรับภาครัฐแล้วถือว่าเป็นแรงกดดันไม่ต่างกัน

ต้องไม่ลืมว่าการออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้กับประชาชนตลอด 2 ปีมานี้ ขาดกระบวนการการมีส่วนร่วมจากประชาชนไปพอสมควร เนื่องจากเป็นการทำงานในช่วงสถานการณ์พิเศษ ทำให้กฎหมายที่ออกมาก่อนหน้านี้มีปัญหา และเจอกับกระแสความไม่พอใจจากประชาชนพอสมควร

จึงเป็นปัญหาว่าหน่วยงานภาครัฐอาจปรับไม่ทันกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ทั้งนี้ กระบวนการของมาตรา 77 มีการกำหนดขั้นตอนที่ค่อนข้างมาก ไม่ใช่แค่ให้ขนเอกสารร่างกฎหมายมาให้ สนช.อย่างเดียว เพราะการดำเนินการที่ว่านั้นตามมาตรา 77 จำเป็นต้องใช้เวลาอยู่ไม่น้อย

ที่สุดแล้วการปฏิบัติตามมาตรา 77 ก็คงไม่ใช่ปัญหาในสถานการณ์ปกติ แต่ปัจจุบันเป็นสถานการณ์พิเศษที่ คสช.ต้องเร่งปฏิรูปและเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลือกตั้งตามที่ได้ให้สัญญากับประชาชนเอาไว้

ดังนั้น มาตรา 77 จึงอาจเป็นจระเข้ตัวใหญ่ที่ขวางคลองอยู่ ที่ส่งผลให้ คสช.ไม่สามารถใส่เกียร์ 5 เดินหน้าปั๊มกฎหมายได้ตามความประสงค์ของตัวเอง