posttoday

โรดแมปเลือกตั้ง เหมือนง่ายแต่วิบาก

10 เมษายน 2560

ถ้าจะเรียกว่าประเทศไทยเข้าสู่ศักราชใหม่ทางการเมืองแล้วก็คงไม่ผิดนัก ภายหลังมีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 อย่างเป็นทางการ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ถ้าจะเรียกว่าประเทศไทยเข้าสู่ศักราชใหม่ทางการเมืองแล้วก็คงไม่ผิดนัก ภายหลังมีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 อย่างเป็นทางการ

ต้องยอมรับกว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 จนถึงทุกวันนี้ได้ค่อนข้างมีเส้นทางวิบากพอสมควร เพราะต้องมีการตั้งคณะผู้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญถึงสองชุด

ชุดแรกชื่อว่า “คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ” นำทีมโดย “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณะ กมธ.ยกร่างฯ ในเวลานั้นอุดมไปด้วยบุคคลระดับมันสมองของประเทศทั้งในด้านกฎหมาย เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง จนสามารถจัดทำร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 285 มาตราออกมาเป็นผลสำเร็จ

การเขียนรัฐธรรมนูญในสมัยบวรศักดิ์ ต้องฝ่าดงหนามแห่งความขัดแย้งมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนกันเองอย่างสมาชิก สปช. โดย สปช.มีอำนาจถ่วงคณะ กมธ.ยกร่างฯ พอสมควร เพราะร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านคณะ กมธ.ยกร่างฯ แล้วจะต้องมาให้ที่ประชุม สปช.ลงมติให้ความเห็นชอบ

ผลพวงจากความขัดแย้งและการงัดข้อระหว่าง “กมธ.ยกร่างฯ-สปช.” ทำให้ สปช.ลงมติไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 6 ก.ย. สร้างความบอบช้ำให้กับบวรศักดิ์และคณะอย่างแสนสาหัส

จากนั้น คสช.ก็เริ่มกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญรอบที่สอง พร้อมกับคณะบุคคลขึ้นมาทำหน้าที่อีกครั้ง โดยใช้ชื่อ “คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ” หรือ กรธ. ซึ่งถือเป็นการกลับมาอยู่เบื้องหน้าในการร่างรัฐธรรมนูญของ “มีชัย ฤชุพันธุ์” หลังจากทำหน้าที่เป็นกุนซือยกร่างรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2534

การกลับมาของมีชัย ทำให้ความขัดแย้งในหมู่แม่น้ำ 5 สายเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญค่อยๆ หายไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ กรธ.ไม่ได้ถ่วงดุลจากฝ่ายนิติบัญญัติทั้งจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เนื่องจาก กรธ.ไม่ต้องเสนอร่างรัฐธรรมนูญให้กับสภา มีเพียงแค่ศึกใหญ่ศึกเดียวที่ กรธ.ต้องเผชิญ คือ การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ด้วยความเก๋าเกมทางการเมืองของมีชัย และแรงสนับสนุนจาก คสช. จึงมีส่วนช่วยให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงผ่านประชามติได้อย่างสวยสมกับความตั้งใจของ กรธ.

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ประเทศไทยกำลังเดินเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านในช่วงปลายอำนาจของ คสช. ซึ่งภารกิจต่อจากนี้ คือ การจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ จำนวน 10 ฉบับ

ศึกใหญ่อีกศึกหนึ่งอย่างการเขียนกฎหมายลูก ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นงานยากของ กรธ.อีกหนึ่งงาน เพราะแม้แต่ประธาน กรธ.ก็ยังออกมายอมรับเช่นนั้น

“เมื่อวันที่ 6 เม.ย.เป็นวันที่มีความสุขและโล่งใจก็ว่าได้ เพราะได้ทำงานด้วยความเหนื่อยยากมามาก พอถึงผลสำเร็จพวกเราทุกคนก็ดีใจ แม้จะมีบางคนไม่ค่อยดีใจกับพวกเราเท่าไหร่ ก็ไม่เป็นไร

จากนี้ไปเหลือภาระที่ต้องทำในวันข้างหน้า คือ ต้องทำกฎหมายให้แล้วเสร็จตามเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ เป็นภูเขาอีกลูกที่ต้องเราต้องพยายามยกออกจากอกให้ได้ตามเวลาที่กำหนด” มีชัย กล่าวเปิดใจกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 7 เม.ย.

อ่านความในใจของมีชัยและพลิกดูเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ก็พบว่าสร้างความหนักอกให้กับมีชัยอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำหนดให้ กรธ.ต้องส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญให้กับ สนช.ภายใน 240 วันนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ สนช.มีเวลาพิจารณาต่อให้เสร็จภายใน 60 วัน

การทำงานของ สนช.ในส่วนนี้มีอำนาจและสิทธิเด็ดขาดในการแก้ไขเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวในฐานะองค์กรผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ แต่หาก กรธ. ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระแล้วแต่กรณี ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขเนื้อหาของ สนช. จะต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 11 คน

คณะกรรมาธิการวิสามัญมีหน้าที่ในการแก้ไขและส่งมาให้ สนช.ดูอีกครั้ง หาก สนช.มติเห็นชอบทุกอย่างก็จบ การเมืองจะเดินหน้าสู่การเลือกตั้งต่อไป แต่หากไม่เป็นเช่นนั้นเพราะเกิดเหตุที่ สนช.มีมติสองในสามไม่เห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ไข จะมีผลให้ร่างกฎหมายดังกล่าวตกไปทันที

กรณีที่ร่างกฎหมายต้องมาตกไปในขั้นตอนนี้ นำมาซึ่งสุญญากาศในกระบวนการเปลี่ยนผ่านขึ้นมาทันที

กล่าวคือ เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ไม่ได้บอกว่าให้องค์กรที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องต้องทำอย่างไรต่อไป โดยมีมุมมองทางกฎหมายในหลายแง่มุม

แง่มุมหนึ่งเห็นว่าเป็นหน้าที่ของ กรธ.ที่ต้องทำร่างกฎหมายเสนอเข้ามา สนช. แต่บางมุมก็มองว่า กรธ.มีหน้าที่ดังกล่าวเฉพาะภายใน 240 วันแรกหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้เท่านั้น พ้นจากนั้นไปแล้วจะไม่ใช่ธุระของ กรธ.

หรือบางมุมก็เห็นว่าควรเป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีหรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องเสนอร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญตามกระบวนการตามปกติ แต่ในเรื่องความถูกต้องทางกฎหมายยังคงเป็นปัญหาอยู่ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนเช่นนั้น

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าแม้รัฐธรรมนูญจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการแล้ว แต่ปัญหาและอุปสรรคระหว่างกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลือกตั้งนั้นไม่ได้โรยด้วยกุหลาบอย่างที่คิด เพราะนอกจากปัญหาที่รอให้แก้ไขแล้ว ยังมีความขัดแย้งทางการเมืองที่คอยกัดเซาะเสถียรภาพทางการเมืองอีกด้วย