posttoday

สัมพันธ์ จีน-อินเดีย ระอุ เมื่อมังกรเลื้อยลง....เอเซียใต้

09 กันยายน 2553

ดีกรีความร้อนแรงของสายสัมพันธ์ระหว่างสองชาติมหาอำนาจแห่งเอเชียอย่างจีนและอินเดีย กลับต้องเดือดปะทุขึ้นมาอีกครั้งทันทีที่นายกรัฐมนตรี มันโมฮัน ซิงห์ แห่งอินเดีย ออกโรงเตือนว่า จีนกำลังเร่งแผ่ขยายอิทธิพลและต้องการจะสร้างฐานที่มั่นในภูมิภาคเอเชียใต้ พร้อมกับให้เตรียมรับมือ

ดีกรีความร้อนแรงของสายสัมพันธ์ระหว่างสองชาติมหาอำนาจแห่งเอเชียอย่างจีนและอินเดีย กลับต้องเดือดปะทุขึ้นมาอีกครั้งทันทีที่นายกรัฐมนตรี มันโมฮัน ซิงห์ แห่งอินเดีย ออกโรงเตือนว่า จีนกำลังเร่งแผ่ขยายอิทธิพลและต้องการจะสร้างฐานที่มั่นในภูมิภาคเอเชียใต้ พร้อมกับให้เตรียมรับมือ

 

สัมพันธ์ จีน-อินเดีย ระอุ เมื่อมังกรเลื้อยลง....เอเซียใต้

“เราจำเป็นจะต้องสะท้อนความจริงและระมัดระวังในเรื่องนี้ เป็นที่ปรากฏว่าจีนกำลังเตรียมการรุกรานครั้งใหม่ ซึ่งยากหากจะบอกว่าจีนจะรุกไปทางไหน ทั้งนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องเตรียมตัว” หนังสือพิมพ์ เดอะไทม์ ออฟ อินเดีย รายงานอ้างถ้อยแถลงของผู้นำ การออกโรงเตือนของผู้นำอินเดียด้วยตนเองในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงรอยร้าวฝังลึกในความสัมพันธ์ของทั้งจีนและอินเดีย ซึ่งตลอดเส้นทางเต็มไปด้วยความระหองระแหงและความหวาดระแวง รวมทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงความวิตกกังวลของอินเดียที่เกรงว่าจะสูญเสียเอเชียใต้อาณาบริเวณซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของตนไป

ถึงแม้ว่าความขัดแย้งในรูปแบบของสงครามระหว่างจีนกับอินเดียจะสิ้นสุดลงไปตั้งแต่ปี ค.ศ. 1962 ทว่าปัญหากรณีพิพาทพรมแดนกว่า 3,500 กิโลเมตร ของทั้งสองประเทศ ตลอดจนบทบาทของรัฐบาลอินเดียที่ให้ที่ลี้ภัยแก่องค์ดาไล ลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบต รวมทั้งการให้ความสนับสนุนต่อปากีสถานของรัฐบาลจีนก็ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญที่คอยฉุดรั้งให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติมหาอำนาจต้องเสื่อมทรามลงอยู่เสมอ

นักวิเคราะห์หลายฝ่ายประเมินว่า กรณีพิพาทดินแดนบริเวณแถบเทือกเขาหิมาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าปกครองพื้นที่บริเวณรัฐอรุณาจัลประเทศ ของอินเดีย และพื้นที่อักสาย ชิน ของจีน คือหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างชัดเจน และตรงไปตรงมาของนายกรัฐมนตรีอินเดีย ซึ่งไม่พอใจท่าทีของรัฐบาลจีนในเรื่องดังกล่าว

ศรีกัณฑ์ คณฑาปัลลิ ประธานศูนย์เอเชียตะวันออกศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยเยาวหราล เนห์รู ระบุว่า ตามความเข้าใจของซิงห์นั้น รัฐบาลจีนได้กระทำการอันเป็นการล้ำเส้นและส่งผลกระทบต่ออำนาจอธิปไตย ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ของอินเดีย

นอกเหนือจากกรณีพิพาทดินแดนบริเวณแถบเทือกเขาหิมาลัยแล้ว พฤติกรรมของจีนที่พยายามจะขยายอิทธิพลเข้ามาในภูมิภาคเอเชียใต้ อาณาบริเวณที่อินเดียถือว่าอยู่ภายใต้อิทธิพลของตนมาโดยตลอดนั้น ก็เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยเติมเชื้อไฟให้กับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ

บทบาทการขยายอิทธิพลของจีนเข้ามาในภูมิภาคเอเชียใต้ ไม่ได้ปรากฏชัดแต่เฉพาะการให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ปากีสถานเท่านั้น ทว่ารัฐบาลจีนยังได้สนับสนุนเงินเพื่อก่อสร้างท่าเรือให้กับประเทศในเอเชียใต้หลายประเทศ อาทิ ปากีสถาน ศรีลังกา บังกลาเทศ รวมทั้งพม่าด้วย

ทั้งนี้ แม้ว่าทางรัฐบาลจีนจะพยายามอธิบายเหตุผลของการสร้างท่าเรือดังกล่าวว่า เป็นไปเพื่อประโยชน์ด้านการค้าทางทะเล อย่างไรก็ตามนักวิชาการหลายฝ่ายมองว่า เป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ของจีนที่ต้องการจะแผ่ขยายอำนาจทางทะเลของตน ตลอดจนเข้าประชิดหลังบ้านของอินเดีย

“ท่าเรือดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อประโยชน์ทางด้านการค้าและการพาณิชย์ และไม่ได้ตั้งใจจะใช้เป็นฐานทัพเรือก็จริง แต่หากถูกปรับปรุงเพียงเล็กน้อย แน่นอนว่าสามารถใช้เป็นฐานทัพได้แน่นอน” พี.เค. กอช อดีตนายทหารกองทัพเรืออินเดีย และนักวิชาการจากออปเสิร์ฟเวอร์ รีเสิร์ช ฟาวน์เดชัน ในกรุงนิวเดลี ระบุ

นอกเหนือจากกรณีพิพาทและการแข่งขันทางอำนาจภายในภูมิภาคแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียยังถูกทำให้เสื่อมทรามลง ด้วยการถูกดึงเข้าไปร่วมในเกมการถ่วงดุลอำนาจของสหรัฐ

การตัดสินใจฟื้นฟูความสัมพันธ์ และบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์กับอินเดียของรัฐบาลสหรัฐตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008 เพื่อถ่วงดุลอำนาจกับจีนซึ่งกำลังก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจใหม่ ยิ่งเป็นการผลักดันจีนให้เพิ่มความช่วยเหลือทางการทหารให้กับรัฐบาลปากีสถาน ศัตรูคู่อาฆาตของอินเดีย และกลับกลายเป็นการเพิ่มรอยร้าวในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดีย

ล่าสุดการเดินทางไปเยือนจีนของ พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า เพื่อเข้าพบกับประธานาธิบดี หูจิ่นเทา ผู้นำจีนเป็นเวลา 5 วัน ก็อาจจะยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงบทบาทการแพร่ขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคให้กระจ่างชัด และบั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ภายใต้บริบทการเมืองการปกครองและความสัมพันธ์ทั้งในระดับทวิภาคี ระดับภูมิภาค และระดับระหว่างประเทศ ที่ดูเหมือนจะไม่เปิดโอกาสให้ทั้งสองชาติมหาอำนาจหันมาญาติดีกันได้ง่ายๆ นี้ กลับพบว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับอินเดียเจริญรุดหน้าอย่างมาก

ทั้งนี้ พบว่าปัจจุบันจีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอินเดีย ข้อมูลจากด่านศุลกากรของจีน ระบุว่า ช่วงครึ่งแรกของปีนี้ มณฑลยูนนานทำการค้ากับประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้เป็นมูลค่าสูงถึง 295 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันจากปีก่อนถึง 20.6%

เจ้าหน้าที่ของศูนย์วิจัยเอเชียใต้ในสำนักงานวิจัยสังคมวิทยามณฑลยูนนาน กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการค้าระหว่างมณฑลยูนนานกับประเทศเอเชียใต้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยอัตราการเติบโตด้านการค้าระหว่างมณฑลยูนนานกับเอเชียใต้เฉลี่ยสูงถึง 47.8% ต่อปี

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้คงไม่ต่างกับข้อความของนายกรัฐมนตรี มันโมฮัน ซิงห์ ของอินเดีย ที่ได้กล่าวไว้ในตอนหนึ่งของถ้อยแถลงว่า

“โลกคงยังมีช่องทางสำหรับอินเดียและจีน ที่จะทั้งเปิดความร่วมมือและเปิดการแข่งขันกัน”