posttoday

ถอดถอน ‘สุรพงษ์’ ทลายขุมกำลัง ‘เพื่อไทย’

31 มีนาคม 2560

เป็นไปตามคาดภายหลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติถอดถอน “สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล” ในคดีการคืนหนังสือเดินทางให้กับ “ทักษิณ ชินวัตร”

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เป็นไปตามคาดภายหลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติถอดถอน “สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล” อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ ในคดีการคืนหนังสือเดินทางให้กับ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีโดยมิชอบ โดย สนช.มีมติถอดถอน 231 ต่อ 4 คะแนน ซึ่งถือเป็นคะแนนการถอดถอนสูงสุดกว่าทุกครั้ง

ก่อนหน้านี้ สนช.เคยลงมติถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งทางการเมืองมาแล้ว 5 ครั้ง

1.การถอดถอน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีจำนำข้าว 190 ต่อ 18 คะแนน

2.การถอดถอน บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ด้วยคะแนน 180 ต่อ 6 คะแนน ภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ 182 ต่อ 5 คะแนน และ มนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ 158 ต่อ 25 คะแนน ในคดีทุจริตการระบายข้าว

3.การถอดถอน พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีต รมว.กลาโหม ในคดีแทรกแซงการแต่งตั้งปลัดกระทรวงกลาโหม ด้วยมติ 159 ต่อ 27 คะแนน

4.การถอดถอน ประชา ประสพดี อดีต รมช.มหาดไทย ในคดีแทรกแซงการทำงานของคณะกรรมการบริหารองค์การตลาด 182 ต่อ 7 คะแนน

5.การถอดถอน อุดมเดช รัตนเสถียร อดีต สส.พรรคเพื่อไทย 205 ต่อ 15 คะแนน และ นริศร ทองธิราช อดีต สส.พรรคเพื่อไทย 221 ต่อ 1 คะแนน ในคดีการเสียบบัตรตนแทนสมาชิกรัฐสภาในระหว่างการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ และการสลับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของ สว.โดยมิชอบ

คะแนน 231 เสียง ที่อดีต รมว.ต่างประเทศ ไม่ได้เพียงผลที่ทำให้ต้องเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปีเท่านั้น เพราะสะท้อนถึงนัยทางการเมืองที่ สนช.ได้สื่อออกมาด้วย

กล่าวคือ คดีของสุรพงษ์เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเอื้อประโยชน์ให้กับอดีตนายกฯ ทักษิณ อันเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของทักษิณที่มีต่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ผ่านมา ดังนั้น คะแนนของ สนช.ที่ออกมาจึงไม่ต่างอะไรกับการตอบโต้พรรคเพื่อไทย

การลงมติถอดถอนครั้งนี้ ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าสถานการณ์ของพรรคเพื่อไทยจะตกที่นั่งลำบากมากขึ้น แม้ว่าสุรพงษ์จะเป็นแค่หมากตัวหนึ่งของพรรคเพื่อไทยเท่านั้น

ต้องไม่ลืมว่าเวลานี้พรรคเพื่อไทยมีคดีที่อยู่ในสารบบของกระบวนการยุติธรรมหลายคดี

คดีที่อยู่ในความสนใจที่สุดคงหนีไม่พ้นคดีของยิ่งลักษณ์ ในกรณีการบริหารโครงการรับจำนำข้าวที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งกำลังทยอยพิจารณาสืบพยานในส่วนของจำเลยเป็นระยะ

โดยการไต่สวนพยานปากสุดท้ายจะสิ้นสุดในเดือน ก.ค. จากนั้นศาลฎีกาจะนัดวันฟังคำพิพากษา ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงปลายเดือน ต.ค. หรือล่าช้าที่สุดไม่น่าจะเกินปี 2560

นอกจากคดีของยิ่งลักษณ์ที่อยู่ในศาลฎีกาแล้วยังมีคดีของ “บุญทรง เตริยาภิรมย์” อดีต รมว.พาณิชย์ด้วย ในส่วนของการทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐโดยมิชอบ

คดีของยิ่งลักษณ์และบุญทรงมีความแตกต่างกันเล็กน้อย ตรงที่ความผิดของยิ่งลักษณ์เป็นเรื่องในเชิงการบริหารจัดการ แต่ของบุญทรงนั้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พุ่งเป้าว่าเป็นการทุจริตและประพฤติมิชอบโดยตรง

ดังนั้น คดีของ “ยิ่งลักษณ์-บุญทรง” จึงเป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะเวลานี้ยิ่งลักษณ์ถือเป็นแบรนด์สำคัญของพรรคเพื่อไทย หากขาดยิ่งลักษณ์ไปแล้ว พรรคเพื่อไทยต้องควานผู้นำใหม่อีกครั้ง ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายในสถานการณ์ที่ทหารครองเมืองอยู่ในเวลานี้ เพราะคนที่เข้ามาเป็นผู้นำคนใหม่คงต้องชั่งน้ำหนักอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะต้องดีดลูกคิดเพื่อคำนวณว่าถ้าเข้ามาแล้วจะเปลืองตัวโดยไม่จำเป็นหรือไม่

ไม่เพียงเท่านี้ พรรคเพื่อไทยยังต้องเผชิญกับคดีความเล็กๆ น้อยๆ อีกพอสมควร อาทิ คดีการสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งมี “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” อดีตนายกฯ เป็นหนึ่งในจำเลยคนสำคัญ โดยอยู่ในระหว่างการไต่สวนของศาลฎีกาเช่นกัน

ขณะเดียวกัน คดีภาษีการซื้อขายหุ้น บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น ก็กลับมาวนเวียนคนในบ้านจันทร์ส่องหล้าของครอบครัวชินวัตรอีกครั้ง หลังจากคดีดังกล่าวเงียบหายไปเป็นเวลานาน

ล่าสุด กรมสรรพากรเขตบางพลัดได้นำหนังสือประเมินภาษีมูลค่า 1.7 หมื่นล้านบาท ไปแจ้งให้กับอดีตนายกฯ ทักษิณ ซึ่งคาดว่าคดีนี้น่าจะต้องมีการสู้กันถึงศาลเพื่อให้รู้ดำรู้แดงอีกครั้ง เพราะไม่มีทางที่อดีตนายกฯ ผู้ทรงอิทธิพลคนนี้จะยอมควักเนื้อเป็นเงินกว่าหมื่นล้านบาทจ่ายภาษีอย่างแน่นอน

ทั้งหมดนี้เป็นสถานการณ์ที่พรรคเพื่อไทยและครอบครัวชินวัตรต้องเผชิญอีกครั้ง และเป็นศึกใหญ่กว่าทุกครั้งที่เคยเจอมาเพราะมีเดิมพันสูง จึงเป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยต้องเดินหน้าสู้จนถึงระฆังยกสุดท้าย