posttoday

‘ลาซาด้า’ผนึก‘ยูนิลีเวอร์’ รุกสินค้าผู้บริโภคอาเซียน

31 มีนาคม 2560

ลาซาด้า อี-คอมเมิร์ซชื่อดังของสิงคโปร์ ซึ่งอาลีบาบา ยักษ์อี-คอมเมิร์ซจากจีนซื้อกิจการไป จับมือเป็นพันธมิตรครั้งใหม่กับยูนิลีเวอร์ บริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคสัญชาติอังกฤษ

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์ 

ลาซาด้า อี-คอมเมิร์ซชื่อดังของสิงคโปร์ ซึ่งอาลีบาบา ยักษ์อี-คอมเมิร์ซรายใหญ่จากจีนซื้อกิจการไปเมื่อปีที่ผ่านมา จับมือเป็นพันธมิตรครั้งใหม่กับยูนิลีเวอร์ บริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคสัญชาติอังกฤษ เพื่อผลักดันการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปที่ซื้อง่ายขายคล่อง (เอฟเอ็มซีจี) เช่น สบู่ แชมพู ยาสีฟัน ผ่านช่องทางออนไลน์ในภูมิภาคอาเซียน

ซีเอ็นบีซี รายงานว่า ทั้งสองบริษัทจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในด้านซัพพลายเชน การตลาด การแลกเปลี่ยนข้อมูล การจำหน่ายสินค้าบนสื่อโซเชียล รวมถึงการพัฒนาความสามารถบุคลากร เพื่อขยายธุรกิจในภูมิภาค

“เป้าหมายบริษัทคือการแสวงหาหนทางที่ดีกว่าในการจับตลาดชนชั้นกลางทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วและสื่อสารกับลูกค้ากลุ่มนี้โดยตรง” แม็กซิมิเลียน บิตต์เนอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของลาซาด้า กรุ๊ป กล่าว

ทั้งนี้ ตลาดสินค้าเอฟเอ็มซีจีนในอาเซียน คาดว่าจะขยายตัวแตะ 2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 8.6 แสนล้านบาท) ภายในปี 2020 ขณะที่หน่วยธุรกิจนี้ของลาซาด้าปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งเช่นกัน โดยขยายตัวถึง 181% ในปี 2016 จากปีก่อนหน้านี้ เติบโตสูงสุดเมื่อเทียบกับสินค้าประเภทอื่นๆ โดยในปัจจุบัน ลาซาด้าขายสินค้าทั้งหมด 39 ล้านรายการในอาเซียน ครอบคลุมตั้งแต่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ภายในบ้าน และสินค้าแฟชั่น

รอยเตอร์ส รายงานว่า ยูนิลีเวอร์เป็นบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีอิทธิพลในอาเซียน โดยที่ผ่านมา ยอดขายสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของบริษัทมาจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ขณะที่การจำหน่ายสินค้าในตลาดอื่นๆ เช่น สหรัฐ จีน และอินเดีย มีสัญญาณปรับตัวขึ้นเช่นกัน

ด้าน ปิแอร์ ลุยกี ซิจิสมอนดี ประธานยูนิลีเวอร์ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย กล่าวว่า การเป็นพันธมิตรกับลาซาด้าจะช่วยเพิ่มยอดขายสินค้าออนไลน์ให้บริษัทถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงปี 2015-2016 พร้อมเสริมว่า ยอดขายสินค้าออนไลน์ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกเดือนในปี 2016

“เทรนด์ผู้บริโภคกำลังเปลี่ยนสู่การซื้อสินค้าออนไลน์ ความร่วมมือครั้งนี้จึงน่าตื่นเต้นมาก” ซิจิสมอนดี กล่าว และระบุว่า ข้อมูลจากลาซาด้าจะช่วยให้ยูนิลีเวอร์เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคได้ดีขึ้น และช่วยในการทำการตลาดเจาะกลุ่มลูกค้าออนไลน์

ก่อนหน้านี้ อาลีบาบาและยูนิลีเวอร์เคยทำข้อตกลงร่วมมือในรูปแบบที่คล้ายคลึงมาแล้วในปี 2015 ซึ่งเปิดโอกาสให้ยูนิลีเวอร์สามารถจำหน่ายสินค้าในจีนมากยิ่งขึ้น หลังยอดขายบริษัทร่วงลง 20% เมื่อปี 2014

เทรนด์ซื้อของใช้ออนไลน์โต

ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน บริษัทวิจัยตลาด เปิดเผยว่า การซื้อขายสินค้าออนไลน์คิดเป็นเพียง 2.5% จากสัดส่วนการค้าปลีกทั้งหมดในอาเซียน ซึ่งนับว่ายังไม่ได้ขยายตัวอย่างเต็มที่เมื่อเทียบกับการซื้อของออนไลน์ในจีน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 12%

ด้าน ไอจีดี บริษัทวิจัยตลาดค้าปลีก คาดการณ์ว่า การซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคออนไลน์จะเติบโตอย่างโดดเด่นในปีนี้ เนื่องจากการขยายตัวของชนชั้นกลางในอาเซียน ผู้คนใช้สมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้น และการเปิดตัวระบบการชำระเงินออนไลน์ใหม่ๆ พร้อมระบุว่า บริษัทค้าปลีกรายแรกๆ ที่รุกเข้าไปในภาคส่วนดังกล่าวเพื่อขยายช่องทางจำหน่ายสินค้า โดยเฉพาะในหลายเมืองใหญ่ทั่วภูมิภาคจะได้เปรียบกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ

ขณะเดียวกัน ไอจีดี ยังระบุว่า สิงคโปร์เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ซึ่งการซื้อขายสินค้าอุปโภคบริโภคออนไลน์กำลังขยายตัวต่อเนื่อง โดยเมื่อสิ้นปี 2016 สัดส่วนการซื้อขายสินค้าดังกล่าวออนไลน์คิดเป็น 1.2% อยู่ที่ 130 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (ราว 3,208 ล้านบาท) ของตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหมด และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่สัดส่วน 4% คิดเป็น 500 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (ราว 1.23 หมื่นล้านบาท)

นิก ไมล์ส หัวหน้าหน่วยธุรกิจประจำเอเชีย-แปซิฟิก ของไอจีดี เปิดเผยว่า เทรนด์ผู้บริโภคดังกล่าวทำให้บริษัทค้าปลีกต้องหาทางเพิ่มความสะดวกในการจัดส่งสินค้าให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการส่งด่วนหรือการตั้งจุดรับและกระจายสินค้าทั่วอาเซียน

อย่างไรก็ดี ระบบโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานในอาเซียนนั้นยังมีไม่มากพอ เมื่อพิจารณาจากดัชนีวัดการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ปี 2016 ที่ผ่านมาของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ซึ่งระบุว่า กลุ่มประเทศอาเซียนเกือบทั้งหมดยกเว้นสิงคโปร์มีคะแนนด้านโลจิสติกส์ลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ความพยายามเพิ่มความรวดเร็วในการส่งสินค้าของบรรดาบริษัทค้าปลีกอาจยังทำได้ไม่เต็มที่