posttoday

บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ระเบิดเวลาลูกใหม่

29 มีนาคม 2560

ก้าวสู่จุดเปราะบางที่ต้องระมัดระวัง เมื่อ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้สนช. ตัดเนื้อหา​มาตรา 10/1 เรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ออกจากร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ก้าวสู่จุดเปราะบางที่ต้องระมัดระวัง​​ เมื่อ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ​ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตัดเนื้อหา​มาตรา 10/1 เรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ออกจากร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ที่จะเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2 และ 3 วันที่ 30 มี.ค.นี้

ต้องยอมรับว่าการ “เปิดหน้า” ออกมาวิพากษ์แนวนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินครั้งแรกหลังพ้นจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ถือเป็นการส่งสัญญาณ “ดับเครื่องชน” ​ทั้งรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แบบไม่มีอะไรจะต้องเสีย ​

แน่นอนว่าในฐานะรองนายกรัฐมนตรีที่เร่ิมตั้งไข่กฎหมายฉบับนี้มาด้วยตัวเองย่อมต้องแปลกใจและรับไม่ได้ เมื่ออยู่ๆ กลับพบประเด็นการตั้ง “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” สอดไส้เข้ามาในชั้นกรรมาธิการของ สนช.

จิ๊กซอว์ตัวสำคัญที่ คุณชายอุ๋ย พยายามสื่อสารต่อสาธารณะคือ ในการชี้แจงต่อกรรมาธิการพลังงานของ สนช.ปรากฏว่ากรรมาธิการ ​7 คน โดย 6 คนเป็นอดีตนายทหารระดับสูง เห็นว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังขาดไปอีก 1 เรื่องคือการจัดตั้ง “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” ​

“ผมได้ชี้แจงกลับทันทีว่าจุดมุ่งหมายของการออก พ.ร.บ.ใหม่ฉบับนี้ก็เพื่อจะเปิดโอกาสให้มีการสำรวจก๊าซธรรมชาติโดยให้ครอบคลุมถึงวิธีการต่างๆ ให้มากขึ้นกว่าระบบสัมปทานแต่อย่างเดียว ซึ่งเป็นไปตามข้อเรียกร้องของภาคประชาชน ไม่เคยมีใครพูดถึงบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเลย กระทรวงพลังงานไม่มีนโยบายในเรื่องนี้ และเมื่อนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ผมร่างกฎหมาย ก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ”

ร่างแรกของกฎหมายที่เข้ามายัง สนช.จึงไม่มีเรื่อง “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” การเพิ่มมาตราเกี่ยวกับการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเข้าไปในร่าง ทั้งๆ ที่รัฐบาลผู้เสนอร่างไม่มีนโยบายที่จะทำ และไม่มีการระบุหลักการและเหตุผลที่จำเป็นต้องจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ จึงเป็นพิรุธที่น่าสงสัย

แม้ทาง กมธ.จะแจ้งไปข้อความยินยอมจากคณะรัฐมนตรีในการเพิ่มเติมข้อความดังกล่าว และทาง ครม.จะเห็นชอบ ทั้งที่รัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่จะทำ และ​ไม่เคยศึกษาถึงผลได้ผลเสียตลอดจนความจำเป็นในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ จึงอาจไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องเหมาะสม

“นอกเสียจากว่าจะเกรงใจใครบางคนหรือกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม ซึ่งมีอิทธิพลอยู่ในคณะรัฐมนตรีด้วย”​

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ห่วงว่า การให้บรรษัทน้ำมันแห่งชาติเป็นผู้ถือสิทธิในทรัพยากรปิโตรเลียมทุกชนิดของประเทศ และให้กรมพลังงานทหารเป็นหน่วยงานที่บริหารบรรษัทน้ำมันแห่งชาติในช่วงแรก อาจทำให้กิจการน้ำมันของประเทศก็จะถอยหลังไปเมื่อ 50 ปีก่อน เหมือนยุค “สามทหาร”

แน่นอนว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้ย่อมนำไปสู่แรงกระเพื่อมที่ขยายวงมากขึ้นเรื่อย และยังทำให้รอยร้าวระหว่างเครือข่าย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร และ คสช.ลุกลามบานปลายมากขึ้น หากปล่อยไว้อาจกระทบไปถึงเสถียรภาพของรัฐบาล คสช.ที่กำลังง่อนแง่นเต็มที

การตัดสินใจเรื่องนี้ไม่ง่ายซะทีเดียวเพราะอีกฝั่งเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) นำโดย รสนา โตสิตระกูล ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล และปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ที่แม้จะออกมาแถลงจุดยืนคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม แต่ก็สนับสนุนการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ

ปานเทพ ระบุว่า ​การจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ในการเรียกร้องของภาคประชาชนนั้น ไม่ได้มุ่งหมายให้เป็นผู้ประกอบกิจการปิโตรเลียมผูกขาดครบวงจร หรือเข้าแข่งขันกับภาคเอกชนแต่อย่างใด แต่เพื่อให้เป็นองค์กรทำหน้าที่ครอบครองกรรมสิทธิ์ทรัพย์สิน และทำหน้าที่รับซื้อปิโตรเลียมปากหลุมจากเอกชนเพื่อสร้างความมั่นใจให้เอกชนว่า ปิโตรเลียมทั้งหมดขายได้ และขายปิโตรเลียมเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ

ส่วนการทำหน้าที่เปิดประมูลให้เอกชนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมนั้น จะจัดการประมูลโดยบรรษัทพลังงานแห่งชาติ หรือกรมเชื้อเพลิงฯ ก็ได้ขอเพียงทำให้เกิดความโปร่งใส เสรี เกิดการแข่งขันอย่างแท้จริง

สอดรับกับ รสนา ที่ระบุว่า เหตุผลที่ต้องจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเพราะรูปแบบการแบ่งปันผลผลิตในร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มาตรฐานสากล และไม่กำหนดให้มีการประมูลสัมปทานปิโตรเลียม ซึ่งเป็นวิธีที่โปร่งใสที่สุด เท่ากับว่าเปิดช่องให้เอกชนรายเดิมได้ประโยชน์

ปัญหาอยู่ที่ในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมระบุแค่กว้างๆ ให้มีการตั้งบรรษัทน้ำมัน แต่ไม่มีรายละเอียดและกรอบเวลาที่ชัดเจน ซึ่งอาจทำให้เกิดการเตะถ่วงในอนาคต​

ปมความเห็นที่ยังแตกต่างกันเรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาติจึงเป็นโจทย์ที่ทำให้ สนช.​ตลอดจน คสช.ต้องคิดหนักและตัดสินใจว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ​หากพลาดพลั้งย่อมนำไปสู่กระแสต่อต้านรุนแรง​