posttoday

ทหารนั่งหัวโต๊ะสร้างโรงไฟฟ้า วังวนปมขัดแย้งชนวนรุนแรง

27 มีนาคม 2560

หากกลไกรับฟังความคิดเห็นยังเป็นเช่นนี้ ปลายทางสุดท้ายย่อมหนีไม่พ้นความขัดแย้ง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์ 

กลายเป็นสูตรสำเร็จของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)​ ที่เลือกใช้วิธีตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ เข้ามาจัดการแก้ปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก

ด้านหนึ่งถือเป็นการแบ่งเบา “เผือกร้อน” ที่ล้นมือเวลานี้ ไปให้ “มือไม้” ที่ไว้ใจได้ช่วยสะสาง แถมมั่นใจได้ว่า “ผลลัพธ์” จะออกมาใกล้เคียงกับที่ต้องการ

อีกด้าน ต่อให้คณะกรรมการชุดที่ตั้งขึ้นมาไม่สามารถแก้ปัญหาไม่ได้ อย่างน้อยก็ยังสามารถลดแรงเสียดทานที่กำลังถาโถมมายังรัฐบาลได้ชั่วครู่ชั่วคราว

ล่าสุด กับความพยายามผลักดันโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ซึ่งถูกกระแสต่อต้านรุนแรงจนรัฐบาลต้องพับแผนถอยกลับมาตั้งหลักกันใหม่

พร้อมตัดชนวนปัญหาด้วยการยกเลิกรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ที่ผ่านมา

ตามที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการจัดทำ EIA ที่ผ่านมาไม่ได้มาตรฐาน ขาดความหลากหลาย การมีส่วนร่วมจากพื้นที่อย่างรอบด้าน จนไม่เป็นที่ยอมรับ ก่อนจะถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นคัดค้านโครงการนี้

แต่ความพยายามก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ยังคงดำเนินต่อไป

ดังจะเห็นจากสัญญาณที่ คสช.​ออกคำสั่งเรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และรับทราบความคิดเห็น เกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งไล่เรียงดูที่มาของกรรมการที่มาจากคนในกองทัพเป็นส่วนใหญ่แล้วน่าจะพอเห็นทิศทางการทำงานและผลลัพธ์สุดท้าย

เริ่มตั้งแต่ 1.พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ./เลขาธิการ คสช. เป็นประธานกรรมการ 2.พล.อ.สมศักดิ์ นิลบรรเจิดกุล ผช.ผบ.ทบ. เป็นรองประธาน 3.รองปลัดพลังงาน เป็นรองประธาน 4.รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธาน 5.รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นรองประธานกรรมการ

ยิ่งดู​กรรมการที่ประกอบไปด้วย อาทิ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เลขาธิการสํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรรมการ และสิ่งแวดล้อม ผู้อํานวยการสํานักงานนโยบายและแผนพลังงาน ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ผู้แทนอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ผู้แทน ผบ.ทร. แม่ทัพภาคที่ 4 พล.ท.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รอง เสธ.ทบ. แม่ทัพน้อยที่ 4
ยิ่งชัดเจน

สอดรับกับคำสั่ง คสช.อีกฉบับที่กำหนดตั้งคณะอนุกรรมการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และรับทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ มีแม่ทัพน้อยที่ 4 เป็นประธาน

กำหนดหน้าที่ไว้เพื่อ “การดําเนินการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และรับทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้บรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม เป็นที่ยอมรับของประชาชนและภาคประชาสังคม จึงให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และรับทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้” ​

ที่สำคัญงานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เข้ามาดูแลด้วยตัวเอง ทั้งหาวิธีสร้างความเข้าใจแก่ทุกภาคส่วนต่อปัญหาความมั่นคงทางพลังงาน

ตอกย้ำข้อครหาว่างานนี้ความพยายามรวบรัดเร่งปิดเกม เมื่อ พล.อ.ประวิตร ออกมากำหนดเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ 1 เดือน

หากเป็นไปตามแนวทางเช่นนี้​ นี่ย่อมเป็นชนวนนำไปสู่ความวุ่นวายและการไม่ยอมรับกระบวนรับฟังความคิดเห็น ตลอดจนการจัดทำ EIA และวนกลับมาเรื่องการต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในอนาคต

เมื่อคณะกรรมการและอนุกรรมการที่ตั้งขึ้นมาล้วนแต่เป็นมือไม้ของ คสช. ที่สามารถสั่งซ้ายหันขวาหันได้ อีกทั้งหากย้อนไปดูการทำงานของบรรดาคณะกรรมการที่ คสช.เคยตั้งขึ้นจะเห็นว่ามีรูปแบบที่ไม่แตกต่างกัน

ก่อนหน้านี้กับการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาขับเคลื่อน “ปรองดอง” ในช่วงโค้งสุดท้ายที่ว่ากันว่ามีความพยายามรีบเร่งปิดเกมให้เสร็จโดยเร็ว

ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความปรองดองในพื้นที่ระดับจังหวัด ซึ่งขณะนี้ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ระบุว่า จัดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนครบ 76 จังหวัดทั่วประเทศ ​เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ​

ทั้งที่ในหลายพื้นที่แทบจะไม่เคยรับรู้รับทราบว่ามีการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นประชาชนไปแล้วเมื่อไหร่ หรือในแต่ละพื้นที่มีข้อเสนอแนะความคิดเห็นอย่างไร

ไม่ต่างจากเวทีกลางของคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ของ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน นั้นเวลานี้เริ่มมีเสียงสะท้อนไม่ยอมรับการทำงาน ที่เชิญแต่ละพรรคการเมืองมาแสดงความคิดเห็น แต่ไม่รู้ว่าจะรับฟังนำไปพิจารณามากน้อยแค่ไหน

ท่ามกลางเสียงสะท้อนจากบางพรรคที่เชื่อว่ามีการตั้งธงเอาไว้ล่วงหน้า กระบวนการรับฟังอาจเป็นเพียงแค่พิธีกรรมเพิ่มความชอบธรรมเท่านั้น

กรณีโรงไฟฟ้า จ.กระบี่ ก็เช่นกัน หากกลไกรับฟังความคิดเห็นยังเป็นเช่นนี้ ปลายทางสุดท้ายย่อมหนีไม่พ้นความขัดแย้ง ที่สุ่มเสี่ยงจะบานปลายกลายเป็นความรุนแรง ซึ่งไม่เป็นผลดีกับทุกฝ่าย