posttoday

โลกรับมือความเกลียดชัง

25 มีนาคม 2560

กระแสความหวาดกลัวต่อผู้นับถือศาสนาอิสลาม หรืออิสลามโฟเบียกำลังมาแรงในยุโรป

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

กระแสความหวาดกลัวต่อผู้นับถือศาสนาอิสลาม หรืออิสลามโฟเบียกำลังมาแรงในยุโรป สังเกตได้จากการเลือกตั้งในภูมิภาค บรรดาผู้สมัครซึ่งมีแนวคิดขวาจัดและต่อต้านอิสลามกำลังมาแรง โดยเฉพาะในฝรั่งเศสที่ผลสำรวจล่าสุดพบว่า มารีน เลอ เปน จากพรรคเนชั่นแนลฟรอนต์ (เอฟเอ็น) มีคะแนนนำที่ 25% โดยหลายฝ่ายต่างหวาดกลัวว่ากรณีการโจมตีกรุงลอนดอนจะยิ่งจุดไฟความหวาดกลัวดังกล่าว

ตำรวจนครบาลอังกฤษ เปิดเผยชื่อผู้ก่อเหตุ คือ “คาลิด มาซูด” ชายสัญชาติอังกฤษ วัย 52 ปี อดีตผู้ต้องหาคดีครอบครองอาวุธหนักอย่างผิดกฎหมาย แต่ไม่เคยโดนข้อหาก่อการร้ายและไม่มีข่าวกรองใดบ่งชี้ว่ามาซูดจะก่อเหตุ แม้ก่อนหน้านี้หน่วยสืบราชการลับอังกฤษ (เอ็มไอไฟว์) เคยสอบสวนมาซูดครั้งหนึ่ง ด้วยความกังวลต่อพฤติกรรมรุนแรงตามแนวคิดสุดโต่ง

ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตถึงอายุของมาซูดที่มากผิดปกติสำหรับกลุ่มแนวคิดสุดโต่งอิสลามที่ก่อเหตุในลักษณะเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่นถึงอายุราว 30 ปี โดยแม้เจ้าหน้าที่จะคาดการณ์ว่า มาซูดก่อเหตุเพียงลำพัง แต่เจ้าหน้าที่ได้รวบตัวผู้ต้องสงสัยเกี่ยวข้องเพิ่มอีก 2 ราย เป็น 10 ราย

ด้าน มาร์ก โรวลีย์ ผู้บัญชาการหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายตำรวจนครบาลอังกฤษ เปิดเผยว่า ชุมชนมุสลิมในอังกฤษต่างรู้สึกหวาดกลัวต่อการโต้กลับอย่างรุนแรงต่อชุมชนมุสลิม พร้อมยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะร่วมมือกับผู้นำชุมชนต่างๆ เพื่อสร้างความปลอดภัย

หลังเกิดเหตุดังกล่าว เลอ เปน นักการเมืองฝรั่งเศสได้ใช้เหตุดังกล่าวเป็นตัวอย่างหนึ่งเพื่อเรียกร้องให้ฝรั่งเศสควบคุมชายแดนและปิดมัสยิดที่มีแนวโน้มสร้างแนวคิดสุดโต่ง โดยการเรียกร้องคล้ายกันดังกล่าวเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ เช่น ออสเตรเลีย ที่ พอลีน ฮันซัน วุฒิสภาจากควีนส์แลนด์ เรียกร้องให้มีการแบนมุสลิมจากเหตุก่อการร้ายในอังกฤษ

ขณะเดียวกัน แม้สภาผู้แทนราษฎรของแคนาดาผ่านญัตติเปิดทางให้รัฐบาลมีโครงการเพื่อต่อต้านความหวาดกลัวต่ออิสลาม และเรียกร้องให้รัฐบาลประณามอิสลามโฟเบีย การเหยียดเชื้อชาติ และการเลือกปฏิบัติทางศาสนา หลังมัสยิดและโบสถ์ชาวยิวตกเป็นเป้าโจมตีในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทว่าผลสำรวจเปิดเผยว่า ชาวแคนาดาเพียง 29% เท่านั้นที่สนับสนุนให้ผ่านญัตติดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม นาวีด เมอร์ซา นักเรียนชาวมุสลิมในอังกฤษ ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีว่า ได้รับกำลังใจอย่างท่วมท้นนับตั้งแต่เกิดเหตุดังกล่าว ซึ่งตำรวจระบุเป็นการก่อการร้ายที่เกี่ยวข้องกับอิสลาม โดยชุมชนมุสลิมในอังกฤษต่างร่วมประณามเหตุดังกล่าว ขณะที่ชาวมุสลิมในกรุงลอนดอนยังได้เปิดรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือเหยื่อและครอบครัว ซึ่งได้รับเงินบริจาคมากกว่า 3,000 ปอนด์ (ราว 1.29 แสนบาท) ภายในชั่วโมงเดียวหลังเปิดรับบริจาคเมื่อวันที่ 22 มี.ค.

เร่งโครงการปรับทัศนคติยาก

หนังสือพิมพ์ เดอะ การ์เดี้ยน เปิดเผยว่า การก่อการร้ายในกรุงลอนดอนส่งผลให้โครงการปรับทัศนคติผู้มีแนวคิดสุดโต่งกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง หลังความสนใจไปตกที่เบร็กซิต โดยไม่ใช่แค่เฉพาะผู้มีแนวคิดสุดโต่งอิสลามเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้มีแนวคิดขวาจัดและลัทธินีโอนาซีด้วยเช่นกัน ซึ่งมีผู้ที่เข้าร่วมโครงการ “ป้องกัน” (Prevent) ของกระทรวงมหาดไทยอังกฤษมากขึ้น ทำสถิติที่ 8,000 คน เมื่อเดือน เม.ย. 2016

ก่อนหน้านี้ เกิดเหตุมือปืนผู้มีแนวคิดขวาจัดบุกยิง โจ ค็อกซ์ สมาชิกผู้แทนราษฎรหญิงจากพรรคแรงงานเสียชีวิตเมื่อกลางปี 2016 ที่ผ่านมา ทว่าโครงการป้องกันของรัฐบาลกลับไม่ได้รับความนิยม เนื่องจากถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน และเป็นการจัดการกับผู้ที่มีความเห็นต่างด้านนโยบายระหว่างประเทศของรัฐบาล เช่น คัดค้านการโจมตีกลุ่มก่อการร้ายในต่างแดน

“พวกเรามีโครงการที่ประสบความสำเร็จมากๆ ในการร่วมมือกับผู้คนเพื่อหยุดพวกเขา แต่คุณพูดถูก ที่ผ่านมาพวกเราต้องเรียนรู้อะไรอีกมาก เหนือสิ่งอื่นใดฉันต้องการให้ผู้คนตระหนักว่าพวกเราไม่ต้องการแค่โครงการเพื่อหยุดพวกเขา พวกเราต้องการโครงการที่สามารถเข้าถึงชุมชนได้รวดเร็ว เพื่อหยุดพวกเขาจากการกลายเป็นผู้มีแนวคิดสุดโต่ง” แอมเบอร์ รูดด์ รัฐมนตรีมหาดไทยอังกฤษ กล่าวกับบีซีซี

อังกฤษไม่ใช่ประเทศเดียวที่มีโครงการลักษณะดังกล่าว ฝรั่งเศสและออสเตรเลียต่างมีโครงการดังกล่าวเช่นกัน แต่บางแห่งประสบกับความล้มเหลว

ฟาร์ฮัด โคสโรคาวาร์ นักสังคมวิทยา เปิดเผยกับสำนักข่าวฟรานซ์ 24 เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ว่า โครงการของฝรั่งเศสไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากเปิดรับเฉพาะผู้สมัครใจที่เห็นตัวเองมีแนวคิดสุดโต่งเท่านั้น และโครงการดังกล่าวควรจับกลุ่มผู้ที่มีแนวโน้มกลายเป็นความเสี่ยงต่อสังคมด้วย  โดยโครงการในเดนมาร์กนับเป็นตัวอย่างได้ดี ซึ่งมีการให้คนหนุ่มสาวที่กลับจากอิรักและซีเรียเข้าร่วมโครงการด้วย

ขณะที่โรงเรียนมุสลิมหลายแห่งในซิดนีย์ของออสเตรเลียปฏิเสธที่จะสอนโครงการปรับเปลี่ยนทัศนคติลดความรุนแรง ที่รัฐบาลริเริ่มด้วยงบประมาณ 47 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1,645 ล้านบาท) เนื่องจากยังไม่มีผลวิจัยหรือหลักฐานรองรับเพียงพอให้โรงเรียนสละเวลาบางส่วนเพื่อปรับทัศนคติลดความรุนแรงได้ ขณะที่ชุมชนมุสลิมในออสเตรเลียยังเห็นว่า โครงการดังกล่าวพัฒนาขึ้นมาโดยปราศจากการร่วมมือหรือปรึกษาโรงเรียนต่างๆ โดยเฉพาะโรงเรียนมุสลิม

ออสเตรเลียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่กำลังเผชิญปัญหาแนวคิดรุนแรงจากคนรุ่นเยาว์ โดยล่าสุดเจ้าหน้าที่ตำรวจออสเตรเลียได้ตั้งข้อหาเด็กชายวัย 16 ปี ที่ถูกจับกุมเมื่อปีที่แล้ว ในข้อหาวางแผนก่อเหตุกราดยิงและวางระเบิดในวันแอนแซก ซึ่งเป็นวันรำลึกทหารผ่านศึกของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ในวันที่ 25 เม.ย.ของทุกปี ขณะที่ในปี 2015 เกิดเหตุเด็กชายวัย 15 ปี สังหารเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยอาวุธปืนก่อนถูกวิสามัญ