posttoday

กมธ.บิดเบี้ยว บั่นทอนกลไกตรวจสอบ

08 กันยายน 2553

กลายเป็นภาพสะท้อนปัญหา หรือประจานการทำงานในสภาผู้แทนราษฎรได้เป็นอย่างดี กับ “กลไก” สำคัญในฝ่ายนิติบัญญัติ อย่าง “กรรมาธิการ” ที่กำลังบิดเบี้ยวเป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งนอกจากจะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ กลับยิ่งซ้ำเติมปัญหาให้ลุกลามบานปลาย

กลายเป็นภาพสะท้อนปัญหา หรือประจานการทำงานในสภาผู้แทนราษฎรได้เป็นอย่างดี กับ “กลไก” สำคัญในฝ่ายนิติบัญญัติ อย่าง “กรรมาธิการ” ที่กำลังบิดเบี้ยวเป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งนอกจากจะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ กลับยิ่งซ้ำเติมปัญหาให้ลุกลามบานปลาย

โดย....ทีมข่าวการเมือง

 

กมธ.บิดเบี้ยว บั่นทอนกลไกตรวจสอบ

ล่าสุดการเข้าพบ วิกเตอร์ บูต ผู้ต้องหาคดีค้าอาวุธสงครามชาวรัสเซีย ของ ต่อพงษ์ ไชยสาส์น ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ และฐิติมา ฉายแสง รองประธานฯ จากฝั่งพรรคเพื่อไทย เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา

พร้อมคำยืนยันว่า ดำเนินการในฐานะ “กรรมาธิการ” เพื่อสืบหาข้อมูล ข้อเท็จจริง หลังจาก ศิริโชค โสภา วอลเปเปอร์นายกรัฐมนตรี เข้ามาล้วงข้อมูลไปก่อนหน้านี้ จนถูกตั้งป้อมโจมตีถึงความเหมาะสมและ “เบื้องหลัง” การเข้าพบ

ก่อนจะเป็นเรื่องเมื่อกรรมาธิการซีกประชาธิปัตย์ ทั้ง รัชดา ธนาดิเรก และณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ต้องออกมาแถลงข่าวตอบโต้ว่า การลงมติการเข้าพบ วิกเตอร์ บูต เป็นการมุบมิบทำกันในช่วงที่ สส.ซีกรัฐบาล ต้องปลีกตัวไปลงคะแนนรักษาสถานะเสียงปริ่มน้ำไม่ให้สภาล่ม

สุดท้าย “ปัญหา” ยืดเยื้อบานปลายตอบโต้กันไม่จบสิ้น !!!

กลไก “กรรมาธิการ” โดยเฉพาะกรรมาธิการสามัญทั้ง 35 คณะ ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นกลไกถ่วงดุลการบริหารงานของรัฐบาล ทั้งการตรวจสอบการทำงาน หรือการแสวงหาข้อเท็จจริง ในประเด็นเรื่องราวที่เป็นปัญหา โดยเฉพาะเงื่อนงำการทุจริตต่างๆ

โดยตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการ 35 คณะ จะถูกเกลี่ยไปตามโควต้าสัดส่วน “เก้าอี้” ในสภา ขณะที่ภายในแต่ละกรรมาธิการจะถูกถ่วงดุลด้วยผู้แทนราษฎรจากแต่ละพรรคคละเคล้ากันไป เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดความคิดเห็น

ต้องยอมรับว่า การทำงานที่ผ่านมาของ “กรรมาธิการ” มีสภาพไม่ต่างจาก “เสือกระดาษ”

ไร้อำนาจในการสั่งการ ลงโทษใดๆ ทำได้เพียงแค่เรียกข้อมูล เรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง แต่กระนั้น หลายๆ ครั้งจะไม่ได้รับความร่วมมือ เนื่องจากสภาพไร้อำนาจในมือ

สภาพการทำงานที่ผ่านมาของกรรมาธิการจึงถูกมุ่งเน้นไปเพียงแค่การจุดประเด็นที่เป็นปัญหา เพื่อให้สังคมติดตาม และใช้พลังสังคมมาเป็นแรงบีบเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกทอดหนึ่ง

ปัญหาเดิมๆ ที่ผ่านมา อยู่ประธานกรรมาธิการจากพรรคไหน ก็จะมองข้ามเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพรรคพวกตัวเอง แต่มุ่งไปที่โจมตี ดิสเครดิตฝั่งตรงข้าม ซึ่งเป็นเรื่องดีในการตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา แต่หลายครั้งเลยเถิดนอกกรอบ กลั่นแกล้งฝั่งตรงข้าม

ล่าสุดกรณีกรรมาธิการต่างประเทศ ถือเป็นภาพสะท้อนความล้มเหลวในระบบการตรวจสอบอย่างชัดเจน เมื่อกรรมาธิการถูกนำไปเป็นเครื่องมือ “ตอบโต้” ทางการเมืองระหว่างฝักฝ่าย จนเลยเถิดไปถึงขั้นการนำมาเป็นเครื่องมือปกป้องผลประโยชน์ของ “บางคน” มากกว่าผลประโยชน์ประเทศ

ก่อนเข้าพบ วิกเตอร์ บูต ณ เรือนจำบางขวาง “ต่อพงษ์” ให้สัมภาษณ์ว่า จะสอบถามในประเด็นต่างๆ เช่น เรื่องสุขภาพกายและใจ หลังจากรัฐบาลและสื่อมวลชนมีการนำเสนอข่าวออกไป กระทบสภาพจิตใจหรือไม่ และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อมูลที่ปรากฏผ่านภรรยา ว่าเป็นจริงตามที่สื่อนำเสนอหรือไม่ หลังจากนั้นจะนำข้อมูลไปเปิดเผยในสภา

แต่หลังจากการพบ วิกเตอร์ บูต “ต่อพงษ์” ให้สัมภาษณ์ว่า ได้พูดคุยเป็นการส่วนตัวกับวิกเตอร์ บูต ถึงประเด็นการกล่าวหาว่ามีความเชื่อมโยงกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเขายืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกันเลย รู้จัก พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรีของไทยเท่านั้น และไม่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้าอาวุธที่ถูกจับในไทย

นั่นสะท้อนถึงปัจจัยสำคัญการเข้าพบวิกเตอร์ บูต พุ่งเป้าไปที่ประเด็นเกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่มีกระแสข่าวก่อนหน้านี้ว่า “ศิริโชค” เข้าไปพบเพื่อให้มีการซัดทอดประเด็นเรื่องอาวุธ จนทำให้ จตุพร พรหมพันธุ์ สส.สัดส่วน เพื่อไทย และแกนนำเสื้อแดง ออกมาเปิดประเด็นดักคอ

ภาพความแตกแยกในกรรมาธิการครั้งนี้ จึงทำให้ระบบการตรวจสอบขาดน้ำหนักและความน่าเชื่อถือ และยังส่งผลต่อภาพรวมคณะกรรมาธิการอื่นๆ มีปัญหาตามมา

ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาปัญหาเรื่องการใช้ “กรรมาธิการ” เป็นเครื่องมือทางการเมืองมีอยู่บ่อยครั้ง ทั้งการเรียกความสนใจสร้างผลงาน มากกว่าข้อเท็จจริงในประเด็นเนื้อหาสาระ

ครั้งหนึ่งคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่ง สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล สส.เพื่อไทย เป็นประธาน เคยเรียกนางแบบปฏิทินลีโอ มาชี้แจงในช่วงที่กระแสพรรคประชาธิปัตย์กำลังเพลี่ยงพล้ำถูกโจมตีอย่างหนัก

ท่ามกลางความสงสัยว่า เรื่องนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับกรรมาธิการวัฒนธรรม หรือกรรมาธิการสาธารณสุข ที่ดูแลเรื่อง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ห้ามมิให้ผู้ใดชักจูงใจ หรือแสดงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งทางตรงและทางอ้อม

อีกด้านหนึ่ง กรรมาธิการที่มุ่งหวังจะคลี่คลายค้นหาความจริงให้เป็นที่กระจ่างของสังคม แต่กลับไม่ทำหน้าที่อย่างเอาจริงเอาจัง หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับพวกตัวเอง อย่าง กรรมาธิการการตำรวจ ที่อยู่ในซีกประชาธิปัตย์ แต่กลับแค่แตะๆ เรื่อง ซื้อขายตำแหน่งที่ถูกวิจารณ์อย่างมากและเงียบหายไปในที่สุด

ที่ผ่านมาจึงมีแต่เรื่องการตรวจสอบจากกรรมาธิการฝั่งเพื่อไทย โดยเฉพาะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ที่เกาะติดเรื่องชุมชนพอเพียง จนเกิดผลการเปลี่ยนแปลง ตามมาด้วยการเกาะติดเรื่องเขาแพง และล่าสุดกำลังจะเกาติดการแต่งตั้งนายอำเภอ

คล้ายกับกรรมาธิการการทหาร ที่เกาะติดเรื่องการซื้อขายอาวุธยุทโธปกรณ์หลายการ จนเกิดการยับยั้งในหลายรายการ ตั้งแต่ จีที 200 จนถึงรถหุ้มเกราะ บอลลูนตรวจการณ์ ฯลฯ

ทว่า จากทิศทางที่เกิดขึ้นกับกรรมาธิการต่างประเทศ จึงน่าเป็นห่วงว่ารูปแบบการทำงานของกรรมาธิการจะเป็นเครื่องมือรับใช้การเมืองมากเกินไป จนเกิดภาวะล้มเหลวทางความน่าเชื่อถือ ส่งผลต่อการทำงานกลไกสภา และอาจลุกลามกระทบไปถึงการทำงานของรัฐบาล