posttoday

เปิดข้อเสนอ 5 พรรคใหญ่ เส้นทางสู่ปรองดอง

10 มีนาคม 2560

กระบวนการรับฟังความคิดเห็นปรองดองจากพรรคการเมืองเริ่มต้นอย่างเป็นทางการ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

กระบวนการรับฟังความคิดเห็นปรองดองจากพรรคการเมืองเริ่มต้นอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 14 ​ก.พ. ​โดยคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ซึ่งมี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเป็นแม่งานในการรับฟังแนวทางสร้างความปรองดอง 10 ประเด็น ที่แต่ละพรรคส่งตัวแทนมาร่วมให้ความเห็น

​พิจารณารายละเอียดความคิดความเห็นของแต่ละพรรคจะพบว่ามีทั้งส่วนที่เหมือนและแตกต่างกัน

​เริ่มจาก พรรคเพื่อไทย ​นำทีมโดย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แสดงความคิดเห็นหลักการและแนวทางปรองดอง 6  ข้อ อาทิ 1.ปัจจัยที่จะทำให้การปรองดองเกิดความสำเร็จ คือ ความจริงใจของรัฐบาลและ คสช.มีความเป็นกลาง เป็นอิสระ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้การชี้นำและสั่งการของฝ่ายใด​​

2.การปรองดองและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติต้องอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมทางสังคมยอมรับในกระบวนการยุติธรรมที่จะนำไปสู่ความสมานฉันท์ คือการนำการให้อภัยไปสู่การปฏิบัติต่อไป  3.ต้องค้นหาสาเหตุของความขัดแย้ง  4.การกำหนดคู่ขัดแย้งต้องพิจารณาให้รอบด้าน 5.กระบวนการในการสร้างความปรองดองควรพิจารณาเป็นขั้นตอนดังนี้ พิจารณาและยอมรับในสาเหตุร่วมกัน เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม โดยสถาปนาหลักนิติธรรมที่แท้จริงขึ้นในกฎหมายและบังคับใช้หลักนิติธรรมอย่างเคร่งครัด

ถัดมา พรรคประชาธิปัตย์​ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์พร้อมแกนนำพรรค แนวทางปรองดอง ประกอบไปด้วย การเคารพสิทธิของกันและกัน เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม พร้อมทั้งใช้หลักนิติธรรมมาจำกัดการใช้อำนาจของนักการเมืองไม่ให้เกินขอบเขตจนนำไปสู่การเผชิญหน้าทางการเมือง

ทั้งนี้ ทุกอย่างต้องเดินหน้าไปตามกระบวนการยุติธรรมก่อน เพื่อสร้างบรรทัดฐานให้กับสังคม ส่วนกระบวนการลดหย่อนโทษหรืออภัยโทษควรพิจารณาภายหลัง แต่ในฐานความผิดเล็กน้อย เช่น ประชาชนทั่วไปที่มาชุมนุมผิดกฎหมายพิเศษ หรือความผิดเล็กน้อย อย่างการชุมนุมกีดขวางการจราจรก็ให้นิรโทษกรรมได้

ที่สำคัญไม่เห็นด้วยกับการลงนามข้อตกลง หรือ MOU เพราะหากลงนามไปแล้ว ไม่ปฏิบัติตามก็ไม่เกิดประโยชน์และไม่มีใครรับรองอนาคตได้ ไม่ใช่แค่เฉพาะเชิญนักการเมืองเข้ามาให้ข้อคิดเห็น แต่ควรดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยเพื่อสร้างความเข้าใจ ที่จะทำอย่างไรให้สามารถอยู่ร่วมกันบนความคิดเห็นต่างได้ และไม่กลับไปสู่ปมความขัดแย้งอีก

สำหรับ ภูมิใจไทย อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยพร้อมแกนนำ เดินทางมาให้ข้อคิดเห็นโดยเริ่มจากการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และแก้ปัญหารากเหง้าของปัญหาทั้งหมด คือ ความยากจน ให้หมดไป เพราะจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนจนกับคนรวยในสังคมไทยให้เกิดความเท่าเทียมกัน

ส่วนการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังโดยยึดแนวทางตามหลักสากลโลกที่เคยดำเนินการมา โดยเฉพาะ “หลักความยุติธรรมยุคเปลี่ยนผ่าน” อาทิ มีการพูดคุยทำความเข้าใจ เยียวยาผู้เสียหาย พิสูจน์ความจริง รวมทั้งคดีที่อยู่ในชั้นพนักงานสอบสวนและชั้นอัยการก็อาจจะสั่งไม่ฟ้องหรือสั่งถอนฟ้องในคดีที่อยู่ในศาลแล้ว โดยไม่มีการพูดถึงเรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรมแต่อย่างใด

พรรคชาติพัฒนา ​มีข้อเสนอต่อนักการเมืองและพรรคการเมืองให้ร่วมหารือและทำข้อตกลงร่วมกันภายหลังที่พรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ ต่อการอยู่ร่วมกัน ไม่สร้างความขัดแย้ง และร่วมมือเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประเทศและประชาชนบนข้อตกลงร่วมกัน 7 ประเด็น คือ

1.ร่วมลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่บอยคอต 2.ปฏิบัติตามกฎหมายเลือกตั้งและระเบียบของ กกต. อย่างเคร่งครัด 3.ร่วมคัดเลือกคนดีมีความรู้ความสามารถ และทำนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อการแข่งขันเลือกตั้ง 4.ยอมรับและเคารพการตัดสินใจของประชาชนต่อการลงคะแนนเลือกตั้ง

5.ภายหลังจัดตั้งรัฐบาล ไม่ว่าพรรคใดจะเป็นรัฐบาลหรือพรรคฝ่ายค้าน ต้องทำงานตามบทบาทของตนเองอย่างสร้างสรรค์ 6.พรรคการเมืองต้องร่วมมือแก้ปัญหาขัดแย้งและไม่ทำการเมืองเข้าสู่ทางตัน 7.กรณีเกิดความขัดแย้งต้องใช้เวทีขอรัฐสภาเพื่อแก้ปัญหา

ด้าน พรรคชาติไทยพัฒนา มองว่ารัฐบาลและ คสช.มีข้อมูลส่วนใหญ่อยู่แล้วและสามารถนำข้อมูลจากการศึกษาของหลายคณะในช่วงที่ผ่านมา โดยนำข้อมูลมาสังเคราะห์ จากนั้นจะเหลือเพียง 4 หลัก คือ 1.หลักนิติธรรม 2.หลักคุณธรรม 3.หลักของความโปร่งใส 4.หลักการของการมีส่วนร่วมของประชาชน  การสร้างความปรองดองจะเกิดขึ้นได้ทุกฝ่ายต้องจริงใจ ที่จะร่วมกันเดินไปสู่จุดที่จะต้องแก้ปัญหา ซึ่งข้อมูลมีอยู่แล้ว แต่ยังไม่ทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ดังนั้นเมื่อได้พูดคุยกันแล้ว ก็ต้องผลักให้นำเรื่องนี้ไปสู่การปฏิบัติให้ได้ ไม่ใช่มีข้อมูลแล้วเอามาเก็บไว้ก็ไม่เกิดประโยชน์

ทั้งหมดนี้ คสช.จะนำไปสู่การปฏิบัติได้หรือไม่อีกไม่นานรู้กัน