posttoday

‘ปรองดอง’ ผ่านยกแรก ของจริงรออยู่ยกสอง

10 มีนาคม 2560

ภารกิจการสร้างความปรองดองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีความคืบหน้าขึ้นมาอีกระดับหนึ่งแล้ว

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ภารกิจการสร้างความปรองดองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีความคืบหน้าขึ้นมาอีกระดับหนึ่งแล้ว หลังจากพรรคการเมืองใหญ่ที่เคยมี สส.ในสภาผู้แทนราษฎรต่างทยอยเข้าไปพบคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองในชุดคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง เพื่อแสงความคิดเห็นจนครบแล้ว

สำหรับข้อเสนอแนะและความคิดเห็นที่พรรคการเมืองดังกล่าวได้เสนอเอาไว้มีสาระน่าสนใจ ดังนี้

พรรคเพื่อไทย มีประเด็นสำคัญอยู่ 3 ประการ ได้แก่ 1.เพื่อให้การดำเนินการได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจากประชาชน เมื่อได้รับฟังข้อมูลจนครบถ้วน ควรจัดตั้ง “คณะกรรมการอิสระ” ที่มาจากทุกภาคส่วนมาเป็นผู้ดำเนินการในกระบวนการปรองดอง

2.ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งมีโอกาสร่วมเสนอความคิดเห็นในเรื่องนี้ได้อย่างเสรี

3.ผลสรุปของแนวทางการสร้างความปรองดอง ต้องเป็นข้อตกลงร่วมกันบนพื้นฐานของการคำนึงถึงคุณค่า และศักดิ์ศรีของมนุษย์อย่างเท่าเทียม

พรรคประชาธิปัตย์ เป็นข้อเสนอที่เน้นหนักในเรื่องประชาธิปไตยที่ต้องเดินคู่กับหลักนิติธรรมและรัฐบาลต้องมีขอบเขตอำนาจหน้าที่ ไม่ก้าวก่ายแทรกแซงองค์กรอิสระ อีกทั้งต้องมีการปรับปรุงการทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อสร้างการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างมีประสิทธิภาพและมีความจำเป็นในการปลูกฝังค่านิยมและสร้างการตระหนักรู้ต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

พรรคชาติไทยพัฒนา เสนอหลักการจำนวน 4 ข้อ ประกอบด้วย หลักยุติธรรม หลักคุณธรรม หลักโปร่งใส และหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยรัฐบาลต้องมีความจริงใจต่อการทำงานด้วย อย่างไรก็ตามพรรคสนับสนุนต่อแนวทางการสร้างความปรองดองของรัฐบาลและการปฏิรูปด้านต่างๆ ให้สำเร็จเป็นรูปธรรม โดยไม่จำเป็นต้องเร่งรีบให้มีการเลือกตั้ง

พรรคภูมิใจไทย เสนอการสร้างความปรองดองผ่าน “หลักความยุติธรรมยุคเปลี่ยนผ่าน” ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยทำความเข้าใจ เยียวยาผู้เสียหาย พิสูจน์ความจริง รวมทั้งคดีที่อยู่ในชั้นพนักงานสอบสวนและชั้นอัยการก็อาจจะสั่งไม่ฟ้องหรือสั่งถอนฟ้องในคดีที่อยู่ในศาลแล้ว รวมถึงคดีความที่ศาลตัดสินไปแล้ว ก็อาจจะให้มีการนิรโทษกรรมยกเว้นโทษ เพื่อให้บ้านเมืองเกิดความปรองดองได้อย่างแท้จริง

พรรคชาติพัฒนา ประกาศยินดีให้ความร่วมมือเต็มที่พร้อมกับเรียกร้องให้พรรคการเมืองร่วมเข้ากระบวนการสร้างสันติภาพครั้งนี้ผ่านแนวทาง 7 ข้อ อาทิ เมื่อถึงวันเลือกตั้งทุกพรรคต้องร่วมมือกันลงสมัครรับเลือกตั้ง ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎหมายเลือกตั้งอย่างเคร่งครัด เพื่อนำไปสู่การยอมรับผลการเลือกตั้ง ช่วยนำเสนอนโยบายดีๆ ที่เหมาะสมและยั่งยืนในการพัฒนาประเทศ เป็นต้น

ข้อเสนอของพรรคการเมืองในภาพรวมต้องยอมรับว่าไม่ต่างอะไรกับข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระหลายชุดก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะการให้ยึดหลักนิติรัฐและนิติธรรมภายใต้ความเท่าเทียม ซึ่งแน่นอนว่าข้อเสนอในเชิงวิชาการลักษณะนี้ต้องอยู่ในบทสรุปของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.)

แต่ที่น่าสนใจในท่าทีของพรรคการเมืองที่ออกมาอยู่ที่การแสดงออกในเชิงปฏิบัติของพรรคการเมืองที่มีต่อ คสช.ในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ สังเกตเห็นได้ว่าบุคคลของพรรคการเมืองที่เข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นนั้น ล้วนเป็นกลุ่มบุคคลที่มีอำนาจในการตัดสินใจได้ระดับหนึ่ง อันเป็นการแสดงออกมาให้เห็นว่าฝ่ายการเมืองใส่ใจกับการทำงานของ คสช.อยู่ไม่น้อย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพรรคเพื่อไทย การปรากฏภาพของ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” “ภูมิธรรม เวชยชัย” หรือแกนนำระดับบิ๊กของพรรคหลายคนที่ไปร่วมโต๊ะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่กระทรวงกลาโหมเมื่อวันที่ 8 มี.ค. ไม่ต่างอะไรกับสัญลักษณ์ของการจับมือกับ คสช.เพื่อเริ่มต้นการสร้างความปรองดองเพราะถ้าไม่เป็นเช่นนั้น พรรคเพื่อไทยก็คงส่งบุคคลระดับรองมาเป็นตัวแทนเพื่อร่วมพิธีก็พอ

จากภาพที่ปรากฏออกมาย่อมเป็นการสะท้อนว่าการขับเคลื่อนการสร้างความปรองดองกำลังเป็นไปตามแนวทางที่ คสช.วาดฝันเอาไว้

ทีนี้ก็เหลือขั้นตอนของการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนอื่นๆ เพื่อมากลั่นเป็นข้อเสนอในช่วงท้ายของโรดแมป

ขั้นตอนนี้เป็นการทำงานที่สำคัญที่สุด เพราะต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการประสานประโยชน์ทุกฝ่ายว่าจะทำข้อเสนอออกมาอย่างไรเพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์อย่างสมน้ำสมเนื้อหรือเสียประโยชน์น้อยที่สุด

ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำไม คสช.ถึงต้องไปดึง “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” อดีตประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ มาเป็นที่ปรึกษาด้านการสร้างความปรองดอง เพราะ คสช.เองก็รู้อยู่แก่ใจว่าอาจารย์เอนกเป็นหนึ่งในบุคคลที่กลุ่มการเมืองหลากพรรคและหลากสีเสื้อให้การยอมรับในความเป็นกลาง

ดังนั้น ยกแรกที่เพิ่งผ่านไปหลังจากการเปิดโต๊ะรับฟังความคิดเห็น จากนี้ไปจะเริ่มต้นยกสอง ซึ่งเป็นยกสำคัญของการสร้างความปรองดอง เพราะเป็นช่วงเวลาของการปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม

แน่นอนว่าสุดท้ายปลายทางของการสร้างความปรองดอง คงหนีไม่พ้นการนิรโทษกรรม เพื่อให้เกิดการจับต้องได้ แต่จะสำเร็จและนำความสงบกลับคืนมาได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับกำลังภายในและความชอบธรรมของ คสช.ในระยะยาว