posttoday

ยกเครื่องกลไกรัฐสภา ปฏิรูปตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

01 มีนาคม 2560

การปฏิรูปจะต้องสร้างทัศนคติและจิตสำนึกของฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ให้ยึดหลักคุณธรรมคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นสมาชิกรัฐสภา

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

จากจุดเริ่มต้นของปัญหาการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพ นำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ที่หนักขึ้นและนำพาการเมืองไทยไม่อาจหลุดพ้นจากวังวนความขัดแย้งที่เป็นอยู่ จากรายงานข้อเสนอของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เรื่อง "การควบคุมและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ" มีเนื้อหาที่น่าสนใจในการแก้ปัญหา

ในรายงานดังกล่าว จำแนกการตรวจสอบกลไกการตรวจสอบอำนาจรัฐ 4 แนวทาง ได้แก่ 1.การควบคุมและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐผ่านระบบรัฐสภา 2.ผ่านองค์กรตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ และกระบวนการยุติธรรม 3.โดยประชาชน 4.ตรวจสอบข้าราชการและพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจรัฐ ซึ่งทั้ง 4 ด้านที่ผ่านมายังไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ในส่วนการปฏิรูปการควบคุมและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐผ่านระบบรัฐสภาที่ถือว่ามีความสำคัญ เพราะในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ฝ่ายนิติบัญญัติมีความสัมพันธ์กับรัฐบาลหรือฝ่ายบริหารอย่างใกล้ชิด ไม่ได้แบ่งแยกอำนาจกันอย่างเด็ดขาด แต่มีการกำหนดให้มีการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน

จะเห็นว่ามาตรการควบคุมและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ สามารถทำได้หลายวิธี และมีระดับมาตรการความรุนแรงที่แตกต่างกัน เช่น การตั้งกระทู้ถาม การอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา การเปิดอภิปรายทั่วไปของฝ่ายค้านหรือของรัฐสภา การเสนอญัตติ ฯลฯ

1.ตั้งกระทู้ถาม ที่ผ่านมายังไม่มีประสิทธิภาพและเห็นผลในทางปฏิบัติ ซึ่งจะต้องทำให้เป็นเครื่องมือซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือที่จะนำมาทำลายชื่อเสียงหรือทำลายกันทางการเมือง แต่ต้องเป็นไปเพื่อให้รัฐมนตรีเอาใจใส่การบริหารและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชนได้อย่างแท้จริง

การปฏิรูปจะต้องมีคณะกรรมการกลั่นกรองกระทู้ถาม เพื่อไม่ให้ทุกเรื่องต้องเสนอเป็นกระทู้หมด  รวมทั้งกำหนดระยะเวลาอย่างชัดเจน หากมีการหลีกเลี่ยงการมาตอบกระทู้ให้มีมาตรการลงโทษ พร้อมกำหนดให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามการดำนินการตามกระทู้ และให้รายงานต่อสภา

2.การอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจของ สส. ปัญหาที่ผ่านมาแม้จะมีข้อมูลพยานหลักฐานต่างๆ มาเสนออย่างชัดเจน แต่ก็ไม่สามารถลงมติไว้วางใจเพื่อให้ฝ่ายรัฐบาลพ้นจากตำแหน่งได้ เนื่องจากรัฐบาลมีเสียงข้างมากในสภา และการลงมติไม่วางใจเพื่อให้รัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีพ้นตำแหน่งต้องมีเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ สส.

การปฏิรูปจะต้อง ทำให้การอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจต้องคำนึงถึงกรอบระยะเวลาที่กำหนด  มุ่งหวังนำข้อมูลพยานหลักฐานที่ผูกมัดนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี และต้องส่งต่อไปยัง ป.ป.ช. หรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่สำคัญเรื่องที่จะอภิปรายต้องมีความสำคัญ โดยผู้อภิปรายต้องมีความรู้ความเข้าใจ มีหลักฐานชัดเจนครบถ้วน อภิปรายตรงประเด็น ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ปาหี่ทางการเมือง

3.การเปิดอภิปรายทั่วไป ในสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา โดยไม่มีการลงมติ ที่ผ่านมาเป็นเพียงแค่การแสดงวาทกรรมในสภามากกว่าที่จะนำเสนอข้อมูลและข้อเท็จจริงในเชิงประจักษ์ หรือเป็นการอภิปรายเพื่อทำลายชื่อเสียงหรือหวังผลในทางการเมืองมากกว่าที่จะแก้ไขปัญหาประเทศชาติ อีกด้านยังมีลักษณะการอภิปรายโจมตีทำลายชื่อเสียงฝ่ายรัฐบาลมากกว่า การอภิปรายความเห็นและข้อเสนอแนะ หรือเป็นลักษณะการปรึกษาหารือร่วมกัน หรือเป็นการรับฟังเพื่อแก้ไขปัญหา

การปฏิรูปจะต้อง สร้างทัศนคติและจิตสำนึกของฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายรัฐบาลให้ยึดหลักคุณธรรม คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นสมาชิกรัฐสภา และต้องไม่มองว่าอีกฝ่ายเป็นฝ่ายตรงกันข้าม และการอภิปรายต้องไม่เป็นไปเพื่อการโจมตีหรือทำลายชื่อเสียงซึ่งกันและกัน หรือหวังผลในทางการเมือง  ต้องให้ความสำคัญกับข้อมูล ข้อเท็จจริง และข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหา หรือแนวทางการดำเนินการให้กับฝ่ายรัฐบาล

4.ระบบกรรมาธิการ ปัญหาที่ผ่านมาการทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการในการศึกษาตรวจสอบข้อเท็จจริงมีความซ้ำซ้อน บางประเด็นเป็นเรื่องของปัจเจกชน หรือข้อพิพาทเอกชนกับเอกชน ที่ไม่สำคัญหรือไม่มีผลกระทบต่อประชาชน อีกทั้งในแง่การแต่งตั้งที่ปรึกษา ผู้ชำนาญการ นักวิชาการ และเลขานุการประจำคณะกรรมาธิการ ตลอดจนบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมากเกินความจำเป็น บางคนไม่สามารถรองรับภารกิจของคณะกรรมาธิการได้

การปฏิรูปจะต้องทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการในการพิจารณาสอบสวนหรือศึกษาเรื่องร้องเรียน ที่เสนอต่อคณะกรรมาธิการหลายคณะ ต้องยึดถือและปฏิบัติตามมติที่ประชุมร่วมกันของประธานสภา และประธานคณะกรรมาธิการ การพิจารณาเรื่องร้องเรียนของกรรมาธิการ ควรเป็นเรื่องที่มีความสำคัญระดับจังหวัดหรือระดับประเทศ และส่งผลกระทบกับประชาชนเป็นจำนวนมาก มากกว่าเรื่องของปัจเจกชน

อีกทั้งการแต่งตั้งที่ปรึกษา ผู้ชำนาญการ นักวิชาการ และเลขานุการประจำคณะกรรมาธิการ ควรกำหนดคุณสมบัติ อำนาจหน้าที่ ความรู้ความสามารถให้ชัดเจน  พร้อมกำหนดมาตรการป้องกันและลงโทษกรรมาธิการที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเรียกรับหรือยอมรับผลประโยชน์ เพื่อเป็นการตอบแทนในการทำหน้าที่

การปฏิรูปจะต้อง สร้างทัศนคติและจิตสำนึกของฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายรัฐบาลให้ยึดหลักคุณธรรม คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นสมาชิกรัฐสภา