posttoday

สายธารนิติธรรม พระราชอำนาจรัชกาลที่ 9

24 กุมภาพันธ์ 2560

หมายเหตุ : มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)เขียนบทความเรื่อง “พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

หมายเหตุ : มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้เขียนบทความเรื่อง “พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ซึ่งเผยแพร่ผ่านหนังสือ “สตมวาร สายธารนิติธรรม ตามรอยพ่อ” จัดทำโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีเนื้อหาสังเขปดังนี้

ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระมหากษัตริย์ย่อมถูกตัดรอนอำนาจทั้งปวงที่เกี่ยวกับการปกครองไปอยู่ในมือของกลไกทางการเมืองที่จัดตั้งกันขึ้นมาแทนที่ สิ่งที่ยอมรับนับถือกันทั่วไปว่ายังเหลืออยู่เป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่เรียกว่า “อำนาจหรือสิทธิพิเศษ” เพียง 4 ประการ

1.พระราชอำนาจในการให้คำแนะนำ ประเทศทั้งหลายในโลกที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นการยากที่จะทรงใช้พระราชอำนาจนี้ หรือทรงใช้แล้วมักไม่ค่อยได้ผล เพราะพระมหากษัตริย์ที่จะทรงใช้อำนาจอย่างนี้ได้ จะต้องเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระบารมีอย่างท่วมท้น และพระบารมีนั้นต้องเป็นพระบารมีในทางพระคุณ มิใช่พระบารมีในทางพระเดช

พระบารมีของพระองค์เกิดจากการอุทิศพระองค์เพื่อทรงงานหนัก เพื่อมุ่งประโยชน์ต่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนด้วยความเมตตาและความห่วงใยอย่างแท้จริง จึงเป็นพระบารมีที่เกิดขึ้นเองในใจของคน

ในทางการเมืองพระองค์ก็ยึดอยู่ตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด รัฐบาลทุกรัฐบาลที่มักจะเรียกตัวเองว่า “รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ฝ่ายการเมืองอาจจะใช้เพื่อแสดงว่ามีความจงรักภักดี แต่พระเจ้าอยู่หัวทรงยึดถือคำนั้นเป็นเสมือนความผูกพัน จึงทรงปฏิบัติต่อรัฐบาลอย่างเสมอภาคกันทุกรัฐบาล

2.พระราชอำนาจในการให้ความยินยอม เมื่อครั้งที่ผมนำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ก่อนจะทรงลงพระปรมาภิไธย พระองค์มีพระราชดำรัสถามว่า “เราไม่ลงชื่อได้ไหม” ผมก็กราบบังคมทูลไปว่า “ได้พระพุทธเจ้าค่ะ” พระองค์ตรัสถามต่อไปว่า “แล้วถ้าเราไม่ลงชื่อ จะทำยังไงต่อไป” ผมกราบบังคมทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าก็ต้องนำกลับไปดำเนินการจัดทำกันใหม่” พระองค์ทรงยิ้มๆ แล้วตรัสว่า “ถ้าเช่นนั้นก็ลงชื่อได้”

เมื่อออกจากวังแล้วก็ยังงงๆ อยู่ว่า ทำไมพระองค์จึงทรงถามเช่นนั้น และไม่รู้คำตอบเรื่อยมา จนต้องมาร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2559 เมื่อจะเขียนเรื่องการลงประชามติ จึงนึกขึ้นได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ใช้กันมาหลายฉบับ ล้วนแต่เขียนอย่างย่นย่อและมักจะไม่ได้กล่าวถึงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไว้เลย เมื่อจะต้องดำเนินการใด ก็จะดำเนินการไปตามประเพณีการปกครองที่เคยทำกันมา

แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549 ที่กำหนดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นและให้นำไปผ่านประชามติก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย โดยไม่มีบทบัญญัติใดที่พูดถึงพระราชอำนาจในการ Veto ไว้ รัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ ผ่านมาได้โดยไม่มีปัญหา เพราะไม่มีการนำไปลงประชามติ

การที่พระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งคำถามก็เพื่อที่จะทำให้แน่ชัดว่า แม้จะผ่านประชามติแล้วพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ยังคงมีอยู่ตามบทบัญญัติที่ให้นำประเพณีการปกครองมาใช้บังคับ มาคราวเมื่อจะยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 จึงบัญญัติให้ชัดแจ้งในมาตรา 37 วรรคสุดท้าย ว่าถ้าพระมหากษัตริย์ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย หรือไม่พระราชทานคืนมาภายใน 90 วัน ให้รัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป

3.พระราชอำนาจในการให้ความเมตตา ในการพระราชทานอภัยโทษนั้น มีทั้งที่เป็นการทั่วไปและเป็นการเฉพาะตัว การพระราชทานอภัยโทษที่เป็นการทั่วไป เป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะดำเนินการในวาระอันเป็นมงคลหรือที่มีเหตุสำคัญ ส่วนการพระราชทานอภัยโทษเป็นการเฉพาะตัว ซึ่งเป็นพระราชอำนาจโดยตรงของพระมหากษัตริย์

พระเจ้าอยู่หัวมิได้จำกัดอยู่เฉพาะในเรื่องทางคดีอาญาเท่านั้น แม้แต่โทษทางวินัยพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงแผ่เมตตาให้ครอบคลุมถึง ที่สำคัญแม้แต่ผู้ที่ได้ต้องรับโทษเพราะกระทำความผิดอันเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ยังทรงพระราชทานอภัยโทษให้

4.พระราชอำนาจในการยกย่องให้เกียรติยศ พระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญต่อพิธีประสาทปริญญาอย่างมาก พระองค์ทรงรับพระราชภาระนี้มาเป็นเวลาสิบๆ ปี เคยมีผู้ขอกราบบังคมทูลว่าจำนวนแต่ละปีของแต่ละมหาวิทยาลัยนั้นมากขึ้นนัก ขอให้เปลี่ยนแปลงเป็นพระราชทานแก่คณบดีแต่ละคณะ แล้วให้คณบดีหรืออธิการบดีไปมอบกันต่อ พระองค์ทรงตอบว่า เขาลำบากเรียนกันมาหลายปีกว่าจะจบ แล้วพระองค์ก็เสด็จฯ ไปพระราชทานปริญญาบัตรด้วยพระองค์เองเรื่อยมา จนมีพระชนมพรรษามากขึ้น เจ้านายพระองค์อื่นจึงเสด็จฯ ไปพระราชทานปริญญาแทนพระองค์ บัณฑิตของไทยจึงได้รับเกียรติและการยกย่องดีกว่าใครในโลกนี้