posttoday

ปลายอำนาจคสช. ม็อบต้านทยอยผุด

22 กุมภาพันธ์ 2560

สถานการณ์บ้านเมืองในเวลานี้ถือว่ามีเรื่องท้าทายอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่พอสมควร ดังจะเห็นได้จากเริ่มปรากฏกระแสต่อต้านเป็นระลอก

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

สถานการณ์บ้านเมืองในเวลานี้ถือว่ามีเรื่องท้าทายอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่พอสมควร ดังจะเห็นได้จากเริ่มปรากฏกระแสต่อต้านเป็นระลอก

เริ่มกันที่ม็อบพระวัดพระธรรมกาย แม้จะไม่ใช่ม็อบการเมืองโดยตรง แต่การเดินหน้าไล่ตำรวจที่ได้รับอำนาจจากมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ออกจากพื้นที่วัดถือว่าเป็นการตอบโต้
ที่ลูบคม คสช.อยู่ไม่น้อย

ต้องไม่ลืมว่าภาพที่ออกมาสู่สาธารณะก่อนหน้านี้ คือภาพที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าไปตรวจค้นภายในวัดเพื่อหาตัวเจ้าอาวาส แต่เมื่อไม่พบตัวตามที่ต้องการ ประกอบกับตำรวจและดีเอสไอเดินเกมรุกค่อนข้างหนักภายใต้มาตรา 44 ด้วยการให้ทุกคนออกจากวัด ส่งผลให้กลุ่มผู้สนับสนุนวัดพระธรรมกายรวมตัวเพื่อตอบโต้เจ้าหน้าที่ ส่งผลให้ฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐต้องถอยเพื่อไม่ให้เกิดการปะทะ

การสวนกลับของพระและลูกศิษย์วัดพระธรรมกาย ไม่ต่างอะไรกับการตบหน้า คสช.เข้าอย่างจัง เพราะเป็นการกระทำที่ทำให้สังคมเห็นว่ามาตรา 44 นั้นไม่มีความหมายอย่างสิ้นเชิง

นอกเหนือไปจากกรณีของวัดพระธรรมกายยังมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน

“รังสิมันต์ โรม” แกนนำกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ แถลงท่าทีเมื่อวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อต้องการให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งภายในเดือน ส.ค.นี้ มิเช่นนั้นจะจัดการชุมนุมกดดันรัฐบาลและ คสช.

“เมื่อรัฐบาล คสช.ได้ออกมารับปากว่าจะให้มีการเลือกตั้ง แม้แต่หลังการลงประชามติก็มีการเอ่ยย้ำหลายครั้งเช่นกันว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นในปีนี้ ผมมีความเชื่อประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ไปลงประชามติโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญ เขามีความรู้สึกอยากให้มีการเลือกตั้งในปีนี้ จึงไม่สามารถเชื่อถือมั่นใจต่อรัฐบาลได้อีก” คำประกาศของรังสิมันต์

กลุ่มประชาธิปไตยใหม่นับเป็นกลุ่มการเมืองอีกกลุ่มที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับ คสช.มาตลอดตั้งแต่ คสช.ลงมือทำการรัฐประหาร ซึ่ง คสช.ก็ได้ใช้อำนาจรัฐกดดันกลุ่มประชาธิปไตยใหม่อยู่หลายครั้ง จนทำให้กลุ่มการเมืองดังกล่าวไม่สามารถเคลื่อนไหวได้สะดวกเท่าไหร่นัก

หรือแม้แต่การชุมนุมต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ถึงแม้เวลานี้การชุมนุมจะยุติไปแล้ว เพื่อรอการทำผลการศึกษาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพใหม่ แต่ไม่ได้หมายความว่าปัญหานี้จะยุติ เพราะหากรัฐบาลจะเดินหน้าก่อสร้างอีกเมื่อไหร่ กลุ่มผู้ชุมนุมก็พร้อมจะกลับมาปักหลักที่หน้าทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง โดยไม่แยแสพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ

สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสถานการณ์ที่ส่งสัญญาณมาถึงรัฐบาลอย่างมีนัยสำคัญ เพราะทุกอย่างมาบรรจบพร้อมกันในช่วงปลายอำนาจของ คสช.

สาเหตุที่ต้องบอกว่าเป็นช่วงปลายอำนาจของ คสช.นั้นสืบเนื่องมาจากการที่รัฐบาลนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติที่มีการแก้ไขเสร็จสิ้นแล้วขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อให้มีผลบังคับใช้ตามที่ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ ได้ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนก่อนหน้านี้

“ขณะนี้ได้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติที่มีการปรับปรุงแก้ไขขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา ตอนนี้อยู่ในพระราชอำนาจ ซึ่งขึ้นอยู่ที่ว่าทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานลงมาเมื่อใด ภายใน 90 วัน ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวบัญญัติไว้” วิษณุ ระบุ

เท่ากับว่าเหลือเพียงการรอให้มีการประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งทันทีที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ เท่ากับว่าเป็นการเริ่มนับหนึ่งเดินหน้าสู่การเลือกตั้งและนับถอยหลังการสิ้นสุดอำนาจของ คสช.ไปพร้อมกัน

อย่างที่ทราบกันดีว่าเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้แล้ว คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะต้องดำเนินการตราร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งจำนวน 4 ฉบับให้เสร็จภายใน 240 วัน และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีเวลาพิจารณา 60 วัน และหากกฎหมายเลือกตั้งมีผลบังคับใช้แล้ว การเลือกตั้งจะต้องมีขึ้นภายใน 150 วัน

ทุกกระบวนการและขั้นตอนต่างมีเวลาที่ล็อกไว้ในร่างรัฐธรรมนูญชัดเจน ซึ่งแม่น้ำ 5 สายไม่สามารถบิดพลิ้วได้ เมื่อคำนวณดูเวลาแล้ว คสช.จะมีเวลาอยู่ในอำนาจเหลือเพียง 1 ปี หรือมากกว่านั้นนิดหน่อยแต่ไม่ถึงสองปีเท่านั้น

เมื่อกำหนดเวลามีความชัดเจนเช่นนี้ ย่อมเป็นปัจจัยที่เอื้อให้ออกมาต่อต้าน คสช.ได้อย่างเข้มข้น ไม่เหมือนกับก่อนหน้านี้ที่เคลื่อนไหวกดดันได้ไม่เต็มที่ เพราะต่างไม่มีใครรู้ว่า คสช.จะอยู่ในอำนาจไปอีกนานเท่าไหร่

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสนับสนุนการต่อต้าน คสช.ไม่ได้มีเพียงเงื่อนไขเกี่ยวกับช่วงปลายอำนาจของ คสช.อย่างเดียว

แต่อีกด้านหนึ่งต้องยอมรับการแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจของ คสช.และรัฐบาลยังไม่ค่อยเข้าตามากนัก ดังจะเห็นได้จากผลการสำรวจความคิดเห็นหรือโพลของหลายสำนักที่ระบุตรงกันว่าประชาชนต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

ด้วยปัจจัยหลายประการดังที่ได้กล่าวไป จึงอย่าได้แปลกใจว่าทำไม คสช.กำลังเผชิญกับกระแสต้านรอบด้าน

จากนี้ไปต้องรอดูว่ารัฐบาลและ คสช.จะรับมือกับพายุลูกใหม่ที่กำลังเข้ามาอย่างไร เพราะศึกนี้มีเดิมพันสูงกว่าในแบบที่คาดไม่ถึง